เมื่อวันที่ 12 ต.ค.63 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี เดินทางมายังวัดบางบ่อ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งสวดอภิธรรมศพ นายบุญส่ง สวนยิ้ม คนขับรถทัวร์คันเกิดเหตุ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลูกโชเฟอร์รถบัสกฐินมรณะ ขออย่าแช่งพ่อ – เหยื่อเผยเพลงดังกลบเสียงเตือน พี่สาวดีเจรับถูกถล่ม
เมื่อทีมข่าวมาถึง ทางครอบครัวขอความร่วมมือทีมข่าวในการงดสัมภาษณ์ และบันทึกภาพในงาน ซึ่งนายหัถพล ศิริมา ลูกชายคนขับ ออกมาให้ข้อมูลอย่างดีว่า ตนขอความร่วมมือ เนื่องจากไม่อยากให้มีกระแสอีกหลังให้สัมภาษณ์ เพราะกระทบกับจิตใจตนและครอบครัว
ส่วนเรื่องข้อมูลรถบัส ทางลูกชาย ระบุว่า ตนทราบเพียงว่ารถคันนี้เป็นของเจ้าของอีกคนหนึ่ง แต่รถถูกนำมาจอดไว้กับบิดา และบิดาเป็นคนดูแลตลอดที่มีรถคันนี้ และมีการรับส่วนแบ่ง พร้อมเงินเดือน ครอบครัวไม่รู้ว่าพ่อซื้อรถคันนี้แล้ว
ทีมข่าวโทรศัพท์สอบถาม คุณปุ๋ม ซึ่งเป็นเจ้าของรถบัส ให้ข้อมูลว่า รถคันเกิดเหตุยอมรับว่าเคยเป็นของตน ซึ่งตนซื้อมาเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว โดยซื้อมามูลค่า 1.3 ล้านบาท ดาวน์ 400,000 บาท ผ่านงวดละ 20,000 บาท โดยมีผู้ตายเป็นคนขับและดูแลรถ
จากนั้นเมื่อช่วงต้นปี 63 นายบุญส่งมาขอซื้อรถกับตน โดยตนขายดาวน์เพียง 50,000 บาท และให้ผ่อนต่ออีก 28 งวด งวดละ 20,000 บาทเช่นกัน โดยเอกสารมีการเซ็นกันแล้ว แต่นายบุญส่งยังไม่อยากบอกเรื่องนี้กับใคร เนื่องจากอยากเก็บไว้เป็นสมบัติของลูก
แต่ช่วงนี้มีปัญหาโควิด-19 นายบุญส่งยังไม่สามารถส่งงวดรถได้ ทำให้ตนยังรับภาระเรื่องนี้ และจ่ายเงินเดือนให้กับนายลุญส่งตลอดมา นายบุญส่งจะได้เงินเดือน 15,000 บาท และส่วนแบ่งจากการขับรถแต่ละงาน งานละ 10% จากค่าเช่า อย่างงานกฐินที่เกิดเหตุ เจ้าภาพมีการติดต่องานต่อ ๆ กันมา จนมาถึงรถตน ซึ่งงานนี่ได้รับค่าจ้าง 11,000 บาท คนชับได้ส่วนแบ่ง 1,100 บาท ค่าดีเจ 1,000 บาท โดยลูกค้าเป็นคนร้องขอให้จัดหาดีเจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
รถคันนี้ตอนตนซื้อมาสภาพก็เป็นแบบนี้แล้ว ไม่ได้มีการดัดแปลง หรือเปลี่ยนฟิล์มกรองแสง อาจจะมีซ่อมบำรุงสีบ้าง แต่ก็ทำให้เหมือนรถคันเดิม ค่าเปลี่ยนฟิล์มเท่าที่ตนทราบ หากเปลี่ยนราคาจะหลังหมื่นบาทขึ้นไป ส่วนตัวรู้สึกเสียใจกับการสูญเสียครั้งนี้ ตนไปดูที่เกิดเหตุแล้วก็คิดว่ารถต้องเกิดอุบัติเหตุแน่ เพราะเนินทางขึ้นมองไม่เห็นว่ารถไฟจะมา เนื่องจากแถวนั้นจะมีต้นไม้ขึ้นอยู่พอสมควร
