"จุรินทร์" แจงเหตุที่ไทยถูกตัด GSP จากสหรัฐฯ 147 รายการ เพราะไม่ยอมให้สหรัฐฯ นำสินค้าเนื้อหมูเข้ามาในประเทศ คาดไม่น่าจะมีผลกระทบ เผย 3 พ.ย. นำประกันรายได้ยาง-ข้าว เข้าที่ประชุม ครม.
จากกรณีสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ประกาศว่าเตรียมตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของไทย มูลค่า 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 25,433 ล้านบาท โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธ.ค. 63 นี้ ซึ่งจะกระทบกับสินค้าของไทยหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นชื้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ เครื่องครัวที่ทำมาจากอลูมิเนียม อาหารอบแห้งบางชนิด ฯลฯ นั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "ทรัมป์" ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย มูลค่า 2.5 หมื่นล้าน เริ่ม 30 ธ.ค.นี้
- พท. ชี้ นายกฯ เข้าใจผิดประเทศโตเร็ว เรียกร้อง รบ.เจรจาสหรัฐฯ ขอคืนสิทธิ GSP
- "บิ๊กตู่" อ้อนทบทวนตัด GSP ไทย - สหรัฐฯ รับปากพร้อมเจรจา
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 63 ที่โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ แอน สปา จ.ภูเก็ต นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เรื่อง GSP ที่สหรัฐฯ ตัดของเราไปนั้น ขอเพิ่มเติมว่า ความจริงแล้วเป็นเรื่องของตัดสินค้าที่เราใช้สิทธิ GSP ของสหรัฐฯ เวลาที่เราส่งออกสินค้าแล้วสหรัฐนำเข้าภาษีเป็นศูนย์ ซึ่งก็ตัดสิทธิพิเศษที่ภาษีเป็นศูนย์ไป 147 รายการ เมื่อถูกตัดเวลาที่จะส่งออกสินค้า 147 รายการ ต้องเสียภาษีนำเข้า อย่างไรก็ตาม เราสามารถส่งออกสินค้าได้ตามเดิม แต่ต้องเสียภาษีนำเข้า รวมมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นเงินไทย 600 ล้านบาท แต่ไม่ได้เสียถึง 2-3 หมื่นล้านบาท อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สาเหตุที่ไทยถูกตัด GSP เนื่องจากไทยไม่ยอมให้สหรัฐฯ นำเข้าเนื้อหมูมายังประเทศไทย เพราะรัฐบาลไทยเรามีความจำเป็น พิจารณาถึงความคุ้มค่า และต้องดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในไทยเราเหมือนกัน เหมือนก่อนหน้านี้ที่ไทยเราถูกตัด GSP เพราะไม่ยอมที่จะแก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่จะให้มีการตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การถูกตัด GSP เป็นที่ทราบกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งได้มีการเตรียมการมาแล้ว โดยหาตลาดใหม่มาทดแทน หรือบุกตลาดสหรัฐฯ เช่นเดิม จะไม่เน้นการแข่งขันด้านราคา แต่เน้นเรื่องของคุณภาพ ส่วนสินค้าที่ถูกตัดนั้น อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เชื่อว่าเราสามารถสู้ต่างประเทศได้ การที่เราถูกตัดสิทธิ์ไม่น่าจะมีผลกระทบมากมาย
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 พ.ย. 63 จะมีเรื่องสำคัญที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนอยู่ 2 เรื่อง คือ การประกันรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยจะประกันรายได้ยาง 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบชั้น 3 ประกันที่กิโลกรัมละ 60 บาท น้ำยางข้น ที่กิโลกรัมละ 57 บาท และยางก้นถ้วย ที่กิโลกรัมละ 23 บาท นอกจากนี้หากเกษตรกรมีรายได้ต่ำกว่ารายได้ที่ประกัน จะได้รับเงินส่วนต่างชดเชย โดยโอนเงินผ่านธนาคาร ธ.ก.ส. ไม่สามารถตกหล่นรายชื่อได้ และจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ 2 ทาง คือ จากการขายยางในตลาด และรายได้ส่วนต่าง เมื่อรวมกันแล้วรายได้จะเท่ากับประกันพอดี โดยใช้วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทสำหรับการเตรียมการ
นอกจากการประกันรายได้ชาวสวนยางแล้ว จะมีมาตรการเสริมอื่น ๆ อีก เช่น เร่งรัดส่งเสริมให้มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการไม้ยาง ในวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลจะช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลจะช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 เช่นเดียวกัน
สำหรับประกันรายได้ มี 5 ชนิด ข้าว มันสำปะหลัง ยาง ปาล์ม และข้าวโพด สำหรับปาล์ม มันฯ ข้าวโพด เข้า ครม.ไปแล้ว เหลือเพียง ยางและข้าว จะเข้า ครม.ในวันพรุ่งนี้ โดยใช้หลักการเดียวกันเหมือนปีที่แล้ว ในวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็นประกันรายได้ และเงินช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รายละหรือครอบครัวละ 1,000 บาทต่อไร่ ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่