นายกฯ ปลื้มแก้ยากจนได้ผล คนจนลดเหลือ 4.3 ล้านคน

31 ต.ค. 63

นายกฯ ปลื้มภาพรวมผลลัพธ์การแก้ไขปัญหาความยากจน พบคนจนปี 62 ลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน จาก 6.7 ล้านคน 

วันนี้(31 ต.ค. 63) นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พอใจภาพรวมผลลัพธ์การแก้ไขปัญหาความยากจน ภายหลังสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์ความยากจนในปี 2562 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยสัดส่วนคนจนลดลงจากร้อยละ 9.85 ในปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ในปี 2562 หรือมีคนจนจำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคน ในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการขยายมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ เป็นต้น ส่งผลให้ภาพรวมคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 9,847 บาทต่อคนต่อเดือน จากปี 2560 ที่มีรายได้ 9,614 บาทต่อคนต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.42

ขณะที่ครัวเรือนยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 2,823 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2560 เป็น 3,016 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.81 ซึ่งการที่คนจนมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี ตกกับคนยากจนมากขึ้น

“ตัวเลขที่เกิดขึ้นสะท้อนความสำเร็จในการลดปัญหาความยากจน แม้สัดส่วนคนจนในภาพรวมจะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการจ้างงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ย้ำจะต้องแก้ไขปัญหาความยากจนต่อไป เพราะสาเหตุของความยากจนมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา ปัญหาภาคเกษตรกรรม การอาศัยอยู่ในครัวเรือนใหญ่ที่ทำให้มีรายได้น้อย และแรงงานนอกระบบ ที่อาจไม่ได้รับการดูแลภายใต้กฎหมายทำให้โอกาสการเข้าถึงสวัสดิการมีอย่างจำกัด” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

img_36386_2020103112171800000
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า จากการรายงานของสภาพัฒน์ฯ พบว่า สัดส่วนความยากจนลดลงเกือบทุกจังหวัด และภาพรวมสัดส่วนคนจนมีแนวโน้มลดลงในทุกภูมิภาค โดยในปี 2562 จังหวัดที่มีปัญหาความยากจนน้อยที่สุด ได้แก่ นนทบุรี (ร้อยละ 0.24) รองลงมาคือ ปทุมธานี (ร้อยละ 0.24) ภูเก็ต (ร้อยละ 0.40) สมุทรปราการ (ร้อยละ 0.56) และ กทม. (ร้อยละ 0.59)

“นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าจะต้องแก้ไขปัญหาความยากจนต่อไป เพราะสาเหตุของความยากจนนั้นมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ปัญหาภาคเกษตรกรรม การอาศัยอยู่ในครัวเรือนใหญ่ที่ทำให้มีรายได้น้อย และแรงงานนอกระบบ ซึ่งอาจไม่ได้รับการดูแลภายใต้กฎหมายการคุ้มครองแรงงาน ทำให้โอกาสการเข้าถึงสวัสดิการมีอย่างจำกัด โดยมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีส่วนช่วยให้คนยากจนมีรายได้ที่สูงขึ้น แต่คนจนยังคงเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐได้น้อย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจนไม่สามารถยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 
ศบศ.เคาะอนุมัติ 5.1 หมื่นล้าน! ให้ผู้ถือบัตรคนจน และโครงการ 'คนละครึ่ง' 
- ครม.ไฟเขียวแจก 3,000 ให้ผู้ถือบัตรคนจนหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ยังรับทราบข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 6 ข้อของสภาพัฒน์ฯ ประกอบด้วย 

1. การมีระบบข้อมูลเพื่อค้นหากลุ่มเป้าหมายที่ยากจน มุ่งเน้นการพัฒนาข้อมูลที่ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ โดยเฉพาะประชากรที่ยากจน กลุ่มเปราะบางต่างๆ และต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ และทันต่อสถานการณ์เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างตรงจุด
2. การจัดสวัสดิการและมาตรการช่วยเหลือให้กับคนจนอย่างเหมาะสมและแตกต่างตามลักษณะของคนจน
3. การกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น
4. การบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา สาธารณสุขให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น
5. ขยายฐานภาษีและปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นกลไกในการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. การติดตามและประเมินผลกระทบของนโยบาย โดยมีการประเมินผลมาตรการแก้ไขปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำที่สำคัญอย่างเป็นระบบ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