กรณีเมื่อเวลา 23.00 น. วันที่ 22 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางแก้ว สมุทรปราการ ได้รับแจ้งมีแรงงานต่างด้าวชาวพม่ากว่า 10 คน ถูกนำมาทิ้งที่ภายในซอยกรีนเลค หมู่ 2 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ หลังรับแจ้งจึงประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสมุทรปราการ และเจ้าหน้าที่ทหาร กอ.รมน. เดินทางเข้าตรวจสอบ
โดยที่บริเวณริมถนนที่ทางเข้าหมู่บ้านกรีนเลค ห่างจากถนนบางนาตราดประมาณ 100 เมตร ได้พบแรงงานต่างด้าวชาวพม่าทั้งผู้ชายและผู้หญิง รวมแล้วจำนวน 14 คน พร้อมด้วยกระเป๋าสัมภาระนั่งรวมกันอยู่ที่ริมถนน จึงเข้าตรวจสอบพบว่าเป็นแรงงานต่างด้าวทั้งหมดมีพาสปอร์ต จำนวน 6 คน ส่วนที่เหลืออีก 8 คนไม่มี
จากการสอบถามทราบว่าทำงานอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่ง พื้นที่ หมู่ 7 ถนนพระราม 2 ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร เพิ่งเข้ามาทำงานได้ประมาณเดือนเศษ และเมื่อช่วงเย็นของวานนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของโรงงานดังกล่าวได้ไล่ออกจากโรงงาน โดยอ้างว่าจะมีตำรวจเข้ามาตรวจ จึงให้พวกตนพากันออกจากโรงงานพาขึ้นรถนำพวกตนซึ่งมีทั้งหมด 23 คนไปที่ จ.ระยอง
ในระหว่างทางก็มีการส่งคนงานกลางทาง จนเหลือ 14 คน และพาไปที่ จ.ระยอง เพื่อให้ไปหลบในป่าในเขาแต่พวกตนไม่ยอม คนขับจึงถามว่ามีใครมีญาติ หรือคนรู้จักไหมให้ไปพักหลบอยู่กับญาติหรือคนรู้จักก่อน พวกตนบอกว่ามีอยู่ที่โรงงานในซอยกรีนเลค ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ คนขับรถจึงพากลับมา พวกตนพยายามติดต่อหาญาติและคนรู้จัก แต่ไม่สามารถเข้าไปพักในโรงงานได้ เนื่องจากเจ้าของโรงงานไม่ยอมให้เข้าโรงงาน และกลัวความผิด เพราะพวกตนเดินทางมาจาก จ.สมุทรสาคร เกรงว่าจะนำเชื้อโควิด-19 มาระบาด
ทั้งนี้คนขับรถจึงให้พวกตนลงจากรถ และทิ้งให้นั่งอยู่ตรงทางเข้าหมู่บ้าน ก่อนขับรถหายไป พวกตนก็เลยนั่งรอความช่วยเหลือ และพวกตนทุกคนยังไม่เคยได้รับการตรวจโควิด-19 เลย จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอบางพลี เข้าทำการตรวจคัดกรองเบื้องต้น ก่อนพาตัวทั้งหมดไปกักตัวในที่ปลอดภัยและจะติดตามเจ้าของโรงงานที่ให้นำคนงานมาปล่อยทิ้งไว้มาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ล่าสุดวันที่ 23 ธ.ค.63 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี สอบถามนายวสันต์ นาคสกุล อายุ 58 ปี ประธานกรรมการหมู่บ้านกรีนเลค ถนนบางนาตราด กล่าวว่า วานนี้ (22 ธ.ค.63) เวลา 18.45 น. มีลูกบ้านแจ้งว่าพบเห็นแรงงานต่างด้าวนับ 10 คนลงจากรถตู้หน้าหมู่บ้าน โดยมีสัมภาระติดตัวมาด้วย ตนจึงเข้าไปตรวจสอบ พบแรงงานพม่าทั้งชายและหญิงรวม 14 คน บอกว่ามาจากโรงงานย่านสมุทรสาคร เนื่องจากทางโรงงานบอกให้ออกมากระจายอยู่ตามบ้านญาติ เพราะจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปตรวจสอบ
หนึ่งในนั้นอ้างว่ารู้จักกับคนในซอยหมู่บ้านกรีนเลค เพราะเคยทำงานที่โรงงานในหมู่บ้านเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว แต่เมื่อประสานคนรู้จัก อีกฝ่ายไม่ยอมให้เข้าไป จึงไม่รู้จะไปไหน ขณะนั้นต้องการหาที่พัก หาญาติ หรือคนรู้จักแต่ไม่มีเป้าหมาย ตนจึงประสานทางผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาตรวจสอบ รวมถึงพยายามกันให้อยู่ในจุดเดียวกัน ไม่ให้ออกไปไหน จนกว่าเจ้าหน้าที่จะเข้ามา
