กรณีการเเพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่อาจมีอาการป่วยไม่รุนแรง เข้ารับการตรวจและรักษาในโรงพยาบาล ทั้งของรัฐและเอกชนในกรุงเทพฯ จนทำให้จำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีการติดต่อง่ายมีไม่มีเพียงพอ
ดังนั้น รพ.ธรรมศาสตร์ ซึ่งมีประสบการณ์เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งแรกของไทย ตั้งแต่เมื่อปี 63 มีการเปิดและปิดโรงพยาบาลสนามมาแล้ว 2 รอบ ตามระลอกการระบาดโควิด-19 ในไทย ได้เปิดโรงพยาบาลสนามอีกครั้ง พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อาการไม่รุนแรงได้ 470 เตียง ภายในวันที่ 11 เม.ย.64 พร้อมรับการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วยให้โรงพยาบาลอื่น ๆ มีจำนวนเตียงเหลือเพียงพอในการรับผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเติม
ล่าสุดวันที่ 12 เม.ย.64 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี เดินทางลงพื้นที่สำรวจโรงพยาบาลสนาม ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต พบว่าจุดที่ใช้เป็นโรงพยาบาลสนามนั้น เดิมเป็นหอพักของบุคลากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลักษณะเป็นตึก 14 ชั้น มีทั้งหมด 308 ห้อง จำนวนเตียง 470 เตียง (บางห้องมี 2 เตียง)
นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผอ.รพ.สนามธรรมศาสตร์ ได้พาทีมข่าวเดินชมด้านในโรงพยาบาลสนาม ในโซนปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสนามเเห่งนี้ จะรับผู้ป่วยโควิด-19 จากโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก หากอยู่โรงพยาบาลครบ 48 ชม. ก็สามารถส่งมาที่นี่ได้ โดยสามารถรับผู้ป่วยได้ 470 คน ซึ่งโรงพยาบาลสนามเเห่งนี้ค่อนข้างมีความพร้อมสูง เนื่องจากแต่เดิมออกเเบบมาเพื่อใช้สำหรับอยู่อาศัย ในเเต่ละห้องก็จะมีเตียงนอน เเละสิ่งอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย ทีวี ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ
นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ที่จำเป็นเเจกให้ ประกอบด้วยผงซักฟอก รองเท้าเตะ กระดาษชำระ ยาสีฟัน เเปรงสีฟัน เเชมพู สบู่ และอุปกรณ์ทำความสะอาดห้อง ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการดูเเลเป็นอย่างดี มีอาหารให้ 3 มื้อ เจ้าหน้าที่จะส่งอาหารให้วันละ 3 รอบ ได้แก่ เวลา 08.00 น. เวลา 12.00 น. แเละเวลา 17.00 น.
สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวมาที่นี่ จะได้รับการรักษาเเบ่งเป็น 3 โรค ประกอบด้วยดังต่อไปนี้
1.โรคทางกาย : รักษาอาการเจ็บป่วยจากโควิด-19
2.โรคทางใจ : ผู้ป่วยทุกคนจะถูกสกรีนโดยจิตเเพทย์ ประเมินภาวะซึมเศร้า เครียด ความกังวล หากผู้ป่วยมีภาวะดังกล่าว ก็จะได้รับการดูเเลจิตบำบัด
3.โรคทางสัมคม : สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจถูกสังคมรังเกียจ ดังนั้นก่อนกลับบ้านก็จะมีทีมนักสังคมสงเคราะห์ดูเเล โดยการประสานชุมชน หรือหอพักเดิม เพื่อทำควมมเข้าใจไม่ให้รังเกียจผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยสามารถเข้าสังคมได้หลังจากรักษาโควิด-19 หายเเล้ว
โดยคนไข้จะต้องอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม 10-14 วัน ระหว่างที่รักษาตัวเจ้าหน้าที่จะเเจกปรอทวัดไข้ กับเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ซึ่งผู้ป่วยทุกคนจะต้องวัด เเล้วส่งภาพผลการวัดให้เจ้าหน้าที่ดูทุกวัน วันละ 2 รอบ คือเวลา 07.00 น. กับ 18.00 น. ทางไลน์ เป็นการบ้าน หากรักษาจนหาย หลังจากกลับไปที่บ้านก็จะต้องกักตัวที่บ้านให้ครบ 28 วัน หลังจากนั้นก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
สำหรับ รพ.สนามธรรมศาสตร์ หลังจากเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ 2 วัน ขณะนี้รับผู้ป่วยมาอยู่ในความดูเเลเเล้ว 78 คน จะมีบุคลากรจาก รพ.ธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ มีเเพทย์ วันละ 2 คน พยาบาล วันละ 6 คน เเบ่งการดูเเล 20 ต่อ 1 (พยาบาล 1 คน ดูเเลผู้ป่วย 20 คน) สำหรับการเเบ่งโซนพื้นที่ ชั้นที่ 1 จะเป็นพื้นที่ทำงานของบุคลากรทางการเเพทย์ ชั้นที่ 2 สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเครียด หรือซึมเศร้า และชั้นที่ 3-14 สำหรับผู้ป่วยทั่วไป มีการเเยกลิฟท์ระหว่างผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่