ทีมซีลเปิดเบื้องลึกช่วยหมูป่า ยอมรับเครื่องมือดำน้ำถ้ำไม่พร้อม แต่ใจเกินร้อยช่วยจนรอด (คลิป)

18 ก.ค. 61
จากกรณีที่นักฟุตบอลทีม หมูป่า อะคาเดมี และผู้ฝึกสอนรวม 13 ชีวิต ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-วนอุทยาน ขุนน้ำนางนอน โดยเจ้าหน้าที่สามารถช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตออกมาจากถ้ำ และรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจนปลอดภัยแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดตามข่าวสารจากทั่วโลก แสดงความชื่นชมหน่วยซีลของไทย พร้อมเชิดชู น.ต.สมาน กุนัน หรือ จ่าแซม ซึ่งเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติภารกิจ ยกย่องให้เป็น "วีรบุรุษแห่งถ้ำหลวง" วันที่ 17 ก.ค. 61 “รายการต่างคนต่างคิด” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ ทีวี ช่อง 34 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.20 น. ได้เชิญ เรือโท ปกเกศ พุ่มพฤกษ์ หรือ ครูบู้ อดีตหน่วยซีล และนางวลีพร กุนัน ภรรยาของจ่าแซม ร่วมพูดคุยในประเด็นดังกล่าว
เรือโท ปกเกศ พุ่มพฤกษ์ หรือ ครูบู้ อดีตหน่วยซีล
โดยเรือโท ปกเกศ พุ่มพฤกษ์ หรือ ครูบู้ เปิดเผยว่า ในงานสำคัญ ๆ หน่วยซีลจะพยายามปิดทองหลังพระ เพราะไม่อยากเปิดเผยตัวตนของหน่วยซีล แต่ตนเองคือหน่วยซีลนอกราชการที่เกษียณไปแล้ว เมื่อเห็นข่าวถ้ำหลวง และมีลูกศิษย์หน่วยซีลไปช่วยมากมาย ตนก็พร้อมจะช่วยและสนับสนุนลูกศิษย์ และพี่น้องซีลทุกคน ซึ่งโดยหน่วยซีลที่ออกจากราชการไปแล้ว ก็จะมีการจัดงานเลี้ยงประจำปี ทำให้มีช่องทางการสื่อสาร มีกลุ่มไลน์ อีกทั้งตนเป็นเจ้าของกิจการดำน้ำ มีอุปกรณ์ในการช่วยเหลือภารกิจครั้งนี้ได้ มีทั้งกล้อง CCTV ไฟฉาย วิทยุที่พร้อมสื่อสารขึ้นมาบนผิวน้ำ จึงตัดสินใจที่จะไปช่วย เมื่อไปถึง ได้เจอลูกศิษย์มาก หนึ่งในนั้นก็คือ พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผบ.หน่วยซีล ซึ่งตนมีความสนิทอย่างมาก และเมื่อดูหน้างานแล้วก็คำนวนได้ว่า อุปกรณ์ของตนสามารถเดินทางไปได้แค่ 200 เมตร ครุบู้ กล่าวว่า ภารกิจครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องอดหลับอดนอน เพราะ 1 วินาทีก็มีค่ามาก ซึ่งตนเองมองว่าภารกิจนี้ยากมากเพราะภายในถ้ำมืดมาก และไม่สามารถมองเห็นช่องทางที่ดำน้ำไปต่อได้ มีความเสี่ยงมาก ช่องในถ้ำแคบมาก แต่ในตอนนั้นทุกคนคิดอย่างเดียวว่า จะต้องไปช่วยเด็ก ทำทุกวิธีให้ไปถึงตัวเด็ก แม้แต่ พล.ร.ต.อาภากร ก็นอนไม่หลับ ถึง 3 วัน 3 คืน เดินกระสับกระส่ายและวิเคราะห์สถานการณ์ตลอดเวลา ซึ่งทุกคนทุ่มเทกับงานนี้มาก เพราะยิ่งช้า ยิ่งทำให้เด็กที่อยู่ข้างในมีปัญหา
เรือโท ปกเกศ พุ่มพฤกษ์ หรือ ครูบู้ พูดถึงจ่าแซมในวันที่เสียชีวิต
