"พุทธิพงษ์" โต้ทีมพัฒนาแอปฯ "หมอชนะ" ถอนตัว

17 ม.ค. 64

กระทรวงดิจิทัลฯ แจงแอปฯ "หมอชนะ" ไม่ละเมิดข้อมูล แจงดราม่า ทีมพัฒนาแอปฯ จ่อถอนทีม ลือโดนบิ๊กในรัฐบาลกดดัน

วันที่ 17 ม.ค. 2564 เพจฯ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยืนยันทีมพัฒนาแอปฯ "หมอชนะ" ไม่ได้ถอนตัวอย่างที่มีกระแสลือออกมา

ทั้งนี้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ชี้แจงว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังร่วมกันทำงาน ทั้งกลุ่มผู้พัฒนาแอป และ สพร. เพื่อให้การใช้งานเป็นไปอย่างราบรื่น การปรับปรุงแอปล่าสุดหลังจากถ่ายโอนการดูแลให้รัฐฯคือ เพิ่มความมั่นใจเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล โดยให้ทีมผู้พัฒนาตัดฟังชั่นการทำงานของแอปหมอชนะออกหลายจุด เพื่อให้ใช้งานง่าย และไม่ลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"หมอทวีศิลป์" แจงเพิ่ม เบรกดราม่า ไม่โหลดแอปฯ หมอชนะ อาจติดคุก
ยกเลิกแล้ว เอาผิดผู้ติดโควิด-19 ไม่โหลดแอปฯ "หมอชนะ"
โลกออนไลน์ร้อนทันที #หมอชนะ พุ่งปรี๊ดเทรนด์ทวิต อัดศบค.ข่มขู่ประชาชน
-
 เปิดวิธีใช้แอปฯ "หมอชนะ" โหลดติดมือถือไว้ไม่ติดคุก!

นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่าปัจจุบันกลุ่มผู้พัฒนาแอป “หมอชนะ” ได้แก่ กลุ่ม Code For Public และกลุ่มทีมงานอาสาหมอชนะ Mor Chana Volunteer Team ได้มีการส่งต่อ “หมอชนะ” จากกลุ่มอาสาสมัครมาสู่การกำกับดูแลจากทางรัฐบาลอย่างเต็มตัวแล้ว เนื่องจากหลังการนำมาใช้งานเพื่อรับมือการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นการระบาดในประเทศที่รุนแรงกว่ารอบแรก ทำให้ปริมาณผู้ใช้งานจากประชาชนทั่วไปเพิ่มมากขึ้น ทาง ศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จึงได้ให้ผู้พัฒนาปรับปรุงโดยยกเลิกการขอข้อมูลส่วนบุคคลในการลงทะเบียน เช่น ชื่อ-เบอร์โทรศัพท์ออก ไม่ให้มีการได้มาหรือเก็บข้อมูลนั้นไว้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ นอกจากนั้นยังตัดฟังก์ชั่นการทำงานของแอปหมอชนะออกหลายจุด เพื่อให้ใช้งานง่าย และไม่ลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน โดยมีการใช้งานเพียงการตรวจสอบหาบุคคลที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับผู้ติดเชื้อเพื่อแจ้งเตือนเท่านั้น

"การพัฒนาแอปหมอชนะ เกิดจากการร่วมมือกันของอาสาสมัครที่อยากให้มีแอปพลิเคชั่นในลักษณะติดตามตัวผู้ใช้งาน เพื่อมาช่วยในการควบคุมการระบาดของโควิด -19 โดยมีการพัฒนามาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยดีอีเอส ได้ตรวจสอบแล้วว่ามีความมั่นคงปลอดภัยและไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล จึงได้ให้การรับรองและมอบหมายให้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) เป็นผู้ดูแล และสนับสนุนพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในคลาวด์ของ สพร. รวมทั้งตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลมาตรวจสอบด้วย ซึ่งแอปหมอชนะได้มีการใช้งานแล้วในกลุ่มภาคเอกชน บริษัท โรงงานต่างๆ มาระยะหนึ่ง" นายพุทธิพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเกิดการระบาดรอบใหม่ในประเทศ และรัฐบาลต้องการควบคุมมาตรการเข้มงวดเฉพาะจุดในพื้นที่การระบาด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของประชาชนในวงกว้าง จึงเห็นความจำเป็นให้นำแอปหมอชนะมาใช้ติดตามผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ เพื่อให้เข้ามารับการตรวจสอบ

