จากกรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Mooning Moonoi โพสต์รูปภาพป้ายขนาดใหญ่ ระบุถึงการเรียกร้องให้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีวังบูรพา โดยโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนบริเวณรอบข้าง ส่งผลให้บ้านเรือนเกิดทรุด และมีรอยแตกร้าวขนาดใหญ่
วันนี้ (28 เม.ย.) ทีมข่าวเดินทางมาที่โครงการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสามยอดอีกครั้ง หรือชื่อเก่า สถานีรถไฟฟ้าวังบูรพา ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ตั้งแต่บริเวณแยกสามยอด จุดตัดกับถนนมหาไชย จนถึงแยกอุณากรรณ โดยพบว่า พื้นที่โครงการที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าอยู่บนถนน โดยแบ่งเลนถนนอีก 2 เลนไว้สำหรับรถวิ่งผ่าน ซึ่งจุดก่อสร้างรถไฟฟ้า ส่งผลให้บ้านเรือนโดยรอบกว่า 30-40 หลังคาเรือนได้รับผลกระทบ ซึ่งนอกจากบ้านเรือนที่อยู่ติดกับโครงการก่อสร้างจะได้รับผลกระทบแล้ว ห่างจากจุดก่อสร้าง 10 เมตร มีเลนถนนคั่นกลางก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
ทีมข่าวจึงเดินทางมาพูดคุยกับชาวบ้านที่อาคารพาณิชย์หลังหนึ่ง ซึ่งเปิดเป็นร้านหอแว่น ห่างจากจุดก่อสร้างมาประมาณ 20 เมตร โดย
นางสาวแสงทอง ส่องศรี พนักงานร้านหอแว่น เล่าว่า ร้านแห่งนี้จะออกแบบด้านล่างให้เป็นที่สำหรับต้อนรับลูกค้า ส่วนด้านบนเป็นที่พักอาศัย ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 แต่เริ่มมีรอยแตกร้าวภายในบ้านตั้งแต่ปลายปี 2560 นอกจากนี้ ยังพบว่าที่พื้นมีรอยแยกออกจากกัน จนกลายเป็นพื้นต่างระดับทำให้ปิดประตูบ้านไม่ได้
ทั้งนี้ วิศวกรของโครงการได้เข้ามาตรวจพื้นที่ภายในบ้านแล้ว แจ้งว่ายังไม่เกิดปัญหาหรืออันตรายใดๆ สามารถอยู่อาศัยต่อได้ จากนั้นก็มีช่างมาดำเนินการปะรอยผนังและรอยพื้น รวมถึงทาสีให้ใหม่ที่ชั้นล่าง เนื่องจากชั้นล่างต้องเปิดร้านไว้บริการลูกค้า ทางเจ้าหน้าที่โครงการจึงดำเนินการแก้ไขเฉพาะหน้าให้ก่อน ส่วนบริเวณรอยแตกร้าวที่ชั้น 2 ยังไม่มีช่างมาทำให้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะรอให้การก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยก่อน จึงจะมาแก้ไขให้ใหม่ ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือไม่
คุณแสงทอง ยอมรับว่า รอยร้าวตามพื้นและผนังกำแพง ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการค่อนข้างตกใจ เพราะกลัวว่าจะเกิดอันตราย ส่วนตนก็รู้สึกกลัวเช่นเดียวกัน ส่วนตัวคิดว่ามีความเสี่ยงที่อาคารจะถล่ม อีกทั้งเวลาก่อสร้างก็เกิดแรงสั่นสะเทือน จนทำให้พนักงานนอนไม่หลับ รวมถึงเวลาฝนตกหนักก็จะมีน้ำรั่วซึมลงมาในห้องน้ำ และห้องวัดสายตา
อย่างไรก็ตาม ตนคาดว่าโครงการจะก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี 2562 ซึ่งกว่าจะได้รับการแก้ไขรอยร้าวต่างๆ คาดว่าน่าจะเป็นหลังจากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงอยากวิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้คำตอบที่ดีในการแก้ไขว่า บ้านหรืออาคารจะกลับมาเป็นแบบเดิมหรือไม่
ต่อมาทีมข่าวเดินทางไปพูดคุยกับ
