รองนายกฯ เผย "เราชนะ" จ่ายค่าเช่าบ้าน แท็กซี่ วิน จยย.ได้ แจงไม่แจกเงินสด กลัวโควิดติดมากับแบงก์-กระตุ้น ศก.ฐานราก หวังสร้างสังคมไร้เงินสด
วันนี้(21 ม.ค.64) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรมว.พลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงกรณีการใช้จ่ายผ่านโครงการ “เราชนะ” ระบุครั้งนี้จะเปิดกว้างให้เป็นบริการทั่วไปได้ ซึ่งรวมถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ และอื่นๆ หากจะจ่ายค่าเช่าบ้านก็สามารถให้ผู้รับเงินเปิดแอปฯ ถุงเงิน เพื่อให้เราใช้เงินในแอปฯ "เป๋าตัง" จ่ายได้ โดยระบุ แม้ไม่มีสมาร์ทโฟนก็สามารถใช้ “เราชนะ” ได้ มีคนเป็นห่วงว่าประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน จะไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิในโครงการเราชนะ
ตอนที่เราทำแผนกันทีมงานคิดละเอียดทุกเรื่องเพื่อไม่ให้คนที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือตกหล่นไป เราได้วางรูปแบบไว้แล้วว่าแม้จะไม่มีสมาร์ทโฟนก็สามารถใช้ “เราชนะ” ได้ ทั้งนี้เราดูจากผลสำรวจเรื่องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่าประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 56.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 89.6 ของประชากรที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน เข้าถึงอินเทอร์เน็ตค่อนข้างสูงคือร้อยละ 96.4
สำหรับประเด็นนี้ กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.8 ล้านคน ซึ่งไม่ต้องลงทะเบียนเราชนะ แต่จะได้รับเงินโอนเข้าบัตรโดยตรง
คนที่อาจไม่มีบัตรสวัสดิการและไม่มีสมาร์ทโฟน เราก็ได้ประสานงานกับธนาคารของรัฐที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศให้ช่วยอำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มนี้ลงทะเบียนได้ ซึ่งได้รับการยืนยันมาแล้วว่าทำได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดไทม์ไลน์ "เราชนะ" แต่ละกลุ่มลงทะเบียน-รับเงิน วันไหนบ้าง?
- มือถือรุ่นไหน ลงทะเบียนใช้ "เราชนะ" ได้บ้าง?
- รองนายกฯ แจง "เราชนะ" ไม่แจกเป็นเงินสด หวั่นประชาชนซื้อเหล้า เข้าบ่อน
- "เราชนะ" ใช้นั่ง "แท็กซี่-วิน จยย.-ตุ๊กตุ๊ก" ได้! ลงทะเบียน 29 ม.ค.นี้
ทั้งนี้ ก็เพราะเราได้วางรูปแบบให้มีเวลาลงทะเบียน 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ ดังนั้นคนที่มีสิทธิตามเงื่อนไขโครงการ เช่น ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม มีรายได้พึงประเมินไม่เกิน 3 แสนบาท ฯลฯ จะมีเวลาพอที่จะไปรับความช่วยเหลือในการลงทะเบียน
มีคำถามอีกว่าทำไมไม่จ่ายเงินเข้าบัญชี แล้วให้ถอนเป็นเงินสดได้จะได้ใช้จ่ายเงินได้ตามใจชอบ เรื่องแรกเลย คือ เรากำลังอยู่ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 การสัมผัสธนบัตรจึงเป็นเหตุที่อาจทำให้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ ไม่เพียงเท่านั้น เรายังคิดถึงเรื่องการลดความแออัดของประชาชนจำนวนมากที่จะไปต่อคิวกดเงินสดออกจากตู้ ATM ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสนับสนุนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของกระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนี้ เหตุผลสำคัญอีกประการก็คือ ความต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า และให้เงินหมุนเวียนอยู่ในชุมชนเพราะร้านค้าที่รับซื้อหรือรับบริการจะเป็นร้านเล็กๆ เรามีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือคนตัวเล็ก และให้เงินหมุนหลายรอบในระบบเพื่อช่วยเหลือการใช้เงินในชีวิตประจำวันของคนตัวเล็กให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
และครั้งนี้จะเปิดกว้างให้เป็นบริการทั่วไปได้ ซึ่งรวมถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ และอื่นๆ ฯลฯ คนที่จะจ่ายค่าเช่าบ้านก็สามารถให้ผู้รับเงินเปิดแอปฯ ถุงเงิน เพื่อให้เราใช้เงินในแอปฯ เป๋าตัง จ่ายได้ หรือแม้แต่นำเงินสดที่ประหยัดได้จากการใช้วงเงินเราชนะ ที่นำไปใช้จ่ายในส่วนนั้นได้
สิ่งที่เป็นประโยชน์มากอีกอย่างก็คือ การสร้างสังคมไร้เงินสดซึ่งโครงการคนละครึ่งเริ่มต้นไว้ แล้ว “เราชนะ” ก็มาทำให้ต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งอนาคตเราหนีเรื่องนี้ไม่พ้น
อย่างไรก็ดี ผมขอขอบคุณสำหรับคำถาม ข้อสงสัยต่างๆ ทำให้เรามองเห็นเรื่องที่อาจเป็นปัญหา หรือที่เราอาจมองข้ามไป เราจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อที่ประเทศไทยจะเดินต่อได้ วันนี้พวกเราต้องร่วมมือกัน