กรมอนามัย ห่วงขับรถทางไกล ดื่มกาแฟ – เครื่องดื่มชูกำลัง มากไป ชี้ทำให้หัวใจเต้นเร็ว อ่อนล้า นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การขับรถทางไกลช่วงสงกรานต์ อาจทำให้มีอาการง่วงและเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ผู้ขับขี่บางรายจึงนิยมดื่มกาแฟ เพราะมีสารคาเฟอีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว สามารถขับรถต่อเนื่องได้นาน โดยปกติร่างกายไม่ควรได้รับคาเฟอีนเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน หากดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน จะทำให้ร่างกายได้รับคาเฟอีนมากถึง 500 - 1,000 มิลลิกรัม ส่งผลให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว มือสั่น ใจสั่น คลื่นไส้ หลังจากดื่มกาแฟไปแล้วประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงคาเฟอีนจะออกฤทธิ์ ทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น ร่างกายต้องสูญเสียเกลือแร่ คือ โซเดียมและแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะมากขึ้นด้วย
แนะ 6 วิธีแก้ง่วง ลดอุบัติเหตุจราจรช่วง 7 วันอันตราย
ส่วนเครื่องดื่มประเภทชูกำลังมีปริมาณคาเฟอีน 50 มิลลิกรัมและมีปริมาณน้ำตาล 25-26 กรัมต่อขวด แม้หลายคนจะมีความเชื่อว่า เครื่องดื่มชูกำลังจะทำให้ร่างกายตื่นตัว ไม่ง่วง จึงเป็นสาเหตุให้ละเลยการพักผ่อน ทำให้ยิ่งอ่อนล้าจนมีอาการมึนงง อีกทั้งยังส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ การดื่มกาแฟและเครื่องดื่มชูกำลังเป็นประจำ จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรค ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดได้
“ผู้ขับรถทางไกล ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันเดินทาง และควรเปลี่ยนจากเครื่องดื่ม ชูกำลังมาเป็นดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 6 - 8 แก้วต่อวันแทน โดยเน้นจิบบ่อยๆระหว่างเดินทางหรือกินผลไม้สดหรือดื่มน้ำผลไม้คั้นสดรสเปรี้ยวที่เป็นแหล่งวิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง มะม่วงดิบ หรือสับปะรด แทนจะดีกว่า เพราะวิตามินซีจะช่วยต้านความเหนื่อยล้าที่มาจากความเครียดและความกังวลขณะขับรถได้ นอกจากนี้ ควรกินอาหารประเภทข้าวแป้งในปริมาณที่อิ่มพอดี เพราะจะทำให้รู้สึกง่วงได้ง่าย รวมทั้งให้เลี่ยงกินผักที่ย่อยยาก เช่น กะหล่ำปลีดิบ ดอกกะหล่ำ ถั่ว หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง และมันฝรั่ง เป็นต้น งดเครื่องดื่มที่มีฟอง เช่น โซดา หรือน้ำอัดลมผสมโซดา เพราะมีผลทำให้ท้องอืดเฟ้อและง่วงนอนได้เช่นเดียวกัน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ระวัง โรควูบ หมอเตือน สายนอนน้อย ทำงานหนัก หลังคลิปสาวร่วงทั้งยืนคนดูเกือบ 10 ล้าน