สายวิ่งระวัง! ร้อนจัดทำ ฮีทสโตรก รุนแรง เสี่ยงหัวใจหยุดเต้น-เสียชีวิต

24 มี.ค. 64

กรณี ฮีทสโตรก ในช่วงหน้าร้อน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนเลือกวิธีการออกกำลังกายให้เหมาะสมในช่วงหน้าร้อน ลดความเสี่ยงเกิดโรคฮีทสโตรก ภาวะขาดน้ำ ตะคริวแดด ผิวไหม้ แนะ เลือกเวลาเช้าตรู่หรือช่วงเย็น สถานที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก สวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อและความร้อนได้ดี

นักวิ่งสวดยับ งานวิ่งลพบุรี ชี้จัดการรับรางวัลแย่ ไม่มีพยาบาลดูแลคนป่วยฮีทสโตรก 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าร้อนประชาชนสามารถ มีกิจกรรมทางกาย หรือการขยับเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ โดยเลือกทำกิจกรรมในอาคาร หรือที่ร่ม แต่หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งก็ทำได้ ในระยะเวลาและความหนักไม่มากเกินไป เช่น การเดินไปซื้อของระยะทางสั้นๆ โดยใช้อุปกรณ์กันแดด อาทิ ร่ม หมวก หรือการทำความสะอาดบริเวณนอกบ้าน เป็นต้น แต่สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ แนะนำให้เลือกช่วงเวลาตอนเช้าตรู่หรือช่วงเย็น เลือกสถานที่ออกกำลังกายที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก สวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อและความร้อนได้ดี ทาครีมกันแดดก่อนออกกำลังกายกลางแจ้ง ดื่มน้ำ และอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายและจิบน้ำบ่อยๆ ระหว่างการออกกำลังกาย ทุก 15 -20 นาที เพื่อทดแทนการสูญเสียเหงื่อและป้องกันภาวะขาดน้ำ ควรสังเกตอาการผิดปกติของการขาดน้ำ และการมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงเกินไป เช่น รู้สึกร้อนมาก หัวใจเต้นแรงและเร็ว กระหายน้ำมาก

“ทั้งนี้ การออกกำลังกายที่หนักเกินไปและไม่มีการเตรียมพร้อมในช่วงอากาศร้อน จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยอาจเกิดภาวะที่เป็นอันตราย อาทิ ลมแดด หรือฮีทสโตรก ซึ่งมีอาการหัวใจเต้นแรงและเร็ว อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส กล้ามเนื้อเกร็ง รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวลดลง ในบางรายถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ และภาวะขาดน้ำหรือเพลียแดดจะมีอาการปวดหรือวิงเวียนศีรษะ ความดันต่ำ ปากแห้ง และโรคตะคริวแดด มักพบในคนที่ออกกำลังกายกลางแจ้งหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานาน

โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดเกร็งที่กล้ามเนื้อ หากมีอาการดังกล่าวควรหยุดออกกำลังกายทันทีและให้รีบมาอยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ดื่มน้ำให้เพียงพอ และหากอาการยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการอย่างละเอียด

ส่วนโรคผิวไหม้แดด ผิวบริเวณที่เป็นจะมีรอยแดง ปวดแสบ ปวดร้อน ควรประคบด้วยความเย็น หมั่นทาโลชั่น ให้ความชุ่มชื้นบริเวณที่เป็นรอยไหม้เป็นประจำ โดยทั่วไปมักจะดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หากไม่ออกไปโดนแดดซ้ำ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ผิวหนัง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

อินเดียระอุ! อุณหภูมิพุ่ง 51 องศา- คลื่นความร้อนทำดับกว่า 78 ราย 

"ดีเจแมน" โพสต์เศร้า "ฮีทสโตรก" พรากหมาสุดที่รัก 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