หลังจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งค้นหาทีมนักฟุตบอลเยาวชนและครูฝึกสอนหมูป่า อะคาเดมี่ ทั้ง 13 คน ที่สูญหายภายในถ้ำหลวง เขตวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย จากการลุยน้ำเป็นเวลานาน ประกอบกับดินโคลนแฉะ และเชื้อโรคสะสมบริเวณเท้า ทำให้บางรายมีอาการผิดปกติทางผิวหนัง
วันที่ 30 มิ.ย. 61
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การที่ 13 คน ติดอยู่ในถ้ำเป็นเวลา 7 วัน และภายในถ้ำยังมีน้ำท่วมขังและความชื้น จึงกังวลว่าอาจจะทำให้กลุ่มนักกีฬาและโค้ช เป็นโรคผิวหนัง หรือโรคน้ำกัดเท้าได้ เนื่องจากหากมีการแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ผิวหนังก็จะมีอาการบวมแดง ผิวหนังลอก ซึ่งหากรุนแรงถึงขั้นผิวหนังมีรอยแตก ก็อาจจะทำให้เชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย หรือเชื้อรา แทรกซึมเข้าไปในผิวหนังได้ จนอาจนำไปสู่ภาวะโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา แต่โดยทั่วไปหากมีการแช่อยู่ในน้ำประมาณ 1-2 วัน แล้วมีการซับขาและเท้าให้แห้ง ไม่ได้กลับไปแช่น้ำอีก ร่างกายก็จะรักษาตัวเอง ซึ่งหากเวลาผ่านไปอีก 1-2 วัน อาการก็จะดีขึ้น แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภายในถ้ำ
ทั้งนี้ แพทย์กังวลว่า เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปในถ้ำก็อาจจะเป็นโรคน้ำกัดเท้า และอาจร้ายแรงถึงขั้นติดเชื้อได้ หากไม่ได้รับการพักเท้า ก็อาจจะทำให้นำไปสู่อันตรายร้ายแรง หรือติดเชื้อในกระแสเลือดได้
นายทรงพล เรืองสมุทร ช่างภาพช่องอมรินทร์ ทีวี เปิดเผยว่า ตนเข้ามาทำข่าวในพื้นที่ 6 วัน อุปสรรคคือฝนตกและพื้นที่ที่เป็นโคลน ช่วงแรกฝนตกทุกวัน และไม่ได้เตรียมรองเท้ามาจึงเดินด้วยความลำบาก แต่คิดว่าเจ้าหน้าที่ทำงานลำบากกว่าตนเยอะ
ตอนนี้มีปัญหาน้ำกัดเท้า บริเวณง่ามนิ้วเท้ามีบาดแผล เพราะช่วง 2 วันแรกไม่มีรองเท้าบู้ท ต้องใส่รองเท้าผ้าใบ เวลาฝนตกก็มีเศษดินเศษหินเข้าไปสะสม
ขณะที่
นายกฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร หรือ
ไนซ์ ช่างภาพ Thai news Pix เปิดเผยว่า ตนเริ่มมาทำข่าวตั้งแต่วันจันทร์ ที่ 25 มิ.ย. จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 6 วัน อุปสรรคที่พบจะเป็นเรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศที่ฝนตก ทำให้พื้นดินบริเวณพื้นที่ที่ต้องเข้าไปทำข่าวมีดินโคลน บางครั้งการทำงานต้องเดินขึ้นเขา แล้วพบดินสไลด์ ซึ่งตอนนี้ตนเจอปัญหาเรื่องเท้าเปื่อยด้วยเช่นกัน