“โควิด19” สะท้อนความต้องการ 5 นวัตกรรมทางการแพทย์ ย้ำ 3 มาตรการพาไทยรอด

8 ก.พ. 64

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธาน มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ และ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า “โควิด-19” ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่กระตุ้นเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงวิกฤตสุขภาพและความสำคัญของ “นวัตกรรมทางการแพทย์”

ซึ่งที่ผ่านมา สจล. โดยศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 ได้ร่วมขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าว พร้อมส่งมอบนวัตกรรมถึงทีมแพทย์เป็นจำนวนกว่า 300 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 66 จังหวัด และ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นจำนวนมากกว่า 800 ชิ้น โดยนวัตกรรมที่ สจล. ได้ดำเนินการส่งมอบสูงสุด 5 อันดับแรก มีดังนี้

• ตู้ตรวจเชื้อความดันบวก (Swab test positive pressure) ตู้ตรวจเชื้อความดันบวก ลดความเสี่ยงของการรับเชื้อของ บุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุข ขณะลงพื้นที่ตรวจคัดกรองโรคประชาชน โดยตู้จะผลักอากาศภายในตู้ออกสู่ภายนอก และเติมอากาศบริสุทธิ์ที่กรองเชื้อแล้วเข้าตู้ เชื้อโรคจะถูกกรองทิ้ง

• ตู้ตรวจเชื้อความดันลบ (Swab test negative pressure) ตู้ตรวจเชื้อความดันลบ ลดโอกาสผู้ป่วยแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นหรือชุมชน โดยที่ผู้เสี่ยงติดเชื้อเข้าไปอยู่ด้านใน และให้ทีมแพทย์ ทำการสอดมือเข้าไปในช่องเพื่อทำการตรวจหัตถการ ซึ่งภายในตู้ดังกล่าว ได้รับการติดตั้งระบบกรองอากาศและฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV-C ทั้งนี้ ตู้ดังกล่าว จะดูดอากาศภายในตู้ผ่านเครื่องกรองอากาศ เพื่อทำลายเชื้อ แล้วจึงปล่อยอากาศออกสู่ภายนอก เมื่อผู้ป่วยอยู่ในตู้หายใจหรือไอออกมาเชื้อจะถูกดูดเข้าไปทำลาย จึงไม่แพร่เชื้อออกมาสู่คนอื่น

• รถตู้ตรวจเชื้อ (Mobile Swab test) รถตู้ความดันบวก ที่มาพร้อมระบบกรองอากาศ เสริมเกราะป้องกันแพทย์ติดโควิด ทำหน้าที่เสมือนสายตรวจคัดกรองโรคเคลื่อนที่ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อระหว่างการสอบสวนโรค ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น

• ชุด PAPRs หน้ากากป้องกันเชื้อแบบสวมศีรษะ ในลักษณะคล้ายหมวกกันน็อค เสริมด้วยผ้าสะท้อนน้ำคลุมมาถึงบริเวณไหล่แบบมิดชิด ซึ่งภายในจะมีความดันบวก นอกจากนี้ ยังมาพร้อมระบบกรองอากาศและมอเตอร์พัดลม ช่วยทำหน้าที่ถ่ายเทอากาศภายในขณะแพทย์สวมใส่

• เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติ (Emergency Transport Ventilator – KNIN II) เครื่องช่วยหายใจในภาวะฉุกเฉิน ขนาดเล็กพกพาสะดวก มาพร้อมความสามารถในการช่วยปรับระดับอากาศที่เหมาะสมต่อการหายใจผู้ป่วย แบบอัตโนมัติ โดยที่แพทย์ไม่ต้องออกแรงบีบมือต่อเนื่อง หนุนลดการสัมผัสระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย

รศ. นพ.ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์ รักษาการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMC Hospital) และรองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และเทคโนโลยีสุขภาพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการสำคัญที่พาคนไทยฝ่าทุกวิกฤตสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรณีที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปทำงาน หรือไปเรียนยังสถานที่ต่าง ๆ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

1. หมั่นล้างมือ ด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์ 75% ทุกครั้งหลังหยิบ จับ บริเวณที่มีผู้สัมผัสบ่อย อาทิ ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์

2. สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ขณะเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีผู้คนหนาแน่น

และ 3. เว้นระยะห่าง (Social Distancing) อย่างน้อย 1-1.5 เมตร เพื่อป้องกันและลดการแพร่กระจายเชื้อระหว่างบุคคล.

 

 

 

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวประชาสัมพันธ์ เป็นกระแส