จากกรณีทีมหมูป่าอะคาเดมีได้เข้าพิธีบรรพชา-อุปสมบทที่วัดพระธาตุดอยตุง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา
วันที่ 26 ก.ค. 61 ที่วัดดอยตุงน้อย จังหวัดเชียงราย พระเอกพล วิสารโท ภิขุ (นายเอกพล จันทะวงษ์) และสามเณร หมูป่า รวม 12 รูป ได้ปฏิบัติกิจของสงฆ์ หลังจำวัดอยู่ที่วัดนี่เป็นเวลา 1 คืน โดยได้บิณฑบาตรภายในพระอุโบสถ เนื่องจากช่วงเช้าวันนี้มีฝนตกลงมา จึงเปลี่ยนสถานที่มารับบิณฑบาตรภายในอุโบสถแทน โดยมีพระพุทธวงศ์วิวัฒน์ พระอุปัชฌาย์และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยตุง เป็นผู้นำเดินบิณฑบาตร ซึ่งได้มีญาติโยมที่ปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัด และชาวบ้านรอบๆพื้นที่ จำนวนหนึ่งเดินทางนำอาหาร ขนม น้ำดื่ม ดอกไม้ มาใส่บาตร โดยชาวบ้านกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มแรกๆที่ได้ใส่บาตรพระใหม่ และ สามเณร ทั้ง 12 รูป หลังจำวัด หลังใส่บาตรเสร็จพระและสามเณร ได้สวดมนต์ให้ศีล ให้พร และร่วมนั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม
พระครูประยุทธ์ เจติยานุการ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยเวา ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า การศึกษาพระธรรมวินัย ของพระและเณรใหม่ ทั้ง 12 รูป จะเริ่มขึ้นในช่วงบ่ายวันนี้ ภายหลังที่พระ-สามเณร เดินทางกลับจากวัดพระธาตุดอยตุงน้อย ไปปฏิบัติธรรมต่อที่วัดพระธาตุดอยเวา อำเภอแม่สาย โดยจะเริ่มจากหลักสูตร การปฏิบัติตนเป็นสมณเพศ การครองตนเป็นพระ เพื่อให้พระและสามเณร ได้รู้ถึงขั้นตอนการเป็นพระ และการปฏิบัติตัว และเวลา 15.00 น. เจ้าคณะอำเภอแม่สาย ร่วมกับพระสงฆ์ สวดเจริญพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ส่วนในวันพรุ่งนี้ พระใหม่และสามเณร จะเริ่มออกเดินบิณฑบาตรในเวลา 06.00 น. เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และมีการเวียนเทียนรอบพระธาตุ โดยพระใหม่และสามเณร ทั้ง 12 รูป ก็จะร่วมในพิธีด้วย
นอกจากนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ดอยตุง ตั้งใจสวมชุดประจำชนเผ่าอาข่า ร่วมตักบาตรพระใหม่ที่วัดพระธาตุดอยตุงน้อย โดย
นายทรงยศ วิเศษขจรศักดิ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านลิเซ และชาวบ้านในพื้นที่ บอกกับทีมข่าวว่า เป็นคนในพื้นที่ดอยตุง ห่างจากวัดประมาณ 5 กิโลเมตร อาศัยอยู่ในหมู่บ้านลิเซ วันนี้ตนทราบข่าวว่า มีพระใหม่ มาจำวัดที่วัดพระธาตุดอยตุงน้อย ประกอบกับตนเปิดร้านกาแฟส่วนตัวอยู่ที่หน้าวัด จึงได้นำสิ่งของที่มีในร้าน คือวัตถุดิบ ชาและกาแฟ ทำสดใหม่ จำนวน 12 แก้ว นำมาถวายพระใหม่ เพื่อได้ฉันท์ในตอนเช้า
โดย
นายทรงยศ บอกว่า ตนไม่มีอะไรมากไปกว่าสิ่งของที่ขาย ภรรยาของตนได้ตื่นตั้งแต่ตี 5 มาทำหมูทอด หมูปิ้ง และชุดข้าวเหนียว เตรียมใส่บาตรด้วย ถือเป็นครั้งที่พิเศษมาก ทั้งเป็นพระใหม่ และเป็นพระจากน้องทีมหมูป่า เป็นความโชคดีของตัวเองและครอบครัวอีกด้วย
