จากกรณี ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งพบซากโลมาหัวบาตร ยาวประมาณ 1.5 เมตร หางครีบมีแผลคล้ายถูกอวนบาด ลำตัวถูกแล่เนื้อด้วยของมีคม จนเห็นโครงกระดูก ปล่อยทิ้งเน่าไว้กลางหาด 2 - 3 วัน บริเวณ ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ คาดว่าถูกแล่นำเนื้อไปกิน ตามที่นำเสอนข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันที่ 4 พ.ย.63 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โลมาตัวนี้เป็นโลมาหัวบาตร ที่สามารถพบได้บ่อยที่สุดในทะเลไทย ข้อมูลล่าสุดของกรมทรัพยากรทางทะเลประเทศไทย เรามีโลมาหัวบาตรอยู่มากกว่า 500 ตัว ซึ่งโลมาหัวบาตรตัวที่พบ มีความยาว 1.5 เมตร ถือว่าโตเต็มวัยแล้ว
ซากโลมาที่ลอยเข้ามาเกยหาดจากการสังเกตเบื้องต้น พบว่าซากมีร่องรอยของการติดอวนของเรือชาวประมง มีการถูกแล่เนื้อทางส่วนหลังออกไป ปกติแล้วเนื้อส่วนใหญ่ของโลมาอยู่บริเวณที่ส่วนหลัง และเป็นซากที่เริ่มเน่าเปื่อย
สำหรับข้อสันนิษฐานของตนนั้น โลมาหัวบาตรตัวนี้ติดอวนอยู่ในทะเล จากนั้นถูกจับขึ้นมาแล่เนื้อ เพื่อนำเนื้อไปทำอะไรบางอย่าง จากนั้นทิ้งซากสดลงทะเลซึ่งคาดว่าลอยอยู่ในทะเลประมาณ 2 - 3 วันแล้วเกยหาดที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ อาจจะเป็นโลมาที่อยู่นอกชายฝั่ง ห่างออกจากชายฝั่งทะเล 50 - 100 กิโลเมตร หากเกิดที่อ.ปราณบุรี ซากโลมาต้องเกยหาดก่อนหน้านี้แล้ว และต้องเป็นซากสดอยู่ แต่ที่พบเจอเป็นซากเน่ามีความเป็นไปได้ที่ลอยมาไกล คาดว่าเรือประมงต่างชาติอาจจับโลมาตัวดังกล่าวได้แล้วนำมากิน และทิ้งซากลงสู่ทะเล ลอยมาจากชายฝั่งของเวียดนาม เพราะชาวเวียดนามชอบทานสัตว์แปลก ๆ
โดยปกติแล้วคนไทยจะไม่กินเนื้อโลมา ยกเว้นในอดีตที่ผ่านมา อาจจะมีการลองกินบ้าง แต่ไม่ได้กินแบบจริงจัง เนื่องจากคนไทยไม่ได้มีความเชื่อเกี่ยวกับการกินโลมา อย่างไรก็ตาม บางชาติในยุโรป ชาติเอเชีย รวมถึงชาติที่อยู่ในอาเซียน ก็มีการจับโลมากิน
นอกจากนี้ ประเทศไทย ไม่มีตลาดมืดขายเนื้อโลมา เพราะว่ามีความเสี่ยงอย่างสูง เนื่องจากเป็นสัตว์คุ้มครอง พ.ร.บ.สัตว์คุ้มครองฉบับใหม่ ปี 2562 เพิ่มโทษให้หนักขึ้นเป็น ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงไม่คุ้มที่จะนำมาขาย มั่นใจว่าไม่มีเนื้อโลมาขายอยู่ในตลาด
ทั้งนี้การกินเนื้อโลมานั้น จะกระทบต่อท้องทะเล โลมาเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านจำนวนมาก ฉะนั้นแล้วการที่เราทำร้ายโลมา หรือกินโลมา นอกจากเป็นการสร้างบาปแล้ว เรายังทำลายทะเลและทำร้ายสัตว์หายาก รวมทั้งทำลายอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทางทะเลอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากเจอโลมาที่บาดเจ็บ แนะนำให้อย่าพยายามให้โลมาลงสู่ทะเล ซึ่งเขาอาจจะบาดเจ็บ เมื่อดันลงสู่ทะเล แต่ให้สังเกตอาการ หากเขาเกยตื้นพยายามเอาน้ำทะเลราด หรือจะขุดหลุมเล็ก ๆ นำเขาไปอยู่ในหลุมนั้นให้น้ำท่วมถึง จากนั้นแจ้งทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เร็วที่สุด
ทีมข่าวได้เดินทางมาสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ริมทะเล ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังมีข่าวเกี่ยวกับการแล่เนื้อโลมากิน
โดยทีมข่าวได้พูดคุยกับ นางทองคำ ใกล้ชิด อายุ 82 ปี เล่าว่า หากย้อนไปเมื่อประมาณ 70 ปีก่อน พื้นที่ต.ปากน้ำปราณ ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีโลมาจำนวนมาก โดยเฉพาะในวันที่อากาศดี คลื่นไม่แรง บางครั้งตนก็จะสังเกตเห็นโลมาถูกลากติดอวนขึ้นมา ซึ่งชาวประมงสมัยก่อนนั้นยากจน หากจะปล่อยซากโลมาทิ้งเปล่าก็เสียดาย ชาวประมงและชาวบ้านก็จะแล่เนื้อโลมาแบ่งกินกัน เมนูยอดนิยมก็คือ โลมาแดดเดียว และเนื้อโลมาหมักเกลือ มีวิธีประกอบอาหารทั้งทอดและปิ้ง
นางทองคำ บอกว่า ตนไม่เคยกินเนื้อโลมา แต่คนที่เคยกินบอกกับตนว่าเนื้อโลมาจะมีลักษณะเหมือนเนื้อควาย เนื่องจากสีดำและติดมัน มีกลิ่นคาวจัด ทั้งนี้สมัยนี้ธรรมชาติเปลี่ยนไป โลมาจะไม่ปรากฏออกมาให้เห็นบ่อยนัก หากชาวประมงลากอวนติดโลมา ชาวประมงก็จะช่วยเหลือปล่อยกลับสู่ทะเล ไม่มีการแล่เนื้อกินเหมือนสมัยก่อน
ส่วนข่าวที่นำเสนอว่า พบโลมาถูกแล่นั้น ตนคิดว่าอาจจะเป็นโลมาที่ติดอวนชาวประมงต่างชาติ (เมียนมา) ที่ออกเรือหาปลาหลายวัน เมื่อพบโลมาติดอวนตาย จึงแล่เนื้อเก็บไว้กินบนเรือ (แล่แบบพอกิน) แล้วนำซากโยนทิ้งทะเล จนซากลอยมาเกยตื้น