จากกรณีเหตุไฟไหม้รถเก๋งปอร์เช่สีขาว ป้ายแดง สภาพรถถูกไฟไหม้จากด้านท้ายของตัวรถ ลุกลามไปถึงที่นั่งด้านหน้าคนขับ ส่งผลให้สภาพรถถูกไฟไหม้ยับเยิน เจ้าของรถยนต์ เปิดเผยว่า รถยนต์ยี่ห้อปอร์เช่ คันดังกล่าว เป็นระบบไฮบริด ซึ่งต้องชาร์จไฟทุกวัน โดยก่อนหน้านี้ ได้เสียบปลั๊กเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ไว้ ตั้งแต่เวลา 22.00 น. จนมาเกิดเหตุดังกล่าวในช่วงเช้าวันต่อมา ซึ่งเจ้าของรถยนต์คาดว่า น่าจะเกิดจากหม้อแปลงตัวชาร์จระเบิด
วันนี้ (17 มี.ค.) ทีมข่าวอมรินทร์ทีวี ได้เดินทางมาพูดคุยกับ นายปกรณ์ กริตยอานนท์ ลูกชายเจ้าของรถยนต์ปอร์เช่ กล่าวว่า วันแรกที่รถมาส่งที่บ้าน ทางบริษัทได้เข้ามาพูดคุยว่า จะต้องติดตั้งปลั๊กจุดไหนอย่างไรบ้าง แล้วให้ทางคุณแม่ตนไปหาช่างไฟมาดำเนินการติดตั้ง และเดินสายไฟสำหรับชาร์จรถยนต์ โดยที่ทางบริษัทไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ หรือทีมงานมาดำเนินการให้
ทางคุณแม่ตน ก็ได้จ้างช่างไฟมาเดินสาย ซึ่งที่ผ่านมา ก็ใช้วิธีการชาร์จไฟในลักษณะนี้มา 5 เดือนแล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทางบริษัทไม่ได้เข้ามาดูเรื่องการชาร์จไฟบ้านกับรถยนต์ แต่จะดำเนินการเพียงเช็คสภาพรถยนต์ให้เท่านั้น
ทั้งนี้ ใช้เวลาเวลาชาร์จไฟ ประมาณ 7-8 ชั่วโมง ตอนเช้าก็ดึงปลั๊กออกตลอด โดยเมื่อเช้านี้ ทางบริษัทรถยนต์ก็เข้ามาตรวจสอบที่บ้าน และเห็นว่ากำลังจะเรียกค่าเสียหายกับทางบริษัทรถให้ เพราะทางตนไม่ได้ไปขับรถชน แต่เป็นความเสียหายจากความบกพร่องของสินค้า
ตอนนี้ทางตนก็กำลังพูดคุยเรื่องค่าเสียหายกันอยู่ โดยความเสียหายของฝ่ายตน มีทั้งรถยนต์ปอร์เช่ที่ถูกไฟไหม้ มูลค่า 9 ล้านบาท และห้องโฮมเธียเตอร์ที่ถูกไฟไหม้ ประมาณ 7-8 ล้านบาท เพราะมีเก้าอี้นวด 2 ตัว โทรทัศน์ ลำโพง และสเตอริโอ รวมถึงโคมไฟแชนเดอเรีย
ส่วนความความรู้สึกตอนนี้ สภาพจิตใจแย่ เพราะห้องโฮมเธียเตอร์ เป็นห้องที่ครอบครัวใช้นั่งเล่นเป็นประจำ หากวันนั้นมีคนนั่งอยู่ในห้องคงจะไม่รอดเช่นกัน ตนอยากจะเตือนถึงคนที่ใช้รถไฟฟ้าไฮบริดว่า รถรุ่นนี้ก็เป็นรุ่นค่อนข้างใหม่ หากจะตัดสินใจซื้อ ต้องดูการพัฒนาของรถก่อน รวมถึงบริษัทที่เป็นผู้จำหน่ายรถ อยากให้เข้ามามีส่วนรับผิดชอบดูแล เพราะหากไฟฟ้าลัดวงจร หรือเกิดเหตุระเบิดขึ้น อาจส่งผลต่อชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม นายปกรณ์ คิดว่า ไฟฟ้าที่บ้านของตน ไม่น่าเกี่ยวข้องกับการชาร์จไฟรถยนต์ และซื้อรถมามูลค่าหลายล้านบาท ทางบริษัทควรมีบริการตรวจสอบเกี่ยวกับชาร์จให้ เพราะทางบริษัทจะทราบดีว่ารถต้องชาร์จไฟใช้งานทุกวัน ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัยต่างๆ เขาควรจะเข้ามาตรวจสอบให้ผู้ซื้อรถด้วย
