เรือหางยาวท่องเที่ยวตัดหน้า ชนในเขื่อนรัชชประภา นทท. รอดหวุดหวิด เจ็บหนัก 2 ราย

15 เม.ย. 61
จากกรณี เกิดเหตุเรือหางยาวท่องเที่ยวชนในเขื่อนรัชชประภา ห่างจากท่าเทียบเรือเพียง 500 เมตร ผู้โดยสารเรือ 13 ราย ใส่ชูชีพจึงไม่มีผู้เสียชีวิต แต่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
นายวิชชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าหน้าที่ส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าเยี่ยมผู้บาดเจ็บ
วันนี้ (15 เม.ย.) นายวิชชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าหน้าที่ส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าเยี่ยมผู้บาดเจ็บจำนวน 2 ราย ที่นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลบ้านตาขุน อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี หลังเกิดเหตุเรือหางยาวท่องเที่ยว 2 ลำ ชนกัน ห่างจากท่าเทียบเรือเขื่อนเชียวหลานประมาณ 500 เมตร เจ้าหน้าที่ที่ประจำจุดดูแลนักท่องเที่ยวจึงได้ให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ทั้งหมด 13 ราย
ซากเรือท่องเที่ยวที่ถูกชน
ซึ่งเรือ 2 ลำ วิ่งออกจากท่าเทียบเรือไปได้ไม่นาน ทราบชื่อเรือ คือ จุฑารัตน์ ทะเบียนเรือหมายเลข 171 มีนายบำรุง มะธุระ อายุ 48 ปี เป็นคนขับเรือ บรรทุกผู้โดยสาร 4 คน ชนเข้ากับเรือ พรหมทองใหญ่ มีนายสง่า มะธุระ อายุ 41 ปี บรรทุกผู้โดยสาร จำนวน 9 คน ทำให้ผู้โดยสารตกน้ำทั้งหมด แต่ทุกคนใส่ชูชีพจึงไม่เกิดเหตุสลด ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ต้องนอนดูอาการ 2 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 2 ราย
นักท่องเที่ยวที่ได้รับบาดเจ็บ
จากการสืบสวนทราบว่า เรือลำที่ชนชื่อเรือ จุฑารัตน์ ขณะนำผู้โดยสารออกจากท่าเทียบเพื่อนำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวภายในบริเวณอ่างเก็บน้ำ ในขณะที่เรือพรหมทองใหญ่กำลังวิ่งเข้ามาเพื่อส่งผู้โดยสารกลับขึ้นฝั่ง แต่อาจเกิดการตัดหน้ากันขึ้น หลังเกิดเหตุได้นำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้รับบาดเจ็บได้ให้การกับเจ้าหน้าที่ พร้อมตรวจหาสารเสพติดจากคนขับเรือพบมีผลเป็นบวก ซึ่งเจ้าหน้าที่จะส่งผลยืนยันหากพบเป็นสารเสพติดจะแจ้งข้อหาดำเนินคดี
เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือนักท่องเที่ยว
ด้านนายวิชชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนเร่งตรวจสอบและแก้ไข รวมถึงการจัดระเบียบคนขับเรือ เนื่องจากผลการตรวจหาสารเสพติดพบผลเป็นบวก 1 ราย ซึ่งหลังจากนี้ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เช่น การใส่เสื้อชูชีพเมื่อลงเรือที่ได้เข้มงวดด้วยการเปรียบเทียบปรับ ซึ่งก็สามารถช่วยชีวิตนักท่องเที่ยวในครั้งนี้ได้ ถือว่าสามารถดูแลความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง เหลือเพียงความพร้อมของผู้ประกอบการและสภาพร่างกาย และวินัยของคนขับเรือที่ต้องจัดระเบียบให้ดีมากยิ่งขึ้น
ผู้บาดเจ็บเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลบ้านตาขุน
ส่วนการดูแลค่ารักษาพยาบาลทางบริษัทประกันของเรือลำต่างๆ ที่ต้องมีก่อนได้รับการอนุญาตแล่นในเขื่อน จะเข้ามาดำเนินการดูแลค่ารักษาพยาบาล ทั้งในส่วนโรงพยาบาลของรัฐบาลและเอกชน ที่ผู้ป่วยต้องการย้ายไปรักษาก่อนเดินทางกลับ กรุงเทพฯ ถ้าอาการดีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (16 เม.ย.)

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