จากกรณีนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัทอิตาเลียน
ไทย เดเวลล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) พร้อมพวก ตกเป็นผู้ต้องหาคดีเข้าป่าล่าสัตว์
ทุ่งใหญ่นเรศวร โดยกรณีที่นายเปรมชัย กล่าวในประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 โดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฆ่าเสือดำ พร้อมมีคนมาให้กำลังใจนั้น เป็นคำถามที่สังคมสงสัยว่า ใครเป็นผู้ที่ไปให้กำลังใจนายเปรมชัย
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ส่วนตัวเชื่อว่า ไม่มีข้าราชคนใดในกระทรวงทรัพยากรฯ ที่เห็นใจ ไปให้กำลังใจนายเปรมชัย อย่างแน่นอน เพราะทางกระทรวงฯ เป็นปฏิปักษ์กับคนที่ทำลายทรัพยากร
ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่กระแสสังคมบอกว่า ให้ภาครัฐยกเลิกการให้สัมปทาน กับทางบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
พล.อ.สุรศักดิ์ ระบุว่า เรื่องนี้ต้องดูที่ข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจของทางกระทรวงทรัพยากรฯ
ขณะที่
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ว่า บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ไม่ควรได้รับงานก่อสร้างใด ๆ จากภาครัฐ จนกว่าผู้บริหารจะแสดงความรับผิดชอบ พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อใน change.org เพื่อเป็นการแสดงออกว่า ประชาชนเจ้าของภาษีอากร ไม่ยินดีที่จะให้เงินของตัวเองไปจ้างบริษัทนี้ จนกว่าบริษัทจะแสดงความรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม โลกออนไลน์ได้มีการเผยแพร่ภาพแผ่นป้ายขนาดใหญ่ ซึ่งติดอยู่ข้างตัวบ้านโดยมีข้อความระบุว่า "ทำร้ายประชาชน บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสถานีวังบูรพา ทำบ้านทรุด แตกร้าวเสียหาย เจรจาหลายครั้งขาดความรับผิดชอบไม่จบเสียที ประกาศหาหน่วยงานหรือองค์กรใดช่วยเหลือที"
วันนี้ (27 เม.ย.) ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี เดินทางไปที่บ้านหลังดังกล่าว ซึ่งอยู่บริเวณสามยอดพลาซ่า ย่านวังบูรพา ถนนมหาไชย เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่อยู่ตามแนวโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน พบว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นอาคารพาณิชย์ สูง 4 ชั้น ที่มีป้ายติดอยู่ พื้นหน้าบ้านทรุดประมาณ 1 เมตร โดยบริเวณกำแพงภายในบ้าน มีรอยแตกร้าวเป็นทางยาว ตลอดทั้ง 4 ชั้น
นางชุติพร บัวเกตุ เจ้าของบ้านนำทีมข่าวสำรวจเพิ่มเติม พบภายในบริเวณฝาบ้านนั้นมีรอยร้าวเป็นทางยาว ตลอดแนว ซึ่งบางรอยร้าวนั้นจะมีแผ่นกระดาษสีขาว ติดขนาดรอยร้าว และวันที่ทางโครงการมาตรวจดูความเสียหาย ขณะที่ประตูที่จะเดินออกไปบริเวณหลังบ้านนั้นก็ไม่สามารถที่จะปิดสนิทได้ เนื่องจากบ้านทรุดตัว ส่วนบริเวณบล็อกแก้วบริเวณด้านหลังบ้านนั้นก็แตกและหลุดออกจากบล็อก ซึ่งในส่วนนี้เจ้าของบ้านได้เปิดเผยว่า ทางโครงการก็มีการเอาแผ่นพลาสติกใสมาติดไว้ให้ด้านนอกบ้าน เพื่อปิดรู
ขณะที่บริเวณชั้น 2 ของบ้านนั้น ก็เกิดรอยร้าวเป็นทางยาว ซึ่งก็มีแผ่นกระดาษสีขาวเขียนติดบอกขนาดรอยร้าว และวันที่ตัวแทนโครงการมาตรวจดูความเสียหาย
โดยชุติพร เปิดเผยว่า โครงการนี้ก่อสร้างมาตั้งแต่ช่วงปี 2556 และตนนั้นได้รับความเดือดร้อนแบบเห็นได้ชัด ช่วงเดือนเม.ย. 60 ได้มีการเจรจากับโครงการที่มารับเหมาหลายรอบ และมีการนัดมาดูความเสียหาย แต่ผู้ดูแลก็มาบ้างไม่มาบ้าง ทำให้ตนเองรู้สึกเบื่อหน่าย
นางชุติพร ยังบอกอีกด้วยว่า ตัวเองเคยร้องเรียนกับรองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เมื่อปี 2560 ซึ่งท่านได้ให้คนเขามาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย แต่ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ส่วนเรื่องการรับผิดชอบความเสียหายนั้น ตนต้องการเพียงหนังสือรับรองว่า บ้านเสียหายเพราะมีการก่อสร้างโครงการ ส่วนป้ายขนาดใหญ่บริเวณบ้านตนเองนั้น นำไปปิดไว้ตั้งแต่ช่วงวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา และต่อมาญาติได้นำไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก เพียงเพราะต้องการให้ได้รู้ว่าตนได้รับความเดือดร้อนมากขนาดไหน
นอกจากนี้ ทีมข่าวอมรินทร์ เดินทางต่อไปที่บริษัท บางกอก โกลด์ บูลเลี่ยน จำกัด ซึ่งเป็นอาคารพานิช 4 ชั้น และระบุว่าได้รับความเดือดร้อนด้วยเช่นกัน โดยจากการสำรวจพบว่า รอยร้าวบริเวณตัวอาคารนั้นมีขาดใหญ่มาก โดยสามารถมองทะลุเห็นคนอีกฝั่งหนึ่งได้ หรือ แม้แต่สามารถเอามือล้วงเข้าไปได้ นอกจากนั้นยังพบว่า บริเวณพื้นถนนหน้าบ้านทรุดลงไปประมาณ 20 ซม.
ขณะที่ภายในบ้านนั้น ประตูหน้าบ้านไม่สามารถที่จะเปิดเข้าไปได้ เนื่องจากตัวบ้านนั้นทรุดลงมา ทำให้ติดกับบริเวณขอบประตู
ในขณะที่บริเวณโซนพื้นที่บริเวณบ้านก็เกิดรอยร้าวขนาดใหญ่และกว้าง ซึ่งสามารถที่จะมองทะลุไปอีกฝากได้ ส่วนที่พื้นบริเวณบ้านนั้นก็เกิดความเสียหาย ซึ่งในส่วนของพื้นบ้านนั้นทางด้านผู้ดูแลโครงการก็มีการมาดูแลและซ่อมแซมให้ แต่ไม่เหมือนสภาพเดิม
นางสุภาพร อิงค์ เจ้าของอาคารนำทีมข่าวสำรวจภายในบ้านนั้น พบรอยร้าวปรากฏความเสียหายอยู่บ้าง แต่ไม่มากเท่าภายนอก โดยนางสุภาพร บอกว่า เวลาฝนตกจะมีน้ำรั่วเข้ามา ทำให้มีน้ำขังในบริเวณบ้าน นอกจากนี้ตนยังได้รับผลกระทบทั้งจากฝุ่นและเสียง แต่ที่หนักสุดคือ บ้านนั้นเกิดรอยร้าวขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งพื้นบริเวณหน้าบ้านก็ทรุด และมีรอยแยก ซึ่งนางสุภาพร ได้นำภาพที่ได้ถ่ายไว้เพื่อยืนยันว่าได้รับผลกระทบจริง
นางสุภาพรยังบอกอีกว่า เมื่อได้แจ้งตัวแทนโครงการให้เข้ามาดู เขาก็ทำเพียงแค่เอาซิลีโคนมาทากันรั่วซึมให้ ส่วนบริเวณพื้นก็มีการซ่อมแซมให้บ้างเล็กน้อย และได้มอบค่าเสียหายเป็นเงิน 1,200 บาท และต้องหาช่างมาซ่อมเองตนจึงอยากเรียกร้องให้ทางรัฐบาลนั้น หาบุคคลที่มีความรับผิดชอบมากกว่านี้มาดูแลโครงการ