กกต.เผยวิธีแจ้งเหตุไม่ไป เลือกตั้งท้องถิ่น ทำได้ง่ายๆ เพียง 3 ขั้นตอน ผ่านช่องทางออนไลน์ หากไม่แจ้งจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 6 สิทธิ
เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีความจำเป็นไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงเปิดให้บริการแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เพิ่มอีกช่องทางหนึ่ง โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งใดไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ เนื่องจากมีเหตุจำเป็น (ตามข้อ 65 ของระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562) สามารถแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งนี้ มีวิธีการแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้
วิธีการแจ้งเหตุที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งเทศบาล
1. ให้แจ้งเหตุต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
2. ทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน โดยสามารถแจ้งด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ระหว่างวันที่ 22-27 มีนาคม 2564 หรือ ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 4 เมษายน 2564
3. แจ้งผ่านเว็บไซต์ stat.bora.dopa.go.th และ ect.go.th หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน Smart Vote หัวข้อ “การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์”
คู่มือการใช้ระบบแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
การแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์
1. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์จะแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้แจ้งเหตุจำเป็นภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ผ่านทางช่องทาง ดังนี้
• เว็บไซต์ www.bora.dopa.go.th หรือ www.ect.go.th
• แอปพลิเคชัน Smart Vote หัวข้อ “การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์”
2. กรอกข้อความในแบบแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้ถูกต้องครบถ้วน และปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด เมื่อยืนยันข้อความที่ได้กรอกแล้ว ระบบจะแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้โดยอัตโนมัติ
3. พิมพ์แบบการแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือจัดเก็บสำเนาข้อมูลไว้ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นหลักฐาน
ทั้งนี้ การพิจารณาการแจ้งเหตุและการอุทธรณ์กรณีเหตุที่แจ้งมิใช่เหตุอันสมควร ให้เป็นไปตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล นายกเทศมนตรี (28 มี.ค.) เข้าคูหารับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใดที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง สามารถแจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
• มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
• เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
• เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ และไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
• เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
• มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
• ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
• มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด
กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้
หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิ ดังนี้
• สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ ส.ถ. หรือ ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
• สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
• เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ. หรือ ผ.ถ.
• ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
• ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
ทั้งนี้ การถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง
Advertisement