จากกรณีที่เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 61 ที่ผ่านมา หลังจากมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ออกหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อขอมอบทุนการศึกษาให้โค้ชเอกและนักฟุตบอลทีมหมูป่า อะคาเดมี จำนวน 13 คน ให้เรียนปริญญาตรี จนถึงระดับปริญญาเอก ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ของสังคม เนื่องจากมองว่าเด็ก ๆ และโค้ช เป็นผู้ประสบภัย ไม่ใช่ฮีโร่
วันที่ 14 ก.ค. 61
นายแพทย์สิทธา ลิขิตนุกูล หรือหมอกอล์ฟ แพทย์สังคมสื่อสารเพื่อคุณธรรม เปิดเผยว่า ประเด็นที่สังคมมองว่า น้อง ๆ นักกีฬาฟุตบอลและโค้ช ทีมหมูป่า อะคาเดมี ทั้ง 13 คนนั้นเป็นฮีโร ตนมองว่าทีมหมูป่า อะคาเดมี ไม่ใช่ฮีโร่ แต่เป็นผู้ประสบภัย ส่วนคนที่เป็นฮีโร่อย่างแท้จริง คือคนที่คอยช่วยเหลือและปฎิบัติการค้นหาและนำตัวน้อง ๆ ทั้ง 13 คน ออกมาจากถ้ำหลวงได้
ส่วนในเรื่องของกรณีที่มหาวิทยาลัยมอบทุนการศึกษาให้น้อง ๆ ตนมองว่าการให้ทุนการศึกษาเป็นเรื่องที่ดี แต่ตนมองว่าการสอนตกปลา ให้น้อง ๆ รู้จักตกปลากินเอง ก็ย่อมดีกว่าการให้ปลากับน้อง ๆ อยู่ เพียงแต่ทุนการศึกษาที่จะมอบให้กับน้อง ๆ นั้น ต้องมองว่าเป็นการให้ทุนในเรื่องที่น้องถนัดหรือไม่ และสะดวกต่อการเดินทางหรือไม่ อีกทั้งผู้ที่บอกว่าจะให้ทุน หากถึงเวลาที่น้องจะเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาจริง ๆ อธิการบดีท่านนั้น จะยังคงดำรงตำแหน่งอยู่หรือไม่ ทั้งนี้ ตนก็ยังมองว่าการให้ทุนการศึกษาเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ ตนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะคนที่อยู่นอกถ้ำ กลับสร้างปัญหาให้คนที่อยู่ในถ้ำ ซึ่งตอนนี้ตนมั่นใจว่าน้อง ๆ ทั้ง 13 คน อาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องกลายมาเป็นสาเหตุที่ทำให้คนในสังคมขัดแย้งกัน ดังนั้น ตนก็อยากให้คนในสังคมที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันในเรื่องนี้ ปรับทัศนคติ และปรับความเข้าใจกัน
ส่วนตอนนี้ที่สังคมมองว่ากรณีเป็นการเกาะกระแสสถานการณ์ เพื่อต้องการสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยนั้น ตนมองว่า ถ้าให้มองตามความเป็นจริง ตนเชื่อว่าการให้ทุนดังกล่าว อาจเป็นสินน้ำใจของมหาวิทยาลัยที่มอบทุนให้น้อง ๆ ได้มีการศึกษาที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต แต่ถ้าเป็นการเกาะกระแสจริง ๆ ก็อยากให้หลายๆมหาวิทยาลัยหันมาเกาะกระแสกันเยอะ ๆ มาช่วยบุตรหลานของวีระบุรุษถ้ำหลวงกันเยอะ ๆ
ส่วนกรณีที่ในวันนี้ แพทยสภา มีมติเลือกให้ พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน หรือ หมอภาคย์ นายแพทย์ทหารที่เข้าไปในถ้ำหลวง เพื่อช่วยกับทีมหมูป่า มอบให้เป็น "หมอต้นแบบ" บุคคลที่ยอดเยี่ยม ช่วยเหลือและทุ่มเท ให้กับการช่วยเหลือทีมหมูป่า ตนก็ต้องขอชื่นชมหมอภาคย์ด้วยเช่นกัน และถือว่าเป็นวีระบุรุษต้นแบบของภารกิจพิชิตถ้ำหลวง รวมถึงขอจะขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของนาวาตรีสมาน กุนัน ด้วย
นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ เปิดเผยว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการให้ทุนในกรณีนี้ เนื่องจากสิ่งที่หน่วยงานต่างๆควรแยกแยะ คือบุคคลที่ทำคุณงามความดี กับ ผู้ประสบภัยมันต่างกัน ถ้ากรณีนี้เด็กทั้ง 13 คน ได้ไปแข่งกีฬา ได้เหรียญทองกลับมา และจะมอบทุนให้เด็ก ๆ ตนจะไม่ต่อว่าเลย เพราะกรณีนั้น จะทำให้กระตุ้นให้เด็ก ๆ ทั้งประเทศอยากทำตาม แต่กรณีนี้ไม่ใช่
ทั้งนี้ การมอบทุนให้เด็กถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่กรณีนี้ไม่สมควร เพราะยังมีเด็กที่ขาดโอกาสอีกหลายคนทั่วประเทศ ซึ่งกรณีนี้อาจทำให้เด็กคนอื่น ๆ เรียกร้องความสนใจ โดยการทำให้ตัวเองตกอยู่ในฐานะผู้ประสบภัย เพื่อให้ได้รับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้บ้าง แล้วหน่วยงานต่าง ๆ ที่ออกมาช่วยมอบทุนให้นั้น จะตอบคำถามเด็กเหล่านี้อย่างไร
นายรณณรงค์ กล่าวต่อว่า หน่วยงานที่มอบทุนการศึกษา ควรมองว่าเด็กอีกหลายคนที่เคยไปขอทุนการศึกษาแล้วไม่ได้รับ เป็นเพราะเหตุผลใด ตนอยากให้ผู้ที่ให้มองย้อนว่าตัวเองอยู่ในฐานะอะไร หากเป็นผู้บริหารของหน่วยงานรัฐ ก็ไม่ควรเลือกปฏิบัติกับบุคคล เพราะตอนนี้สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเหตุผลของการให้ว่าให้เพื่ออะไร ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เพียงการมอบของขวัญปลอบใจ แต่นี่คือการตลาดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ เหตุการณ์นี้จะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคม ผู้บริหารของหน่วยงานรัฐที่มีการเลือกปฏิบัติ อาจมีความผิดตามรัฐธรรมนูญได้ เพราะการเลือกปฏิบัติมีค่าเท่ากับการเหยียดสีผิว หรือเชื้อชาติ
นอกจากนี้ ตนมองว่ากรณีนี้เป็นเรื่องของหน่วยงาน รวมถึงกระทรวงศึกษาที่ต้องลงมาตรวจสอบ หากจะให้ทุน ก็เป็นสิทธิ์ แต่อยากให้มองเรื่องเด็กคนอื่น ๆ ที่เสียโอกาสด้วย ว่าจะรู้สึกอย่างไร
ทนายรณณรงค์ ระบุทิ้งท้ายว่า หากนำทุนไปให้กับลูกหลานหน่วยซีล ผู้ปฏิบัติหน้าที่อาสาอื่น ๆ ตนยังรู้สึกว่า จะเป็นการกระตุ้นให้คนไทยอยากทำดี เพื่อจะได้มีสิ่งดี ๆ มอบให้ในชีวิต อยากถามว่าเด็ก 13 คนนี้ ทำอะไรให้ประเทศไทย