กทม.แจงกดค่าโดยสาร "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ได้ต่ำสุด 104 บาท ชี้หาก ครม.เห็นชอบให้แก้สัมปทาน เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน จะทำให้ค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 65 บาท
กรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่งหนังสือชี้แจงเรื่องการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมด มีเนื้อหาดังนี้
สืบเนื่องจากการเปิดให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ และหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต ที่ทยอยเปิดให้บริการเดินรถตั้งแต่ วันที่ 3 เมษายน 2561 และเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยในช่วงทดลองให้บริการซึ่งยังไม่มีการเดินรถเต็มรูปแบบ ไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปีมาแล้ว เนื่องจาก กทม. ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน
บัดนี้ เมื่อมีการเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบแล้ว ประกอบกับ กทม. มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการในส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 โดยผู้ใช้บริการในส่วนหลัก ช่วงหมอชิต–อ่อนนุช จะไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงเสียค่าโดยสารในอัตราเดิม และจะไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนกันระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก (หมอชิต–อ่อนนุช และสะพานตากสิน–สนามกีฬาแห่งชาติ) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ช่วงสะพานตากสิน–บางหว้า และอ่อนนุช–แบริ่ง และช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ และหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต) โดยประชาชนจะจ่ายค่าแรกเข้าสำหรับการใช้บริการโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพียงครั้งเดียวต่อรอบ ปรากฏตามตารางด้านล่างนี้
ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารของโครงการสายสีเขียวสูงสุดตลอดสายจะอยู่ที่ 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 กทม. จะปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายอยู่ที่ 104 บาท ซึ่ง กทม. จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท เมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2572 จะมีผลขาดทุนถึงประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท รายละเอียดปรากฏตามตารางเปรียบเทียบด้านล่างนี้
ตลอดเวลาที่ผ่านมา กทม. ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว โดย กทม. ได้พยายามหาทางแก้ไข รวมถึงศึกษาแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ ซึ่ง กทม. เห็นว่าแนวทางการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) เป็นแนวทาง ที่เหมาะสมและดีที่สุดในการที่จะมาแก้ปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยจะให้เอกชนเข้ามารับภาระหนี้สินของ กทม. เพื่อที่จะทำให้ กทม. สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนจนเกินสมควร และจะทำให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่ปลอดภัย สะดวก และมีประสิทธิภาพอยู่เหมือนเดิม
โดยในปัจจุบันนี้ กทม. อยู่ระหว่างการนำเสนอแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากมีการเห็นชอบแล้ว การแก้ไขสัญญาสัมปทานนี้จะช่วยลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจาก 104 บาท เป็น 65 บาท ลดลง 39 บาท และแก้ไขภาระหนี้สินกว่า 120,000 ล้านบาทของ กทม. ได้ ซึ่งประกอบด้วย
• ภาระหนี้สินเดิมที่เกิดขึ้นจากการรับโอนโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งในส่วนเงินต้นค่างานโยธาที่ประมาณ 55,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยในอนาคตอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท
• ค่าลงทุนในงานระบบ (E&M) ในส่วนต่อขยายที่ 2 ประมาณ 20,000 ล้านบาท
• ภาระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถค้างจ่าย อีกประมาณ 9,000 ล้านบาท
• ภาระผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2572 รวมอีกประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ เอกชนยังต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารหลังปี 2572 ให้ กทม. อีกกว่า 200,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งเพิ่มเติมในกรณีที่ผลประกอบการจริงดีกว่าที่คาดการณ์ตอนเจรจา
กทม. ยืนยันว่า ภายใต้อำนาจของ กทม. จะพยายามแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างดีที่สุด เพื่อให้ลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดย กทม. จะอธิบายถึงเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับจากการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อรัฐบาล เพื่อที่จะให้สามารถปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสาย ลดลงมาเหลือ 65 บาท โดยเร็วที่สุด