"อ.อ๊อด" ตรวจตัวอย่างน้ำจากเหตุปะทะแยกเกียกกาย พบสารเคมี 5 ชนิด แบ่งเป็น 1 สารตัวทำละลายและ 4 สารกลุ่มแก๊สน้ำตาซึ่งใส่ตัวเดียวก็เกินพอแล้ว โดยมีอันตรายต่อผิวหนัง ดวงตา และการสูดดม
วันที่ 20 พ.ย. 63 รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรืออาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพและวิดีโอขณะนำตัวอย่างน้ำที่เก็บจากสถานที่เกิดเหตุปะทะ ณ บริเวณแยกเกียกกาย โดยผลการตรวจสอบ พบว่า น้ำที่เก็บมามีสีฟ้าออกน้ำเงินเนื่องจากว่า ปนเปื้อนกับสีที่ผู้ชุมนุมใช้ แต่ได้นำมาสกัดด้วย DCM จนได้สารละลายสีม่วงพร้อมกับสารที่อยู่ในนั้นออกมาแยกชั้น
จากนั้นอาจารย์อ๊อดเอาสารละลายสีม่วง ที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยเทคนิค gc-ms (Gas chromatography–mass spectrometry (GC-MS)) พบว่าสีม่วงคือ Methylviolet 2b (เมทิลไวโอเลททูบี) ซึ่งเป็นสีม่วงธรรมดาไม่มีพิษภัยอะไร และเจอสาร สำคัญ 5 ตัว ในสารละลายสีม่วงนั้น คือ
(1) Dimethyl sulfoxide, DMSO (ไดเมททิล ซัลฟอกไซด์)
เป็นสารประกอบอินทรีย์ซัลไฟด์ มีลักษณะเป็นของเหลวไม่มีสี จุดเดือดสูง นิยมใช้เป็นตัวทำละลายและใช้เป็นสารทำความสะอาดส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองถ้าได้รับในปริมาณมาก
(2) 2-Chlorobenzaldehyde (2-คลอโรเบนซัลดีไฮด์)
ลักษณะไม่มีสีหรือของเหลวใสสีเหลืองเล็กน้อย ข้อควรระวังคือทำให้ผิวหนังไหม้อย่างรุนแรงและทำลายดวงตา
โดย 2-Chlorobenzaldehyde ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิต o-chlorobenzylidene malononitrile หรือ 2-chlorobenzalmalononitrile หรือ o-Chlorobenzylmalononitrile ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ในแก๊สซีเอส (CS gas) ซึ่งเมื่อโดนแก๊สน้ำตาเข้าไปแล้ว จะเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาและแก้วตาดำ ทำให้มีน้ำตาไหลออกมาก เยื่อบุตาจะแดงและแก้วตาดำจะบวม ตามองไม่เห็น น้ำมูกน้ำลายไหล ไอ หายใจลำบาก เมื่อร่างกายสัมผัสกับแก๊สน้ำตามักจะเกิดอาการภายในวินาทีหรือหลายนาที อาการจะเป็นอยู่นานประมาณ 15 –30 นาทีส่วนใหญ่จะหายเองภายในหนึ่งชั่วโมง
(3) 2-Chlorobenzyl alcohol (2-คลอโรเบนซิลแอลกอฮอล์) มีลักษณะเป็นผงสีขาว โดยสารตัวนี้ก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ทั้งต่อดวงตา ผิวหนัง แม้แต่การสูดดมเข้าไป
(4) 2-chlorobenzalmalononitrile (2-คลอโรเบนซัลมาโลโนไนไตร) หรือ o-Chlorobenzylmalononitrile (CS gas) 2-chlorobenzalmalononitrile หรือ o-Chlorobenzylmalononitrile ทางทหารเรียกสั้นๆว่า CS จัดเป็นอาวุธเคมี (chemical weapon) ที่ใช้คุมฝูงชน แต่ไม่ทำให้ถึงตาย (non-lethal chemical weapon) โดยปกติในอุณหภูมิห้อง ไม่ได้อยู่ในสถานะก๊าซ เป็นของแข็ง แต่ทำเป็นละอองได้ เหมือนสเปย์พริกไทย
(5) o-Chlorobenzylmalononitrile เป็นสารก่อการระเคืองเหมือนกันที่อยู่ใน CS gas เหมือนกัน เป็นอนุพันธ์ของสารหมายเลข (4)
สารหมายเลข 1 เป็นตัวทำละลาย เพื่อทำให้สารอีก 4 ตัวละลายรวมเป็นเนื้อเดียวกันเป็นหัวเชื้อ ส่วนสารหมายเลข 2 3 4 5 เป็นกลุ่มแก๊สน้ำตาซึ่งใส่ตัวเดียวก็เกินพอแล้ว แต่ใส่ไปทั้งหมด 4 ตัว
ความเข้มข้นที่คำนวณได้จากเครื่อง
(1) = 10.39 % V/V
(2) = 10.87 % V/V
(3) = 8.56 % V/V
(4) = 63.93 % V/V
(5) = 6.25 % V/V
งานวิชาการที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้แน่นอนว่า ความเข้มข้น 1% เทียบกับ 5% แก๊สน้ำตา(CS) อันไหนอันตรายกว่ากัน เนื่องจากความเสียหายส่วนใหญ่มาจากระยะในการยิง
ผลกระทบในคนได้มีการศึกษาผลของ CS smoke or aerosol and exposure via inhalation พบว่า aerosol เมื่อทำการผลิตโดยวิธี thermal dispersion ที่มีขนาด 0.5um ในตัวทำละลาย methylene chloride ทำการศึกษากับอาสาสมัครเป็นเวลา 90 นาที ในพื้นที่ขนาด 0.5-1 mg/m3 พบว่าอาสาสมัครมีอาการผิวไหม้บริเวณปาก หายใจแล้วแสบรวมถึงแน่นหน้าอก