โดยบริเวณรอบบ้าน คุณปกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่างไฟได้เข้ามาเดินสายไฟให้จากภายในบ้าน เชื่อมต่อตัวเต้าเสียบไว้ที่ด้านนอกบ้าน ซึ่งมีไว้สำหรับชาร์จไฟรถยนต์โดยเฉพาะ ซึ่งจะรองรับกับกล่องอแดปเตอร์สำหรับชาร์จรถยนต์
ด้าน นายวรพล สิงห์เขียวพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ กล่าวว่า รถคันดังกล่าวเป็นรถรุ่นปลั๊กอินไฮบริด จากการสันนิษฐาน น่าจะเกิดจาก 3 สาเหตุ คือ 1.ตัวรถ อาจจะเกิดจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเกิดระเบิด ซึ่งเหมือนกับแบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถระเบิดได้ 2.ตัวชาร์จ ถ้าหากตัวชาร์จมีปัญหาต้องพิสูจน์ต่อว่า เกิดจากสาเหตุใด และ 3.ไฟบ้าน ซึ่งอยู่ที่ระบบการเดินสายไฟว่า ทำไมคัทเอาท์จึงไม่ตัดไฟ
อย่างไรก็ตาม ทั้งสามสาเหตุ จะต้องรอกองพิสูจน์หลักฐานทำการตรวจสอบ และเป็นสิ่งที่บริษัทรถยนต์ปอร์เช่ ต้องออกมาตอบคำถาม
นายวรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิสูจน์นั้น จะต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่า เป็นที่รถหรือสาเหตุใด แต่สังคมตอนนี้ตัดสินไปแล้วว่า เกิดจากตัวรถ ซึ่งส่วนตัวกำลังสงสัยเรื่องของไฟบ้าน เพราะว่า ทำไมพอชาร์จไฟจนโอเวอร์โหลดแล้ว แต่ไฟจึงไม่ตัดอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม ตัวชาร์จสามารถใช้ไฟบ้านได้ การชาร์จนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับสายไฟ และขนาดของสายไฟ ซึ่งทีมงานจากบริษัทรถปอร์เช่ จะต้องตรวจสอบไฟบ้านก่อนว่า เพียงพอหรือไม่ รวมทั้งให้ช่างไฟมาตรวจสอบร่วมด้วย
ถึงแม้ว่าเจ้าของรถจะสันนิษฐานว่าเกิดจากรถ แต่ขณะไฟไหม้นั้น เกิดจากในส่วนของรถ หรือส่วนของไฟบ้านกันแน่ เพราะหากเริ่มจากตัวรถ บริษัทปอร์เช่ จะต้องสามารถให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ และหากเกิดจากไฟบ้านไม่เพียงพอ หรือใช้มากเกิน ก็ต้องอยู่ผู้รับเหมาก่อสร้างบ้าน ว่าทำไว้อย่างดีหรือไม่
ขณะเดียวกันไม่ว่ารถจะมีราคาสูงเพียงใด กรณีเช่นนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะรถผลิตหลายหมื่นคัน อาจเกิดความผิดพลาดในระหว่างการผลิต ซึ่งบริษัทรถจะต้องรับผิดชอบ ทั้งรถคันที่ไฟไหม้ รถที่ผลิตออกไปขายแล้ว และรถที่ผลิตออกมาใหม่
หากสามารถตรวจสอบสาเหตุได้แล้วว่า เกิดจากสาเหตุใด และจะแก้ไขอย่างไร ผู้ใช้รถจะสบายใจได้ที่จะซื้อรถ แต่หากเกิดจากไฟบ้านที่จะใช้ชาร์จ เจ้าของรถจะต้องให้ช่างไฟที่ชำนาญเรื่องการจ่ายไฟ มาดูแลเรื่องตัวชาร์จรถปลั๊กอินไฮบริด กับการจ่ายไฟมาตรวจสอบก่อน เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาในลักษณะเช่นนี้