นายเจริญ อิงคสารมณี เจ้าของร้านทองเจริญ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับจุดก่อสร้าง และห่างเพียง 10 เมตร ทราบว่า บ้านมีรอยแตกร้าว และอยู่ระหว่างการฟ้องร้องโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งนายเจริญได้พาทีมข่าวเดินดูบริเวณด้านหลังบ้านทั้งหมด พบว่ามีรอยพื้นแตกแยกออกเป็น 2 ซีก บริเวณเสาบ้านมีรอยแตกร้าวขนาดใหญ่และทะลุออกเป็นช่องโหว่ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ตามกำแพงก็มีรอยร้าวและรอยแตก รวมถึงประตูบ้านบางบาน ประตูกระจกไม่สามารถปิดได้สนิท เพราะพื้นเกิดรอยร้าวแล้วทำให้พื้นห่างออกจากกัน ประตูจึงปิดไม่ได้ โดยพื้นที่ของบ้านมีเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา
นายเจริญ เปิดเผยว่า ตนเองได้ดำเนินคดีกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าปีที่แล้ว เนื่องจากทางโครงการแจ้งว่าจะรับผิดชอบซ่อมแซมแก้ไข แต่ทางตนและครอบครัวเห็นว่าทางเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาตรวจสอบหลายรอบแต่ไม่ได้แก้ไขอะไรมากนัก มีเพียงการนำปูนมาฉาบทับให้ใหม่ ซึ่งงานแก้ไขค่อนข้างไม่เรียบร้อย ตนจึงไม่ไว้ใจให้ช่างจากโครงการเข้ามาดำเนินการ จึงตกลงกันว่าจะประเมินค่าเสียหาย แล้วตนจึงจะไปจ้างช่างฝีมือมาแก้ไขเอง ซึ่งทางโครงการตกลงว่าจะจ่ายแต่สุดท้ายก็ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข โดยอ้างกับตนว่าจะให้เจ้าหน้าที่มาดูอีก ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องซ้ำซาก จึงจะดำเนินการฟ้องร้อง และขณะนี้เรื่องก็ได้ไปถึงศาลแล้ว
ทั้งนี้ มูลค่าความเสียหายของบ้านตนน่าจะมากที่สุด เมื่อเทียบกับบ้านเรือนหลังอื่น ตนคาดว่ามูลค่าความเสียหายน่าจะถึงหลักล้าน ส่วนเงินที่ทางโครงการจ่ายมาให้ตนในช่วงแรก เป็นจำนวนเงินมูลค่า 1,200 บาทนั้น เป็นเงินที่ทางตนไปเบิกค่าซ่อมประตูกระจกหน้าบ้าน เพราะพื้นทรุด จึงทำให้ประตูเปิด-ปิดไม่ได้ ตนจึงไปเรียกช่างมาซ่อมแซมแล้วนำบิลไปเบิก ซึ่งกว่าจะได้เงินก็ล่วงเลยไปหลายเดือน และดำเนินการหลายขั้นตอนมาก กว่าที่ตนจะได้รับเงินจำนวนนี้
นายเจริญ ระบุว่า จำนวนบ้านที่ได้รับความเสียหาย คาดว่ามีหลายสิบหลังคาเรือน และส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่โครงการจะมาดำเนินงานฉาบปูนใหม่ให้ ซึ่งเจ้าของบ้านก็ไม่ได้พอใจนัก แต่ต้องทนรับสภาพแบบนี้ต่อไป แต่ก่อนตนเคยได้พูดคุยกับวิศวกรโครงการนี้ รวมถึงเจ้าหน้าที่กว่า 10 คน ซึ่งก็ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขอะไรให้ เมื่อรู้สึกทนไม่ไหวจึงออกมาฟ้องร้องด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ เมื่อก่อนตอนสร้างบ้านใหม่ๆ บ้านของตนเคยมีถังน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ และเดินท่ออยู่ใต้ดิน แต่พอมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ทำให้ค่าน้ำเพิ่มเป็นหลักพันบาท แต่ทางโครงการแจ้งว่าไม่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ทั้งที่ตนมองว่าเป็นผลกระทบจากส่วนนั้น เมื่อแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ตนจึงจำเป็นต้องตัดถังน้ำทิ้ง และเดินท่อใหม่
นายเจริญ กล่าวอีกว่า การที่มีรถไฟฟ้าหน้าบ้าน อย่าดีใจว่าบ้านเราเจริญแล้ว การที่ตนมาเรียกร้องแบบนี้ก็ไม่ได้รู้สึกกลัว เพราะตนอยากให้สังคมรับรู้ว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้า ทำให้คนในบริเวณโดยรอบได้รับความเสียหาย ซึ่งควรจะได้รับการแก้ไขจาก รฟม. หรือกระทรวงคมนาคม เพราะผู้รับเหมาไม่รับผิดชอบ ตนมองว่าหากผู้รับเหมารายใดที่ไม่มีความรับผิดชอบ ก็ไม่สมควรหรือมีสิทธิ์ที่จะไปประมูลงานก่อสร้างใดๆ ของภาครัฐต่อไป เพราะประวัติของเขานั้น ทำงานแย่และไม่รับผิดชอบ การไปเริ่มสร้างโครงการใหม่ก็อาจส่งผลให้ประชาชนได้รับความเสียหายเช่นเดียวกันกับตน