อีกอย่างตนต้องเสียรถไปทั้งคัน โดยที่ไม่รู้ว่าจะมีใครรับผิดชอบ เนื่องจากรถตนมีประกันชั้น 3 (รับผิดชอบแค่คู่กรณี) ส่วนตัวอยากให้การรถไฟรับผิดชอบ ไม่ใช่แต่ความเสียหาย แต่ต้องทำไม้กั้น มีสัญญาณไฟ เพราะจุดนั้นเป็นทางรถไฟตัดผ่านชุมชน ซึ่งไม่ต้องมองว่ามันจะเป็นทางหลวง หรือทางอะไร
ทีมข่าวเดินทางไปยังวัดบางโปรง ต.บางโปรง อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพของนายปัญจพล ตรุสมูล อายุ 28 ปี ดีเจในรถบัสที่เสียชีวิต โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยความโศกเศร้า
นางสุดท้าย ตรุสมูล อายุ 54 ปี แม่ของผู้เสียชีวิต เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุหลานชายได้มาบอกให้ตนทราบว่า รถไฟชนรถบัส โดยในรถดังกล่าวมีลูกชายของตนอยู่ในนั้นด้วย ในใจของตนคิดว่าลูกชายคงไม่รอดแน่ เพราะเนื่องจากลูกชายเปิดเพลงอยู่บริเวณบนศีรษะของคนขับรถบัส ถึงแม้ว่าสามีของตนจะปลอบใจว่า ลูกชายต้องรอด แต่ตนไม่เชื่อ เนื่องจากมีคนเสียชีวิตถึง 18 ศพ พร้อมกับคนขับเสียชีวิตคาที่ แต่ในหัวของตนนั้นคิดได้เพียงว่า ลูกชายคงไม่ได้นอนโรงพยาบาล จะต้องนอนโรงศพแน่ ๆ
โดยก่อนเกิดเหตุนั้น เจ้าของรถบัสอีกคันที่เป็นเจ้านายเก่า ได้ชวนให้ไปทำงานด้วย ลูกชายของตนจึงตอบตกลงรับงาน เพราะจะนำเงินค่าจ้างจำนวน 1,200 บาท ไปซื้อเค้กให้กับย่าทวดที่อายุร้อยกว่าแล้ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้บอกย่าทวดว่าลูกชายเสียชีวิตแล้ว เนื่องจากกลัวว่าย่าทวดจะรับไม่ได้ ขณะที่เกิดเหตุการณ์ตนก็ไม่ได้มีลางสังหรณ์อะไร
นางสุดท้าย ยังเล่าทั้งน้ำตาว่า ลูกชายของตนถือว่าเป็นเสาหลักของครอบครัว ยอมรับว่าเสียใจมาก ต่อไปนี้คงต้องลำบากมาก ยังไม่ได้วางแผนชีวิต ลูกชายตนนั้นเป็นคนชอบดนตรี ส่วนกรณีที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มได้อ้างว่าลูกชายของตนเปิดเพลงเสียงดัง ในมุมมองของตนแล้วลูกชายไปงานทอดกฐิน จะให้เปิดเพลงเศร้าได้อย่างไร ซึ่งต้องเปิดเพลงร่าเริง ยอมรับว่าขณะนี้สภาพจิตใจย่ำแย่เหมือนหัวใจสลายไปแล้ว
