สัตวแพทย์ ม.เกษตร กำแพงแสน สร้างชื่อก้องโลก แถลงผ่าตัด ช้างพังสายทอง เอานิ่วในถุงน้ำดี น้ำหนัก 1.7 กิโลกรัม ออกมาได้สำเร็จเป็นครั้งที่ 2 ของโลก
คณะสัตวแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสนแถลงความสำเร็จในการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและสมาคมในการผ่าตัดรักษานิ่วอุดตันทางเดินปัสสาวะในช้างเป็นครั้งที่ 2 ของโลก โดยล่าสุด พังสายทอง อายุ 50 ปี อาการป่วยขั้นวิกฤติถูกผ่าตัดนำนิ่ว น้ำหนัก 1.7 กิโลกรัมออกมาได้ปลอดภัย
สำหรับการผ่าตัดดังกล่าว เป็นการผ่าตัดช้างพังสายทอง เพศเมีย อายุ 50 ปี ซึ่งถูกส่งตัวเข้ามารับการรักษาที่หน่วยสัตว์ป่าโรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ด้วยอาการปวดเกร็งช่องท้อง ซึมไม่กินอาหาร จากการซักประวัติพบว่าพังสายทองมีประวัติปัสสาวะกระปริบกระปรอย ปวดเกร็งช่องท้องเป็นระยะ และมีประวัติกินน้ำจากแหล่งที่มีหินปูนสูง
นอกเหนือจากนี้ การตรวจร่างกายเพิ่มเติมด้วยอัลตร้าซาวด์ผ่านทวารหนัก พบก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและการส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะ พบก้อนนิ่วอุดตันภายใน ไม่สามารถปัสสาวะได้ และมีค่าเลือดที่บ่งบอกการเสียหายของไตสูงกว่าปกติถึง 3-4 เท่า ทางคณะทีมรักษาจึงได้ตัดสินใจทำการผ่าตัดในวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา
การผ่าตัดครั้งนี้กินเวลานานกว่า 6 ชั่วโมงกว่าจะสามารถนำนิ่วออกจากท่อทางเดินปัสสาวะได้ เนื่องจากก้อนิ่วมีขนาดใหญ่ กว้าง 12 เซนติเมตร ยาว 16 เซนติเมตร และมีน้ำหนักมากถึง 1.7 กิโลกรัม โดยถือเป็นการผ่าตัดนำนิ่วในถุงน้ำดีออกมาได้สำเร็จเป็นครั้งที่ 2 ของโลก แม้จะผ่าตัดสำเร็จแต่พบว่าร่างกายของพังสายทองยังต้องอยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อฟื้นฟูสุขภาพต่อไป
รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ เผยว่า การผ่าตัดในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ของโลก ซึ่งครั้งแรกที่เคยผ่าตัดสำเร็จเป็นการผ่าตัด พังคำมูล เพศผู้ อายุ 45 ปี เมื่อปี 55 โดยตรวจพบว่ามีนิ่วกระจายเป็นก้อนเล็กๆ ขนาดเท่าลูกแอบเปิ้ลและผลมะนาว จำนวน 162 ก้อน รวมหนักกว่า 8 กิโลกรัม แต่การผ่าตัดในพังสายทองครั้งนี้พบว่าก้อนนิ่วนั้นมีขนาดใหญ่เป็นก้อนเดียว
รศ.น.สพ.ดร.นิกร กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาและอุปสรรคใหญ่ในการรักษาช้างทุกวันนี้ยอมรับว่ายังมีงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งเฉพาะการรักษาพังสายทองครั้งนี้ต้องใช้เงินไม่น้อย ทั้งเรื่องของอาหารยาและอุปกรณ์ในการผ่าตัด ซึ่งที่พบครั้งนี้คือการนำเครนมายกร่างของพังสายทองเพื่อทำการผ่าตัด พบว่ากว่าจะนำรถเข้ามาได้มีความเสี่ยงทั้งทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่รวมถึงพังสายทอง เพราะอาคารที่ใช้รักษาและผ่าตัดไม่มีระบบรอกและเครนเพื่อยกตัว ซึ่งการดูแลค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนรักษาช้างและสัตว์ป่าคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ท่านผู้ที่มีจิตศรัทธาสามารถร่วมทำบุญในการจัดหาอุปกรณ์ในการติดตั้งเครนและอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ได้ผ่านหมายเลขบัญชี 769-200562-0 ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเงินทั้งหมดได้นำมาในการดูแลรักษาสัตว์ป่าต่อไป