กรณีแฟนเพจเฟซบุ๊ก "ไทยคู่ฟ้า" โพสต์รูปภาพโรงพยาบาลสนาม พร้อมข้อความระบุว่า "พร้อมแล้ว รพ.สนาม รองรับแรงงานป่วยโควิด-19
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งโรงพยาบาลสนาม
บริเวณตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร เรียบร้อยแล้ว
โดยมีลักษณะเป็น Cohort ward หรือ ห้องที่ใช้รองรับผู้ป่วย
ที่ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ หรือเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรค
รพ.สนามแห่งนี้ จะใช้รองรับแรงงานเมียนมา
ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย
หากรายใดมีอาการรุนแรง ก็จะส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาล
รพ.สนาม แบ่งออกเป็น 3 โซน
โซนสีแดง 📕 คือ บริเวณหอพัก
โซนสีส้ม 📙 คือ จุดรอรักษาและคัดกรอง
โซนสีเขียว 📗 คือ จุดพยาบาลปฏิบัติการ
เบื้องต้นเปิดให้บริการ จำนวน 30 เตียง
คาดว่าจะสามารถจัดเตียงรองรับได้สูงสุด 100 เตียง
ส่วนแผนดำเนินการต่อไป
คือการเจาะเลือดผู้ที่กักตัวครบ 14 วัน เพื่อตรวจหาเชื้อและภูมิต้านทาน
หากมีภูมิต้านทานแล้ว ถือว่าหายป่วย
และจะย้ายให้ไปอยู่ในบริเวณอื่นที่รัฐจัดไว้ให้
#ไทยคู่ฟ้า #รวมไทยสร้างชาติ
ล่าสุดวันที่ 25 ธ.ค.63 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ได้พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบตลาดกลางกุ้ง น.ส.จิรชยา เเฉล้มเขตต์ กล่าวว่า การที่เจ้าหน้าที่ตั้งโรงพยาบาลสนามที่ตลาดกลางกุ้ง ตนไม่รู้สึกหวาดกลัวเเต่อย่างใด เนื่องจากมั่นใจในมาตรการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตนก็อยู่ในพื้นที่ร่วมกับเเรงงานต่างด้าวมานาน จนรู้สึกเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน เเละไม่ได้รู้สึกรังเกียจ โดยเชื่อว่าหากเราดูเเลตัวเองดี เช่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ก็ลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้
ส่วนกรณีชาวบ้านบางพื้นที่ที่มีการต่อต้านการตั้งโรงพยาบาลสนาม ตนมองว่าชาวบ้านบางส่วนอาจยังไม่มีความเข้าใจที่เพียงพอ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
ส่วนกรณีที่จะมีการตั้งโรงพยาบาลสนาม บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัด ตนก็เห็นด้วย เพราะจะสามารถรวบรวมผู้ติดเชื้อให้อยู่ในที่เดียว ซึ่งถึงเวลาเเล้วที่ชาวสมุทรสาครจะต้องช่วยกัน เพื่อให้สถานการณ์โควิด-19 จบลงโดยเร็ว
นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสาคร เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องสถานที่ตั้งโรงพยาบาลสนามได้ เนื่องจากมีชาวบ้านคัดค้านอยู่ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยการกีฬาเเห่งชาติ วิทยาเขตสมุทรสาคร เเม้ตนจะยืนยันชัดเจนว่าทางจังหวัดจะมีมาตรการดูแลชาวบ้าน ทั้งอาหารของใช้ บริการตรวจโควิด-19 ฟรี และมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร แพทย์และพยาบาลคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง แต่ชาวบ้านยังไม่ยินยอม ทางจังหวัดจึงต้องกลับมาคิดเรื่องหาสถานที่อีกครั้ง รวมถึงหลายภาคส่วน เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสม แต่ยืนยันว่าโรงพยาบาลสนาม จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
รองผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสาคร ระบุว่า ขณะนี้ยังคงนำเสนอสถานที่ที่เหมาะสมกับการตั้งโรงพยาบาลสนามให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดฯ พิจารณาอย่างต่อเนื่อง คือ เป็นพื้นที่กว้างสำหรับการตั้งอุปกรณ์และเตียงสนาม มีห้องน้ำในตัว มีรั้วกำแพงปิดพื้นที่ชัดเจน มีห้องพักให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เเละต้องเข้า-ออก ได้ทางเดียว
หากสามารถเลือกสถานที่ได้ก็สามารถสร้างโรงพยาบาลสนามได้ทันที เพราะตอนนี้ทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว จึงต้องเร่งทำความเข้าใจกับชาวบ้านเข้าใจกับมาตรการของสาธารณสุข เเละขอให้ชาวบ้านมั่นใจว่าโรงพยาบาลสนาม จะปลอดภัยเเน่นอน ซึ่งหากทุกคนให้ความร่วมมือ การแพร่ระบาดก็จะจบได้เร็ว
บรรยากาศที่ มหวิทยาลัยการกีฬาเเห่งชาติ วิทยาเขตสมุทรสาคร จุดที่จะมีการสร้างโรงพยาบาลสนาม มาถึงขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากยังมีเสียงคัดค้านจากคนในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านยังยืนกราน ไม่ยอมให้สร้างเด็ดขาด
โดยจุดดังกล่าวมีเเผนจะถูกใช้เป็นสถานที่สร้างโรงพยาบาลสนาม 100 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นเเรงงานต่างด้าว ซึ่งกำหนดเดิมจะมีการสร้างให้เสร็จเมื่อวานนี้ เเล้วเริ่มรับผู้ป่วยวันนี้ เเต่เเผนดังกล่าวต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน
ล่าสุดวันนี้ทีมข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจ พบว่าบริเวณสนามกีฬา สถานที่ที่จะใช้สร้างโรงพยาบาลสนามนั้น ยังไม่มีการก่อสร้างใด ๆ รวมถึงยังไม่มีการขนย้ายอุปกรณ์ทางการเเพทย์เข้ามาในพื้นที่
ส่วนทางมหาวิทยาลัย หลังจากมีการเเพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ปิดการเรียนการสอน เเละงดให้บริการสนามกีฬา สถานที่ออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ เเละอาคารสถานที่ทุกเเห่ง
ทีมข่าวได้สำรวจพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัย พบว่ารายล้อมไปด้วยชุมชน จากการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังรู้สึกหวาดกลัว เเละไม่อยากให้สร้างโรงพยาบาลสนาม เพราะกำแพงโรงพยาบาลสนาม สูงเพียง 2 เมตร และมีเพียงถนนที่ห่างจากชุมนุมเพียงแค่ 6 เมตรเท่านั้น
นางพรรณวิไล มีโพธิ์งาม ชาวบ้านในพื้นที่ บอกว่า เกิดความหวาดกลัว เนื่องจากบ้านของตนอยู่ห่างจากสนามกีฬาเพียง 20 เมตร เเม้จะมีรั้วกั้น เเต่ด้วยความสูงของรั้วเพียง 2 เมตร สามารถปีนได้อย่างง่ายดาย จึงกลัวว่าจะมีผู้ป่วยหลบหนีออกมาจากโรงพยาบาลเเล้วมาเเพร่เชื้อในชุมชน ซึ่งในพื้นที่มีเด็กเเละคนชราเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่มีการเเจ้งหรือทำความเข้าใจกับชาวบ้านล่วงหน้า ซึ่งชาวบ้านเพิ่งจะทราบตอนที่เจ้าหน้าที่นำรถน้ำมาทำความสะอาดสถานที่ จึงเกิดความวิตกกังวลไปต่าง ๆ นานา เช่น ตนไม่ได้นอนทั้งคืน เพราะต้องคอยออกมาชะเง้อดู กลัวว่าจะมีการก่อสร้าง หรือขนย้ายอุปกรณ์ทางการเเพทย์เข้ามา
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (ก.ตร) ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า กรณีมีชาวบ้านต่อต้านการตั้งโรงพยาบาลสนาม จ.สมุทรสาคร ว่า คนไทยไม่เคยแล้งน้ำใจ ตนก็ขอฝากด้วยแล้วกัน ถ้าไม่ให้แก้ตอนนี้แล้วเกิดเหตุการณ์ภายหลังขาดแคลนแรงงาน และหาสถานที่ตวบคุมโควิดไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ตนกังวล