ครูบู้ กล่าวต่อว่า ตนรู้จักกับจ่าแซมก่อนหน้านี้แล้ว เพราะจะมีการรวมตัวของหน่วยซีลที่ปลดประจำการ มีการพบปะอยู่เสมอ เมื่อตนอยากไปช่วยภารกิจถ้ำหลวง จึงส่งข้อความถามในไลน์ของกลุ่มมนุษย์กบที่ปลดประจำการ มีคนอาสาจะไปช่วยมาก นับรวมได้เกือบ 50 คน เพราะหน่วยซีลรักหน่วยของตัวเอง และพร้อมจะอยู่กับพี่น้องหน่วยซีล อีกทั้งเป็นห่วงเด็กที่อยู่ในถ้ำ ถ้าไม่ไปช่วย ก็อยู่ไม่ได้ อีกทั้ง ตนยังเป็นห่วงลูกศิษย์หน่วยซีลที่เจอภารกิจยาก ซึ่งเมื่ออยู่ภายในถ้ำ ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอากาศเหลือเท่าไหร่ อีกทั้งยังต้องแบกถังอากาศ 4 ถังไปด้วย ซึ่งชาวต่างชาติยังตกใจว่าเราทำได้อย่างไร แต่หน่วยซีลทุกคนก็ก้าวผ่านความกลัวไปแล้ว และมั่นใจว่าสามารถทำได้
เรือโท ปกเกศ พุ่มพฤกษ์ หรือ ครูบู้ พูดถึง ความยากลำบากในการทำงานของหน่วยซีล
ทั้งนี้ ครูบู้ ยังเปิดเผยถึงการร่วมงานกับชาวต่างชาติ ซึ่งแบ่งงานกันโดยวัดจากประสบการณ์ การให้ต่างชาติดำน้ำเข้าไปในถ้ำแล้วออกมารายงาน เพื่อวัดว่าใครเหมาะสมกับงานนี้บ้าง ซึ่งเหตุผลที่ต้องใช้ชาวต่างชาติในการลำเลียงเด็กออกจากถ้ำ ตนมองว่าอุปกรณ์ที่มียังไม่เหมาะสม เพราะภารกิจครั้งนี้อันตรายมาก แต่อุปกรณ์ของชาวต่างชาติจะสามารถบันทึกการเดินทาง และสามารถบอกพิกัดได้ นอกจากนี้ ครูบู้ เปิดเผยถึงวินาทีที่เจอเด็กว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างดีใจและโห่ร้อง ทั้งนี้ พล.ร.ต.อาภากร คิดต่อว่า ระยะทางเป็นอุปสรรคในการลำเลียงเด็กออก แค่ดำน้ำอย่างเดียวยังต้องใช้เวลาถึง 12 ชั่วโมง แต่เหตุผลที่หน่วยซีล สามารถดำน้ำได้ถึง 12 ชั่วโมง เป็นความโชคดีที่หน่วยซีลมีการจัดงานแข่งกีฬาพอดี และได้ฝึกซ้อม เมื่อมาทำงานจึงทำให้ร่างกายมีความพร้อมเต็มที่ ครูบู้ กล่าวว่า พล.ร.ต.อาภากร เป็นผู้นำที่ดีมาก ถึงแม้จะเครียดก็จะพูดคุยสนุกสนานเพื่อปลุกกำลังใจ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะทุกคนถูกฝึกมาให้เสี่ยง และต้องเหนือกว่าคนธรรมดาให้ได้ แต่ปัญหาที่ตามมาหลังจากเจอตัวเด็ก คืออากาศภายในถ้ำที่มีน้อยลง จึงต้องเร่งทำเติมอากาศภายในถ้ำ ส่วนตอนลำเลียงทุกคนออกมา ตนมองว่า จะช่วยเด็กได้ เพราะมีแพทย์เข้าไปด้วย ซึ่งเมื่อเด็กชุดแรก จำนวน 4 คน ออกมา ตนยอมรับว่าใจชื้น เพราะเชื่อว่า ครั้งที่ 1 ผ่านได้แล้ว ครั้งต่อไปต้องผ่านไปได้แน่นอน
เรือโท ปกเกศ พุ่มพฤกษ์ หรือ ครูบู้ พูดถึง พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว
ทั้งนี้ หลังจากนำเด็กชุดแรกออกมา ช่วงเว้น 12 ชั่วโมง เป็นครั้งแรกที่ทุกคนได้นอนหลับเต็มที่ และเป็นครั้งแรกที่มีความสุขมากๆ หลังจากลำเลียงเด็กออกมาครบทุกคนแล้ว เจ้าหน้าที่ต่างโห่ร้องไชโย และโล่งใจ ตนรู้สึกเหมือนผ่านสัปดาห์นรกไปได้แล้ว ออกทั้งแรง ความคิด แข่งกับเวลา และตนรู้สึกภูมิใจในตัวลูกศิษย์มากๆ ซึ่งในระหว่างการทำภารกิจ เมื่อหน่วยซีลเครียดก็จะร้องปลุกใจ หรือตะโกนว่า "ฮูย่า!" ทำให้ผ่อนคลายและฮึกเหิม ครูบู้ เล่าว่า การฝึก ทุกคนเคยฝึกสัปดาห์นรก