นายทรงยศ เผยต่อว่า ตนติดตามข่าวตั้งแต่เด็ก 13 คน ติดอยู่ในถ้ำ รับชมทางทีวี เห็นพ่อแม่ เห็นเด็กๆ บางครั้งถึงกับร้องไห้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ในความลุ้นระทึกและความดีใจ “เอาใจช่วยตั้งแต่อยู่ในถ้ำหลวงแล้ว” พอทุกคนมาบวชเป็นพระใหม่ อยู่ที่วัดพระธาตุดอยตุงน้อยแห่งนี้ ก็รู้สึกดีใจ ยิ่งได้ใส่บาตรก็ปลื้มใจ พร้อมขอให้บุญกุศลที่ได้กระทำในครั้งนี้ ส่งถึงบิดา มารดาของตน รวมถึงเจ้าแม่นางนอน ผู้ปกปักษ์รักษาถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ทำให้เด็ก ๆ รอดออกมาได้อย่างปลอดภัย
จากนั้นเวลา 10.00น. สามเณรหมูป่า 12 รูป ได้เดินทางมาถึงวัดพระธาตุดอยเวา อำเภอแม่สาย มีคณะศรัทธาและประชาชนในพื้นที่ ญาติผู้ปกครองของที่หมูป่า มารอใส่บาตร ถวายปัจจัย ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารแห้งสำเร็จรูป นม และอาหารปรุงสุก โดยมีผู้มารอใส่บาตรจำนวนมาก
นายกิตติชัย เมืองมา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงรายเขต 3 เป็นตัวแทนถวายปัจจัยพร้อมทั้งได้ร่วมกันใส่บาตรพระใหม่ 12 รูป ส่วนกรณีจัดการเรียนการสอนพิเศษ ให้กับทีมหมูป่าได้มีการประชุมหาหรือถึงแนวทางการจัดการ โดยให้ผู้อำนวยการโรงเรียนไปจัดการแผนการสอน ให้สอดคล้องกับการเรียนของเด็กแต่ละบุคคล พร้อมกับจะต้องให้เด็กเรียนให้ครบตามหลักสูตร ขณะนี้ได้พูดคุยกับทางพระครูประยุทธ์ เจติยานุการ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยเวา ว่าจะส่งครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้ามาสอนพิเศษที่วัด ในขณะที่สามเณรกำลังบวชอยู่ จะเน้นวิชาหลัก เช่น ไทย คณิตศาสตร์ อังกฤษ จากนั้นเมื่อสามเณรลาสิกขาบท จะให้ไปเรียนเพิ่มจนครบ และสอบตามมาตราฐาน
นอกจากนี้ นายกิตติชัย ยอมรับว่า สำนักงานพื้นที่การศึกษาไม่ได้กังวลแต่อย่างใดต่อการเรียนของเด็กๆ เพราะส่วนใหญ่ค่อนข้างเรียนเก่ง สามารถเรียนตามเพื่อนได้ตามปกติ และการให้งานของครูต้องเป็นไปตามหลักสูตร หากทางวัดพระธาตุดอยเวา กำหนดวันที่ชัดเจนแล้วทางสำนักงานพื้นที่การศึกษาฯ จะสามารถส่งบุคลากร เข้ามาสอนได้ทันทีเพราะขณะนี้มีความพร้อมสมบูรณ์แล้ว
นางรุ้งรัตน สงวนวงษ์ คนรู้จักพระโค้ชเอกพล วิสารโท ภิขุ ในฐานะที่เคยร่วมปฏิบัติธรรมที่วัดพระธาตุดอยเวา อำเภอแม่สายอย่างบ่อยครั้ง จนกระทั่งได้รู้จักกับพระโค้ชเอก ตอนที่เด็กและพระโค้ชเอกติดอยู่ในถ้ำ ตนเองและทีมงาน ได้นั่งสมาธิเจริญจิตภาวนา ขอให้พระโค้ชกเอกและน้องๆ ปลอดภัย จะได้ตั้งจิตอธิฐานว่า อยากจะให้ทุกคนรอดออกมาปลอดภัยแล้วเข้าพิธีบรรพชา-อุปสมบท ทั้ง13คน เมื่อทุกอย่างประสบความสำเร็จแล้ว ประกอบกับทุกคนก็ได้เข้าพิธีบรรพชา-อุปสมบทจริง ตามที่ตนเองตั้งจิตภาวนาไว้ ทำให้รู้สึกดี บุญกุศลอันยิ่งใหญ่ แต่การบวชจัดขึ้นเพียงแค่ 12 รูป ทำให้ไม่เป็นไปตามสัจอธิฐาน และตนยังเป็นผู้ประสานงานกับภรรยาของนางวลีพร กุนัน ภรรยาจ่าแซม ให้เดินทางมาร่วมพิธีอุปสมบทครั้งนี้
วันนี้ทาง ผู้ปกครองและญาติของโค้ชและนักเตะ 13 คน ของทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ ตลอดจนประชาชนทั่วไปและภาคส่วนราชการ ได้นำหัวหมู ไก่ต้ม เครื่องอาหารคาว-หวาน ตลอดจนผลไม้ และเครื่องเซ่นสังเวย เดินทางไปที่บริเวณ วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อไปแก้บนกับเจ้าแม่นางนอน และสิ่งศักดิ์ทั้งหลายทั้งปวงในถ้ำหลวง พร้อมกับจัดชุดการแสดงอีกหลายชุดมาแสดงและรำถวาย บริเวณปากถ้ำหน้าป้ายวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
ด้าน
อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ได้ระดมกำลังศิลปินหลายคนร่วมกันนำดินน้ำมันและวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องปรับรายละเอียดบางอย่างของรูปทรงเพื่อให้สวยงามยิ่งขึ้นด้วย ส่วนการปั้นพบว่าศิลปินหลายคนต่างพากันเข้าช่วยปั้น ส่วนภายในโรงเหล็กมีทั้งภาพของจ่าแซม การจำลองการสวมใส่ชุดประดาน้ำพร้อมอุปกรณ์ของจ่าแซมจริงๆและการใช้หลักวิชาการวิชาสรีระวิทยาเพื่อให้ได้สัดส่วนที่สมจริง
อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่าหลังจากเราได้โฟมต้นแบบมาครั้งก่อนแล้วและได้นำมาปรับจนได้รูปทรงที่สมบูรณ์โดยล่าสุดให้มีความสูงตลอดความยาวทั้งฐานและรูปปั้นจ่าแซมสูงประมาณ 4.30 เมตร จากนั้นจึงได้เริ่มทำการปั้นจริงกันแล้วและล่าสุดยังพบว่าทางศิลปินช่างแกะสลักหินที่ อ.แม่สาย ก็อยากจะมีส่วนร่วมด้วยจึงจะขอรับแกะส่วนตรงฐานให้เป็นหินอ่อนโดยจะปั้นรูปทรงให้เสร็จเรียบร้อยแล้วก่อนจากนั้นจะส่งไปแกะสลักส่วนฐานทั้งหมดที่ อ.แม่สาย ต่อไป ส่วนการหล่อคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนแล้วเสร็จ ทั้งนี้กรรมวิธีการปั้นจะเน้นเสมือนจริงโดยเริ่มจากการใช้หลักกายวิภาค เช่น ปั้นกล้ามเนื้อต่างๆ ให้แล้วเสร็จก่อนจากนั้นจึงปั้นส่วนที่เป็นอุปกรณ์ประดาน้ำต่อไปตามลำดับจึงทำให้มีความงดงามอย่างแน่นอน
อาจารย์เฉลิมชัย ยังบอกอีกว่า สำหรับภาพวาดเดอะฮีโร่บนผืนผ้าใบกว้าง 3 เมตร ยาว 13 เมตร ซึ่งบรรดาศิลปินได้ร่วมกันวาดเอาไว้ที่ขัวศิลปะ ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย นั้นล่าสุดได้วาดใกล้แล้วเสร็จแล้วและจะปิดการวาดภาพในวันที่ 28 ก.ค.นี้ จากนั้นก็จะเคลือบเอาไว้ให้เรียบร้อยแล้วนำจัดแสดงที่ขัวศิลปะประมาณ 1 เดือน ก่อนจะนำไปเก็บเอาไว้ที่โรงเหล็กภายในวัดร่องขุ่นดังกล่าวซึ่งจะมีการปั้นรูปปั้นของจ่าแซมด้วย ทำให้ผู้ไปเยือนสามารถไปชมกันได้ทั้งภาพวาดและรูปปั้นดังกล่าวได้อย่างพร้อมเพรียงกันจนกว่าจะสร้างศาลาที่หน้าวัดหลวงแล้วเสร็จแล้วนำทั้งหมดไปจัดแสดง ณ สถานที่ดังกล่าวต่อไป