โดยแรงงานดังกล่าวบอกว่าหิว ยังไม่กินข้าวตั้งแต่เช้า ตนจึงจัดการซื้อข้าวให้กินด้วยความสงสาร จากนั้นเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบถามตนว่าจะขอใช้ลานกว้างกลางหมู่บ้านเป็นที่พักชั่วคราวของแรงงานดังกล่าวได้หรือไม่ แต่ตนไม่ยินยอมเพราะลูกบ้านส่วนใหญ่เกิดความกังวล ทั้งนี้ตนยืนยันไม่ได้รังเกียจแรงงานต่างด้าว แต่ต้องมาอย่างถูกต้อง มีกระบวนการคัดกรองมาแล้ว ซึ่งตนสอบถามแรงงานเหล่านั้นว่ารู้จักโควิด-19 หรือไม่ อีกฝ่ายบอกรู้จักแต่ไม่เคยตรวจ อ้างว่าเก็บตัวอยู่แต่ในโรงงาน ไม่ออกไปไหน ซึ่งตนก็ไม่วางใจ
ทีมข่าวเดินทางไปยังสนามกีฬา จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นสนามกีฬาที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จยังไม่เปิดใช้งาน โดยเป็นจุดที่แรงงานต่างด้าวถูกนำมากักตัวเอาไว้ ตรวจสอบจำนวนล่าสุดมีแรงงานทั้งหมด 18 คน แบ่งเป็นผู้หญิง 10 คน ผู้ชาย 8 คน เพิ่มขึ้นจากวานนี้ เนื่องจากวันนี้มีแรงงาน 4 คนติดต่อประสานผ่านเพื่อนที่ถูกควบคุมตัวให้เจ้าหน้าที่เข้าไปรับ เนื่องจากไม่มีที่ไป แบ่งเป็นผู้หญิง 3 คนและผู้ชายอีก 1 คน
โดยมีการกั้นพื้นที่ให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวอยู่ด้านหลังอัฒจันทร์ ซึ่งนายอำเภอบางพลี ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สำนักงานเหล่ากาชาติ และอบต.บางปลา ลงพื้นที่ดูแลความเรียบร้อย พร้อมเตรียมห้องพักด้านหลังซึ่งเป็นห้องเปล่ามีห้องน้ำด้านใน ขนาดกว้างประมาณ 3 เมตร ยาว 3 เมตร จำนวน 4 ห้อง เพื่อใช้เป็นที่พักชั่วคราวแก่แรงงานทั้ง 18 คนในค่ำคืนนี้
ทั้งนี้มีการประสานไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ติดกัน ขอใช้หอพักนักศึกษา ที่ไม่มีคนอาศัย ให้แรงงานทั้งหมดได้กักตัวหลังจากนี้ ซึ่งหลังกระบวนการกักตัวเสร็จสิ้นเป็นเวลา 14 วัน ทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
สอบถามนายออง กู อายุ 34 ปี หนึ่งในแรงงานที่ถูกกักตัว กล่าวว่า ตนทำงานอยู่ในโรงงานผลิตพลาสติกแห่งหนึ่ง ที่จ.สมุทรสาคร แต่เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา ทางบริษัทไล่ตนและเพื่อนร่วมชาติรวม 23 คนออก ระบุว่า จะมีตำรวจเข้ามาตรวจ ในตอนแรกพวกตนไม่ยอมออก เพราะบอกว่าออกก็ไปไหนไม่ได้ เนื่องจากทราบข่าวว่าเจ้าหน้าที่ห้ามแรงงานต่างด้าวออกนอกพื้นที่
กระทั่งวันที่ 22 ธ.ค.63 เสมียนของโรงงานเข้ามาพูดคุยกับพวกตน บอกว่าให้ออกไปอยู่ที่ จ.ระยอง ก่อน ให้ออกไปอยู่เฉย ๆ รอสถานการณ์ ส่วนอาหารการกินทางโรงงานจะจัดการให้ทั้งหมด พวกตนจึงยอมไป แต่เมื่อไปถึงพบว่าพื้นที่มีแต่ป่าเขา ต้องอยู่อย่างลำบาก สอบถามคนที่พาไปว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น โรงงานจะรับพวกตนกลับทำงานหรือไม่ อีกฝ่ายบอกว่าไม่รับแล้ว หากมีญาติก็ให้ติดต่อไปอยู่กับญาติ
ทั้งนี้ทำให้แต่ละคนหาวิธีการติดต่อ เพื่อให้ญาติมารับ จนเหลือ 14 คนไม่มีที่ไป ตนไม่รู้จะทำอย่างไร คิดได้ว่ามีญาติในซอยกรีนเลค จึงให้รถตู้ไปส่ง แต่เมื่อไปถึงติดต่อญาติก็บอกว่าให้เข้าไปไม่ได้ เพราะเจ้าของห้องไม่กล้าให้เข้าไปอยู่ด้วย ก่อนที่จะมีคนแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจสอบ
โดยแรงงานทั้งหมด 23 คนที่ออกมาจากโรงงาน แบ่งเป็นนั่งรถเก๋งออกมา 2 คัน รถตู้ 1 คัน รถปาเจโร่ 1 คัน และรถกระบะขนของอีก 1 คัน จุดหมายแรกไป จ.ระยอง และกลับมาส่งหาญาติระหว่างทางจนเหลือเพียงพวกตน 14 คนที่ถูกปล่อยทิ้งวานนี้
นายจอ จอ อายุ 23 ปี แรงงานอีกราย กล่าวว่า ตอนที่ออกมาจากโรงงานตนก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน เพราะไม่มีใครรับ โดยตนรู้จักโรคโควิด-19 แต่ไม่เคยตรวจก่อนหน้านี้ ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะติดโรค เพราะไม่เคยออกไปไหน แต่ละวันก็ตื่นมาทำงาน อยู่ที่โรงงาน เลิกงานเวลา 17.00 น. ก็อยู่ที่ห้อง ส่วนตัวก็กลัวหลังถูกคุมตัว เพราะกังวลว่าจะถูกผลักดันออกนอกประเทศ เนื่องจากอยากทำงานหาเงินต่อ ทั้งนี้ตนมีญาติอยู่ใน จ.สมุทรปราการ แต่ไม่มีใครรับไปอยู่ด้วย เพราะกลัวว่าจะมีปัญหา
ทีมข่าวอมรินทร์ทีวี ลงพื้นที่ไปยังโรงงานดังกล่าว พบว่ามีเจ้าหน้าที่จาก จ.สมุทรสาคร หลายภาคส่วน ทั้งจากจัดหางาน แรงงานจังหวัด กอ.รมน. ทหารและตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ปกครอง ร่วมกันสนธิกำลังเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าแรงงานชุดเมื่อคืนนี้ที่ถูกปล่อยทิ้ง ที่จ.สมุทรปราการ 14 คน มาจากที่นี่หรือไม่ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่โรงงานแห่งนี้ด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ และไม่สามารถให้สัมภาษณ์ได้
นอกจากนี้ทีมข่าวพบว่าบริเวณหน้าโรงงาน มีร้านขายอาหาร และน้ำดื่ม ตั้งอยู่ 2-3 ร้าน โดยทีมข่าวพูดคุยกับ น.ส.เปี๊ยก ขำหิน อายุ 49 ปี เล่าว่า ตนเป็นอดีตพนักงานที่ทำงานโรงงานนี้มาเกือบ 10 ปี และเกิดอยากทำอาชีพอิสระ จึงออกมาขายอาหารหน้าโรงงาน
นางเปี๊ยก ระบุว่า โรงงานแห่งนี้ไม่มีแรงงานเมียนมา มีแต่แรงงานลูกผสมจากทางต่างจังหวัดและเป็นคนไทย คนต่างด้าวไม่มี ตนยืนยันลูกค้าตนไม่มีคนเมียนมามาซื้อ ส่วนที่ว่าแรงงานจากที่โรงงานนี้ถูกนำขึ้นรถไปปล่อยทิ้งที่ จ.สมุทรปราการ ตนไม่ทราบเลยเพราะไม่ค่อยดูข่าว แต่เท่าที่มาซื้อของตนจะมีแต่แรงงานคนไทย ตั้งแต่มีโควิด-19 ระบาด และเริ่มต้นจากพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ตนใช้ชีวิตลำบากขึ้น และกังวลเหมือนกัน แต่ต้องดูแลตัวเองดี ๆ
ต่อมาทีมข่าว เดินข้ามถนนไปสอบถามนาย ธีรพันธ์ พิมพ์สุวรรณ์ อายุ 28 ปี ชาวบ้านที่อยู่ฝั่งตรงข้ามโรงงาน ยืนยันกับทีมข่าวว่า ที่แม่ค้าบอกว่า ไม่มีเมียนมา หรือแรงงานต่างด้าวนั้นไม่จริง เพราะตนอยู่ที่นี่มา 2 ปี มีแรงงานต่างด้าวเยอะ แต่จะอยู่ในส่วนที่พักด้านใน ไม่ค่อยออกมาด้านนอก จะมีก็แค่ออกมา ซื้อของกินหน้าโรงงาน และกลับเข้าไปทำงานด้านใน
ทั้งนี้ตนมองว่าเหตุการณ์ที่แรงงานจากโรงงานนี้ถูกขนขึ้นรถไปปล่อยทิ้งไว้ริมถนน จ.สมุทรปราการ เพราะอาจจะมีการลักลอบออกไป และคิดว่าคงไปช่วงกลางคืน ที่ตนเข้านอนแล้ว จึงไม่ได้สังเกต แต่ในความคิดตน มองว่าไม่ควรขนแรงงานไปปล่อยทิ้งไว้แบบนั้น ทำให้ประเทศไทยเสียหาย และหากมีใครเป็นโควิด-19 ก็อาจจะเดือดร้อน และมองว่าเป็นทางออกที่ไม่ควรทำ ตอนนี้ตนเดือดร้อนใช้ชีวิตลำบาก ต้องดูแลตัวเองดี ๆ หมั่นล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง ทำตามนโยบาย