แพทย์เตือน "ตำปูไต่" ปูนาสดเดินทั่วจานส้มตำอันตรายมาก เสี่ยงพยาธิใบไม้ในปอดที่อาจถึงขั้นเสียชีวิต รวมถึงแบคทีเรียหรือปลิง แนะต้มให้สุกก่อน
จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอร้านส้มตำที่ขายตำปู ที่ใช้ปูนาตัวเป็น ๆ ใส่ลงในส้มตำ ที่ได้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ไปเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 โดยนักท่องเที่ยวได้ที่ซื้อส้มตำจากร้านค้าแห่งหนึ่งในตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ หลังจากที่นำมาเปิดดูพบว่าแม่ค้าใช้ปูนาตัวเป็นๆใส่ลงในส้มตำ แต่โชคดีที่ไม่ได้รับประทาน หมอเตือนหากรับประทานปูนาดิบอาจมีความเสี่ยงพบของแถมเป็นปลิง พยาธิ หรือเชื้อแบคทีเรีย
แพทย์เตือน "ตำปูไต่" ปูนาสดเดินทั่วจานส้มตำอันตรายมาก เสี่ยงพยาธิใบไม้ในปอดที่อาจถึงขั้นเสียชีวิต รวมถึงแบคทีเรียหรือปลิง แนะต้มให้สุกก่อน
ล่าสุดวันนี้(10 ต.ค.) นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น แสดงความห่วงใยต่อประชาชน รวมทั้งร้านค้าที่ใช้ปูนาตัวเป็น ๆ ในการประกอบอาหารประเภทส้มตำ รวมทั้งปูนาดองแบบดิบ ๆ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งสาเหตุมาจากพยาธิที่ติดมากับปู และเสี่ยงต่อสารเคมีที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากประชาชนจะรับประทานควรสอบถามร้านค้าว่าปูนาที่นำมาประกอบอาหารเป็นปูนึ่งที่ทำให้สุกแล้วหรือไม่ หากยังไม่สุกก็ไม่ควรรับประทาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ตะลึง! “ส้มตำไทยปู” คอนเฟิร์มสดถึงใจ ตัวดิ้นได้วิ่งทั่วจาน
นายแพทย์ธีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ปูนาตามธรรมชาตินั้น จะหากินอาหารที่อยู่ในดินและในน้ำ จึงมีความเสี่ยงอยู่ 2 ประการ คือ เสี่ยงต่อสิ่งปนเปื้อนโดยหลักๆ คือแบคทีเรีย ที่มีทั้งชนิดรุนแรงและไม่รุนแรง และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย แต่แบคทีเรียที่ติดมาสามารถกำจัดได้ด้วยความร้อน ความเสี่ยงประการที่สองคือ อาจมีความเป็นไปได้ว่าจะมีสัตว์อย่างอื่นติดมากับปูนาด้วย อาทิ “ปลิง” ซึ่งตามปกติไม่สามารถอยู่ในตัวคนได้ เมื่อรับประทานเข้าไปจะถูกน้ำย่อยทำลายได้ แต่เชื้อโรคที่มากับปลิงอาจจะเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน แต่ที่เป็นปัญหามากจากการรับประทานปูนาที่ปรุงไม่สุก คือ พยาธิ ซึ่งมีหลายชนิดอาทิพยาธิตัวจี๊ด เวลากินปูนาดิบ ๆ เข้าไปก็มีโอกาสกินไข่ หรือตัวอ่อน ของพยาธิตัวนี้เข้าไปด้วย ซึ่งน้ำย่อยในกระเพาะไม่สามารถฆ่าให้ตายได้
จึงขอเตือนประชาชนโดยเฉพาะภาคอีสาน ที่ยังมีบางส่วนนิยมรับประทานปูนาดิบ ๆ และยังพบมีการทำน้ำปูดอง คล้าย ๆ กับน้ำปลาร้าเพื่อประกอบอาหาร โดยเฉพาะส้มตำ เป็นส่วนประกอบ ซึ่งวิธีการดองนั้นไม่มั่นใจว่าจะสามารถกำจัดพยาธิได้หรือไม่ ยกตัวอย่างพยาธิใบไม้ในตับที่อยู่ในปลาน้ำจืดชนิดเกล็ดขาวนั้นเวลาทำปลาร้าจะต้องดองเกลืออย่างเข้มข้น และใช้เวลานานพอสมควร ฉะนั้น ปูดองที่ใส่ในส้มตำในท้องตลาดไม่สามารถทราบได้ว่าดองนานแค่ไหน เพราะฉะนั้นการจะกำจัดพยาธิได้ จึงควรต้มให้สุกเท่านั้น และขอความร่วมมือ พ่อค้า แม่ค้าหากจะใช้ปูนาในการประกอบอาหารประเภทส้มตำ หรืออาหารเมนูอื่นๆ ต้องต้มให้สุกเท่านั้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การบริโภคอาหารลักษณะนี้ถือว่าไม่ถูกสุขลักษณะ เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคที่เป็นอันตราย โดยจากข่าวที่นำเสนอเป็นส้มตำปูนา เสี่ยงพยาธิใบไม้ในปอด เพราะเมื่อกินปูดิบ ๆ จะมีโอกาสกินไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิตัวนี้เข้าไปด้วย ซึ่งนํ้าย่อยในกระเพาะไม่สามารถฆ่าให้ตายได้ แม้พยาธิตัวนี้จะไม่สามารถแพร่พันธุ์ในตัวคนเราได้ แต่จะชอนไชเข้าไปในปอดฟักตัวอยู่ประมาณ 1 เดือน จนทำให้มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด และทำให้เสียชีวิตได้ เพื่อความปลอดภัยหากเป็นเมนูส้มตำปูควรนำปูมากลวกสุกด้วยความร้อนก่อนนำมาปรุงอาหาร
Advertisement