กระทรวงสาธารณสุขดัน กัญชา เป็น Product Championสู่อุตสาหกรรมสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจ ตั้งเป้าผลิตยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประเดิมจับคู่ 29 บริษัทผู้ผลิตยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูก คาดสร้างรายได้ 150 ล้านบาท กำหนดเป็นระบบบริการสุขภาพสาขาที่ 20 เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชา
วันนี้ (11 มีนาคม 2564) ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมแถลงข่าวการพัฒนากัญชาเพื่อเศรษฐกิจไทย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการกัญชาในอุตสาหกรรมสุขภาพและการจับคู่เจรจาธุรกิจส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด
นายอนุทินกล่าวว่า ในสายตาประชาคมโลก กัญชา เป็นสมุนไพรที่มีค่าและให้การยอมรับมากขึ้น ปัจจุบันตลาดกัญชาที่ถูกกฎหมายมีมูลค่า 17.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5 แสนล้านบาท อัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 17โดยกัญชาในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพสร้างรายได้สูงถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าทั้งหมด รัฐบาลเล็งเห็นว่า กัญชาเป็นทางออกทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกร อุตสาหกรรม ธุรกิจ และประชาชน จึงได้ส่งเสริมให้พัฒนากัญชาแบบครบวงจร (Product Champion) ตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นทางเกษตรกรผู้ปลูก, กลางทางคือผู้ผลิต และปลายทางคือผู้ขายและประชาชน มีเป้าหมายต่อยอดกัญชาสู่การสร้างเศรษฐกิจประเทศ 3 ด้าน ได้แก่ ยาแผนไทยผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า วันนี้นับเป็นก้าวย่างสำคัญจากการพัฒนากัญชาทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ได้ขยายไปสู่อุตสาหกรรมสุขภาพร่วมกับภาคเอกชน ผู้ผลิตที่มีศักยภาพ และวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกที่มีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพรเดี่ยว และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเข้าร่วม 29 บริษัท มีความต้องการวัตถุดิบกัญชารวมกันมากกว่า 30 ตัน ส่วนผู้แทนวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชาคุณภาพและถูกต้องตามกฎหมาย 5 กลุ่ม จาก 6 จังหวัด เป็นผู้แทนกลุ่มเกษตรกรมากกว่า 50 กลุ่ม รวมพื้นที่ปลูกกัญชามากกว่า 60 ไร่ การจับคู่เจรจาวัตถุดิบกัญชาครั้งนี้คาดมีมูลค่ามากกว่า 150 ล้านบาท ความคาดหวังว่า กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจจึงมีความเป็นไปได้สูง
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้บริการกัญชาทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 2562 นำไปใช้ในผู้ป่วย เช่น โรคลมชัก พาร์กินสัน มะเร็งระยะสุดท้าย เข้าถึงการรักษา ด้วยกัญชามากขึ้น นอกจากนี้ ได้แก้ไขกฎกระทรวงปลดล็อกชิ้นส่วนต่างๆ ของกัญชาไม่เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 เพื่อนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และในปี 2564 ได้บรรจุกัญชาทางการแพทย์เป็นแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) สาขาที่ 20 เพิ่มโอกาสการเข้าถึงในการรักษาโรคปัจจุบันเปิดให้บริการกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลในสังกัดฯ 700 กว่าแห่งทั่วประเทศ มีผู้มารับบริการมากกว่า 65,000 ราย รวมกว่า 100,000 ครั้ง โดยตั้งเป้าให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในทุกพื้นที่ และยังกำหนดให้สมุนไพรกัญชาและกัญชง เป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วย
ด้านแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 - 2565 มีการกำหนดวางแผนการพัฒนาสมุนไพรให้ครบวงจรเป็น Product Champion พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาดและสร้างเศรษฐกิจได้ และพัฒนากัญชาเพื่อเศรษฐกิจ มีเป้าหมายต่อยอดกัญชาสู่การสร้างเศรษฐกิจประเทศ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ยาแผนไทย เพื่อรักษาและดูแลสุขภาพกลุ่มผู้ป่วยเป้าหมาย 2.ผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อสร้างเสริมสุขภาพประชาชนทั่วไป มีเป้าหมายต่อเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 3.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้กัญชาผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวจากประสบการณ์ตรง
Advertisement