จากกรณีโลกโซเชียลแชร์ภาพและข้อความ เรื่องของหญิงรายหนึ่งตั้งตนเป็นหมอรักษานก ซึ่งมีนกหลายตัวที่เสียชีวิตจากการรักษา เมื่อมีคนไปเตือน ก็ถูกตำหนิและขับไล่กลับมา ด้านหญิงสาวที่ถูกกล่าวอ้าง เปิดใจกับอมรินทร์ ทีวี วานนี้ (7 พ.ค.) ว่าไม่ใช่หมอจริง แต่เป็นคนรักนก และศึกษาวิธีการดูแลนกมาเป็นอย่างดี (อ่าน :
เปิดใจ! เจ้าของบ้านนก ลั่นไม่ใช่หมอ แต่ผ่าตัดไม่มั่ว – “หมอวี” ฉะ ด้ายเย็บผ้าทำแผลสัตว์ผิด )
วันนี้ (8พ.ค.)
รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย ปานเทพ รัตนากร นายกสมาคมสัตวแพทย์สวนสัตว์ และสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ใครจะรักษานกได้ ก็ต้องคำนึงถึงความถูกต้องก่อน จะต้องมีกฎหมายควบคุม อะไรที่ทำผิดตั้งแต่แรกก็คือจบ ส่วนการเลี้ยงนกนั้น จะต้องดูว่านกแต่ละชนิดกินอะไร ส่วนการรักษานก จะต้องเป็นคนที่เรียนมา ซึ่งการเรียนสัตวแพทย์เรียน 6 ปี เทียบเท่ากับการเรียนหมอทั่วไป แต่คนที่ไม่ได้เรียนมา การที่จะมาทำอย่างนั้นมันไม่ได้ คนที่เรียนแพทย์มาเค้าก็ไม่ทำกัน แล้วการจะทำอะไรกับนก กับสุนัข หรือสัตว์ทุกชนิด จำไว้ว่าจะต้องทำเหมือนกับคน
นอกจากนี้ การจะรักษานก จะต้องดูด้วยว่าจะต้องรักษาเบื้องต้น หรือรักษาระยะยาว หรือรักษากรณีฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องพิจารณา 3 ประเด็นคือ ความถูกต้องเชิงวิชาการ กฎหมาย และจริยะธรรม และในกรณีที่จะรักษานก แต่ไม่มีใบอนุญาต ก็ไม่สามารถที่จะกระทำได้ จะมีความรู้ หรือรักนก ก็เข้าข่ายทำความผิดอยู่แล้ว
ทั้งนี้การที่จะเอาสัตว์ไปรักษานั้น จะต้องดูองค์ประกอบให้ครบถ้วน เพียงแค่บอกว่ารักนก รักสัตว์ และอยากที่จะรักษาสัตว์ ซึ่งในทางกลับกัน ถ้าลูก พี่ น้อง หรือครอบครัวเจ็บป่วย ยังจะทำเช่นเดียวกับที่รักษานกหรือไม่