แค่ 7 วัน ก็เหนื่อยแล้ว แต่เด็กไม่มีอาหารในถ้ำถึง 10 กว่าวัน ตนก็หวั่นว่าเด็กอาจจะเป็นอันตราย แต่ก็มั่นใจในตัวโค้ชเอก เพราะโค้ชทำให้เด็กทุกคนสงบได้ ในการปฏิบัติธรรม และจะให้กำลังใจเด็ก ๆ อยู่เสมอ ตนจึงรู้สึกว่า สิ่งนี้คือสิ่งทำให้เด็ก ๆ ยืดอายุไปได้ถึง 10 วัน นอกจากนี้ ที่ชาวต่างชาติที่ชื่นชมหน่วยซีลนั้น ครูบู้ กล่าวว่า สิ่งที่หน่วยซีลทำ เกินมนุษย์ธรรมดาทำได้ นักเรียนหน่วยซีลบอกกับตนเพียงว่า "ผมมีแค่ใจที่เราต้องไปช่วยเด็กให้เร็วที่สุด จากที่เราถูกฝึกมาให้ทนกับทุกสภาวะ" ตนจึงดีใจกับศิษย์ทุกคนมาก เพราะหน่วยซีลเป็นความภูมิใจกับคนไทยทั้งประเทศ สำหรับเรื่องจ่าแซมที่เสียชีวิต ตนเองรู้เจ็บปวดและไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องกับจ่าแซม เพราะจ่าแซมขยัน แข็งแรง มีสติและทำงานละเอียดมาก ตอนแรกตนคิดว่าจ่าแซมแค่สลบไป ไม่คิดว่าเสียชีวิต ตนได้แต่ภาวนาว่า "อย่าเป็นอะไรเลย" เพราะทุกคนช่วยเต็มที่แล้ว แต่เมื่อจ่าแซมจากไป ตนจึงรู้ว่าทุกคนต้องระมัดระวังมากกว่านี้ และต้องมีความปลอดภัยมากขึ้น
นางวลีพร กุนัน ภรรยาของจ่าแซม พูด ให้กำลังใจทีมหมูป่าอะคาเดมี
ด้าน นางวลีพร กุนัน ภรรยาของจ่าแซม เปิดเผยว่า ตอนนี้ญาติของทีมหมูป่าบางคนได้ติดต่อที่จะมาเยี่ยมบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอน ส่วนเรื่องน้อง ๆ ทีมหมูป่านั้น ตนเองอยากบอกว่า ทำใจให้เข้มแข็ง ไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะจ่าแซมตั้งใจไปช่วย ให้น้องตั้งใจทำสิ่งที่ตัวเองฝัน ซึ่งตอนนี้ตนเป็นห่วงน้อง ๆ ทีมหมูป่ามากกว่า เพราะกลัวว่าเรื่องจ่าแซมจะกระทบจิตใจของน้อง ๆ ทั้งนี้ จ่าแซมอาสาจะไปช่วย ซึ่งเขามีจิตอาสาอยากช่วย ก็ขอให้น้อง ๆ อย่าโทษตัวเอง ถ้าน้องอยากเป็นนักฟุตบอล ก็ให้ตั้งใจซ้อม คนที่อยู่ต้องทำให้ดีที่สุด ทำตามความฝันต่อไป ส่วนคนที่จากไปแล้ว เขาจะได้ไม่ห่วงและภูมิใจว่าสิ่งที่เขาเสียสละไปนั้น เป็นประโยชน์ และทำให้เด็กกลุ่มนี้ไปถึงความฝันได้ นางวลีพร กล่าวต่อว่า เรื่องความสูญเสียนั้นก็มีบ้าง แต่ตนได้ซึมซับการมองโลกในแง่ดีจากสามี นอกจากนี้ นางวลีพร ยังบอกอีกว่า หน่วยซีลจะเป็นผู้ปิดทองหลังพระ ดังนั้น คนกลุ่มนี้จะไม่เปิดเผยตัว ส่วนความเสียสละก็เป็นเหมือนสิ่งที่เขาถูกปลูกฝังมาอยู่แล้ว และซีลทุกคนได้รับภารกิจมา เขาต้องทำให้สำเร็จ
เรือโท ปกเกศ พุ่มพฤกษ์ หรือครูบู้ อดีตหน่วยซีล
นอกจากนี้ เรือโท ปกเกศ พุ่มพฤกษ์ หรือ ครูบู้ อดีตหน่วยซีล ให้สัมภาษณ์หลังจบรายการว่า กรณีที่มีบุคคลออกมาเคลื่อนไหวในสื่อต่าง ๆ ถึงเหตุการณ์การช่วยเหลือเด็กทั้ง 13 คน เป็นเหมือนภาระ ทำให้ประเทศสิ้นเปลืองงบประมาณ เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอุบัติเหตุ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ตนเข้าใจในความเป็นนักกีฬาของน้อง ๆ ที่อยากเข้าไปข้างในถ้ำ เพื่อต้องการจะออกกำลังกาย และได้ทำในสิ่งที่ชอบด้วยกันกับเพื่อนในทีม เพื่อทดสอบกำลังใจ และกำลังกาย ซึ่งสิ่งพวกนี้ไม่ได้มีใครจงใจจะให้เกิดขึ้น แต่ที่ได้กลับมาคือ สิ่งที่ดี ที่ได้เห็นพลังของทุกหน่วยงาน พลังของทุกประเทศ ความเป็นมนุษย์ที่ต้องเสียสละเพื่อช่วยกันช่วยเหลือชีวิตคนอื่น ตนจึงมองว่า เราเห็นในสิ่งที่ดีมากกว่าสิ่งที่เสีย อย่างไรก็ตาม ครูบู้ ฝากถึงทีมหมูป่าว่า การเข้าไปติดในถ้ำ เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดว่าจะเกิดขึ้น อยากให้น้อง ๆ ทุกคน จดจำเหตุการณ์ทั้งหมดไว้เป็นประสบการณ์ และจดจำไว้จนวันตายว่าพี่ ๆ ทุกคนบนโลกนี้เอาใจช่วยเรา เราควรจะกลับมาทำสิ่งที่ดีตอบแทน หรือตั้งใจทำในสิ่งที่อยากประสบความสำเร็จ และไม่ต้องกลัวว่าใครจะพูดอะไร ขอให้มั่นใจในตัวเองว่าเราทำดีที่สุดแล้ว และสามารถออกมาได้อย่างปลอดภัยแล้ว ซึ่งคือสิ่งที่จะต้องเป็นเหมือนครูสอนคนอื่นต่อไป
นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส และนาย เครก ชาลเลน ผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำ
ด้านสื่อออสเตรเลีย เปิดเผยภารกิจช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่า พร้อมระบุว่านายแพทย์ริชาร์ด แฮร์ริส วิสัญญีแพทย์ และนาย เครก ชาลเลน อดีตสัตว์แพทย์ชาวออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสองนักประดาน้ำคนสำคัญจากออสเตรเลีย ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองทางการทูต จะไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีใด ๆ กรณีหากเกิดเหตุผิดพลาดเกิดขึ้น อันเกี่ยวข้องกับภารกิจช่วย 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวง หลังเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยและออสเตรเลียได้มีการหารือร่วมกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี มัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ แห่งออสเตรเลีย เตรียมมอบเหรียญกล้าหาญ ให้กับ 2 ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำในถ้ำ โดยคำแถลงของนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ระบุว่า ทั้ง 2 คนได้แสดงออกถึงความเป็นวีรบุรุษ ความเป็นมืออาชีพ การยึดมั่นในระเบียบวินัย และการทำงานเป็นทีม อีกทั้ง ยังมีความกล้าหาญในการปฏิบัติงานในภาวะที่ยากลำบากและเสี่ยงอันตราย เพื่อช่วยเด็ก ๆ และโค้ช ออกมาได้อย่างปลอดภัย พร้อมยกย่องผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 คนว่าเป็นแบบอย่างของชาวออสเตรเลีย ทั้งนี้ มีคนไทยและชาวออสเตรเลีย รวมถึงผู้คนจากอีกหลายประเทศจำนวนเกือบ 45,000 คน ที่ร่วมลงชื่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลีย มอบเครื่องราชย์ชั้นสูงสุด “ครอสส์ ออฟ เวเลอร์” แก่ฮีโร่ทั้ง 2 คนด้วย

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