ต่อมาในเวลา 16.00 น. ญาติของนางรำไพร ผาไธสง อายุ 32 ปี และน.ส.สุภัสสร แดงอุ้ย อายุ 29 ปี นำศพเดินทางมาถึงวัดด่านสำโรง และนำขึ้นศาลา 4 เป็นที่เรียบร้อย โดยในคืนนี้จะสวดพระอภิธรรมศพเป็นคืนแรกและจะตั้งสวดพระอภิธรรมเป็นเวลา 3 วัน
นายศุภากร คุ้มภัย อายุ 40 ปี เป็นแฟนของน.ส.สุภัสสร กล่าวว่า เมื่อวานตนไม่ได้เดินทางไปด้วย พอดีติดงานเลยไม่ได้ไป ซึ่งแฟนก็เอ่ยปากชวนตนให้ไปด้วยตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว โดยบอกว่าจะไปทอดกฐิน ซึ่งเขาก็มาขออนุญาตตนก็เลยให้ไป เพราะเห็นว่าไปทำบุญ แต่ตนไม่ได้ไปด้วย และไม่คิดว่าจะไปเกิดเหตุเช่นนี้ ยอมรับว่าตกใจมากหลังจากทราบข่าว
จากนั้นทีมข่าวได้พูดคุยกับทองสุข สุธรรมวงค์ อายุ 41 ปี น้องสาวนางมณฑา คำปัญญา อายุ 62 ปี ผู้บาดเจ็บ เล่าว่า พี่สาวตนเป็นเจ้าภาพจัดกองผ้าป่า มาร่วมงานกฐิน เนื่องจากพื้นเพเป็นคนพื้นที่ใกล้จุดเกิดเหตุ โดยได้จัดนำเพื่อน ๆ ในโรงงานมาทำบุญเป็นเวลา 4-5 ปีแล้ว ปกติจะช่วยกันออกค่ารถเดินทางมาถึงวัดบางปลานัก
โดยปี 63 ทราบว่ารวบรวมเงินมาได้ประมาณ 7,000 - 8,000 บาท ก่อนเกิดเหตุพี่สาวยังโทรศัพท์คุยกับญาติอีกคน บอกว่าใกล้ถึงทางรถไฟแล้ว ก่อนที่สายจะตัดไปและไม่สามารถติดต่อพี่สาวได้อีกเลย คาดว่าน่าจะเป็นช่วงที่เกิดเหตุพอดี ซึ่งพี่สาวบอกว่า เตือนคนขับรถแล้วว่ารถไฟมา แต่ไม่ทันเกิดเหตุขึ้นก่อน โดยอาการของพี่สาวตนขณะนี้ ซี่โครงหักทิ่มปอด ต้องระบายเลือดออก และข้อมือหัก ขณะนี้อาการปลอดภัยแล้ว แต่ต้องเฝ้าระวัง
พี่สาวตนก็เสียใจและโทษตัวเองที่ทำให้เกิดเหตุ ตนได้แต่ปลอบใจว่าเป็นอุบัติเหตุ ทุกคนอยากมาร่วมงานบุญไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งตนก็เสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียทุกคนเช่นกัน
ทั้งนี้เงินทำบุญเมื่อวานนี้เก็บมาได้จากที่เกิดเหตุประมาณ 1,000 บาท และวันนี้ได้มาเพิ่มจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เก็บได้ในจุดเกิดเหตุอีกส่วนหนึ่งรวมแล้ว 30,381 บาท หลังจากนี้ตั้งใจว่าจะนำไปทำบุญที่วัดบางปลานักทั้งหมด ตามความตั้งใจของผู้ที่มาร่วมบุญในครั้งนี้
จากนั้นทีมข่าวทดสอบขับรถข้ามทางรถไฟจุดเกิดเหตุ โดยระยะแรกใช้ความเร็ว 40 กม./ชม. เมื่อมาถึงจุดขึ้นเนินต้องชะลอความเร็วเนื่องจากต้องไต่ระดับขึ้นไป ความเร็วจึงลดลงเหลือประมาณ 13-14 กม./ชม. ช่วงไต่เนิน และต้องแตะเบรกเนื่องจากไม่ใช่ทางเรียบ จากนั้นจึงขับต่อไปข้ามรางรถไฟใช้ความเร็วประมาณ 13-14 กม./ชม.
จากการสังเกต เมื่อทีมข่าวขับรถไปจอดในจุดจอดก่อนขึ้นเนิน หากพื้นที่เกิดเหตุยังไม่มีการปรับปรุงภูมิทัศน์คิดว่าไม่สามารถมองเห็นรถไฟ แต่เมื่อขึ้นมาบนเนินยังไม่ข้ามทางรถไฟ สามารถมองเห็นรถไฟได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ทีมข่าวลองสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งสัญจรผ่านบริเวณจุดเกิดเหตุประจำ นายสุรพล ภักศรี อายุ 37 ปี กล่าวว่า ทุกครั้งที่ตนข้ามทางรถไฟจะชะลอจอดบนเนิน ก่อนมองซ้ายขวา ซึ่งก็สามารถมองเห็นได้ในรัศมี 200-300 เมตร แต่หากจอดก่อนทางขึ้นคิดว่าไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะต้นไม้บัง โดยคิดว่าด้วยสัญชาตญาณรถที่ขับน่าจะต้องเบรกก่อนขึ้นเนินเพราะเป็นทางชัน แต่ไม่ทราบว่ารถบัสที่เกิดเหตุขับอย่างไร
ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ ก็เรียกร้องขอให้ติดตั้งไม้กั้น แต่ไม่เป็นผล ส่วนตัวคิดว่าควรมีไม้กั้นและสัญญาณไฟ เพราะจุดเกิดเหตุเป็นทางลัดที่คนนอกพื้นที่เข้ามาใช้สัญจรค่อนข้างเยอะ ซึ่งก็อันตรายหากไม่ชำนาญเส้นทาง
สำหรับการจ่ายชดเชยอุบัติเหตุ ส่วนที่ 1 ประกันสังคม ค่าปลงศพ จำนวน 8 หมื่นบาท และค่ารักษาตามสิทธิประกันสังคม
สำหรับการจ่ายชดเชยอุบัติเหตุ ส่วนที่ 2 ประกันภัยจากรถยนต์โดยสาร ประเภทสมัครใจคุ้มครองประเภท 3 เสียชีวิตสูงสุด 5 แสนบาท/ราย (ไม่เกิน 10 ล้านบาท/ครั้ง)
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผอ.สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) เปิดเผยถึงความปลอดภัยของกรณีรถไฟชนเข้ากับรถบัส ว่า สำหรับการนั่งรถบัสนั้นมีองค์ประกอบหลายอย่าง 1.ตำแหน่งที่นั่ง สำหรับตำแหน่งที่นั่งที่ปลอดภัยมาที่สุด คือ บริเวณ 2 แถวตรงกลาง ส่วนตำแหน่งที่นั่งที่อันตราย 2 แถวหน้านับจากคนขับ และจุดที่ 2 ที่อันตราย คือ บริเวณติดกับประตูและหน้าต่าง นอกจากนี้ผู้ที่นั่งควรจะคาดเข็มขัดนิรภัย เพื่อเซฟอีกชั้นหนึ่ง
2.โครงสร้างของรถความแข็งแรงของตัวถัง เพราะรถบัสเป็นรถนำเที่ยว รถบัสรับส่งพนักงานที่รับจ้างทั่วไป มักจะเป็นรถเก่าที่นำมาทำสีใหม่ มีการซ่อมแซม และการเชื่อมโครงสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ประกอบกับหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบก็ไม่ได้สนใจในตรงนี้ เพราะส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับรถสาธารณะประจำทางมากกว่า จึงไม่มีใครเข้ามาตรวจสอบอย่างจริงจัง
3.วัสดุ อุปกรณ์ที่นำมาตกแต่งภายในรถก็มีผล เพราะวัสดุส่วนใหญ่ ไม่ได้มีคุณสมบัติในการเซฟ แถมยังหักแตกง่าย
4. สิ่งแวดล้อมภายในรถก็เป็นส่วนสำคัญ ทั้งเครื่อง แสง สี เสียง ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาตั้งแต่เริ่ม แต่เป็นการมาเดินสายไฟติดตั้งเพิ่ม และนอกจากนี้การฟังเพลง เครื่องเสียงดัง ๆ ย่อมมีผลต่อผู้ขับรถ เป็นการรบกวนสมาธิในการขับรถอีกด้วย