ตรังอ่วมหนัก! น้ำท่วมสูงต่อเนื่อง ครึ่งหมื่นครัวเรือนจมใต้บาดาล-มิดหลังคา คาดหนักสุดในรอบ 10 ปี
วันนี้ (6 ธ.ค.63) ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ตรัง รายงานสถานการณ์น้ำท่วม บริเวณคลองช้าง ริมถนนสายตรัง-สิเกา เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ได้นำเอาเครื่องจักรกลหนัก รวมทั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ มาทำการสูบน้ำเพื่อผลักดันให้น้ำจากแม่น้ำตรัง ไหลออกสู่ปากน้ำทะเลกันตังได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น หลังมวลน้ำจำนวนมาก จากพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ไหลบ่าลงมา ทำให้พื้นที่ด้านเหนือคลองช้างซึ่งได้แก่ ต.หนองตรุด ต.นาตาล่วง และ ต.นาโต๊ะหมิง ขณะเดียวกันน้ำจากแม่น้ำได้ได้ไหลเข้าท่วมโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยตรัง ซึ่งอยู่บริเวณริมแม่น้ำตรัง ระดับน้ำท่วมสูงตั้งแต่ 20-50 เซนติเมตรและยังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- มวลน้ำทะลัก! ท่วมโรงเรียนตรัง นักเรียนกว่าร้อยชีวิตอพยพอุตลุด
- คนใต้ไม่ทิ้งกัน! "ใบเตย สุธีวัน" โอนเงินให้คุณแม่ เตรียมแพ็กของใช้แจกจ่ายผู้ประสบอุทกภัย
- กรมชลฯ เปิดประตูระบายน้ำ "อุทกวิภาชประสิทธิ์" ตั้งรับมวลน้ำระลอกใหม่ 12-14 ธ.ค.
- อดอีกนับเดือน! น้ำท่วมนครฯผู้คนไร้เงินขอข้าวสารเลี้ยงชีพ ซึ้งผู้ชมสละเงินช่วย (คลิป)
ส่วนบริเวณพื้นที่ ต.บางรัก อ.เมืองตรัง น้ำได้ไหลเข้าท่วมแล้วทั้งหมด 6 หมู่บ้าน สำหรับพื้นที่หนักสุดใน ต.บางรัก คือ หมู่ 4 ต.บางรัก อ.เมือง น้ำได้ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและเพิ่มระดับขึ้นสูงจำนวนมาก ระดับน้ำ เพิ่มสูงขึ้นกว่า 3 เมตร ทำให้บ้านเรือนชาวบ้านถูกน้ำท่วมถึงหลังคาบ้านกว่า 10 หลัง
ขณะที่พื้นที่รับน้ำใน 6 ตำบลในอำเภอเมือง ได้แก่ตำบลนาตาล่วง ตำบลบางรัก ตำบลนาท่ามใต้ ตำบลหนองตรุดตำบลนาโต๊ะหมิง และ 3 ตำบลในอำเภอกันตังคือ ตำบลควนธานี ตำบลบางหมาก ตำบลโคกยาง มีน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อวานนี้ตั้งแต่ 2-3 เมตร โดยเฉพาะที่บ้านหนองบัว หมู่ที่ 4 ต.นาตาล่วง บ้านเรือนกว่า 30 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วมถึงหลังคาบ้าน สูงตั้งแต่ 2-3 เมตรเช่นกัน ซึ่งกระแสน้ำที่ท่วมยังคงไหลเชี่ยวกราดอย่างต่อเนื่อง ส่วน พระ-เณร ในวัดประสิทธิชัย หรือวัดท่าจีน ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วม ต่างใช้เรือเป็นยานพาหนะเข้าออกวัดและมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก อบต.หลายแห่งเร่งเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
โดยสถานการณ์น้ำท่วมทั้ง 6 อำเภอใน จ.ตรังคือ อ.รัษฎา,อ.นาโยง,อ.ห้วยยอด,อ.วังวิเศษ,อ.กันตังและ อ.เมือง พื้นที่ตอนบนได้แก่ อ.รัษฎา และ อ.นาโยง เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยกเว้นพื้นที่ท้ายน้ำซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำตรัง หลายตำบลยังอ่วมหนัก แม้ฝนหยุดตกมาแล้ว 3 วัน แต่เนื่องจากมวลน้ำก้อนใหญ่จากอ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราชไหลลงมาสมทบกับน้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัด ทำให้พื้นที่ตอนล่างซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำตรัง มีน้ำท่วมสูงขึ้นมากกว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
โดยมีคนจมน้ำเสียชีวิตรายแรกเมื่อคืนนี้คือนายพิเชษฐ์ เพชรประสิทธิ์ อายุ 49 ปีชาวบ้านตำบลนาตาล่วง อ.เมืองตรัง โดยสถานการณ์น้ำท่วมยังขยายวงกว้าง และมีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 6 อำเภอ 29 ตำบล 4 ชุมชน 141 หมู่บ้าน 5,602 ครัวเรือน.