โดยในการนำหมอชนะมาให้ประชาชนใช้ นอกจากเพิ่มการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลแล้ว บางฟังก์ชั่นการใช้งานรวมถึงการจัดระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลไม่ได้นำมาใช้ ทำให้มีผลต่อองค์กรที่ใช้งานแอปหมอชนะมาก่อนหน้านี้ สามารถใช้งานได้น้อยลง
"ดังนั้นกลุ่มอาสาสมัครผู้พัฒนาแอปหมอชนะ จึงได้ออกคำชี้แจงเพื่อให้ทุกคนทราบว่าได้มอบแอปนี้ให้รัฐบาลนำไปใช้งานแล้ว ไม่ได้อยู่ในความดูแลของกลุ่ม โดยทางกลุ่มยังให้การสนับสนุนการใช้งานของรัฐบาลต่อไป" นายพุทธิพงษ์กล่าว

รมว.ดีอีเอส กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังร่วมกันทำงาน ทั้งกลุ่มผู้พัฒนาแอป และ สพร. เพื่อให้การใช้งานเป็นไปอย่างราบรื่น และเพื่อรองรับปริมาณผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้คลาวด์เก็บข้อมูลที่ สพร. เริ่มไม่พอมาตั้งแต่ต้นปีนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ จึงต้องให้ใช้คลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT มารองรับในการเก็บข้อมูล

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า การใช้งานของแอปหมอชนะนั้น ศบค. และ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล กระทรวงดิจิทัลฯ และ สพร. ซึ่งรับผิดชอบในการทำงานของแอปพลิเคชั่นด้านเทคนิค ก็กำกับดูแลตามหลักการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่ดาวน์โหลดหมอชนะ เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง

โดยเมื่อเย็นวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก Code for Public และเพจเฟซบุ๊ก ทีมงานอาสาหมอชนะ Mor Chana Volunteer Team ได้ออกแถลงการณ์การส่งต่อแอปหมอชนะ จากกลุ่มอาสาสมัครไปสู่การกำกับดูแลจากทางรัฐบาลอย่างเต็มตัว โดยส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุว่า กลุ่มผู้พัฒนาจะไม่ได้เป็นผู้ดูแลแอปหมอชนะอีกต่อไปอย่างเป็นทางการ และทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามที่ทางทีมผู้พัฒนาวางแผนกันไว้ว่าจะดูแลเพียงส่วนของโปรแกรมระบบเปิดในการพัฒนา (Open Source) ซึ่งหลังจากนี้ก็จะยังพัฒนาโอเพ่นซอร์สตัวเดิมต่อไป และเมื่อดูจากแถลงการณ์ในข้อที่ระบุว่า "การดำเนินการการส่งต่อให้รัฐบาลครั้งนี้ คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลเป็นสำคัญเช่นเดิม ดังนั้นข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนอย่างเช่นเบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกลบทิ้งออกจากฐานข้อมูล รวมถึงตัวแอปได้ปิดฟีเจอร์ ยืนยันตัวตนเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เวอร์ชัน 2.0.1 ทำให้ผู้ใช้ใหม่จะไม่มีวิธีในการใส่เบอร์โทรตัวเองเข้าระบบอีกต่อไป" จะเห็นว่าทางกลุ่มผู้พัฒนาได้ดำเนินการตามคำร้องขอของรัฐบาลแล้ว เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม