ห้างฯ แทบร้าง - ร้านแทบเจ๊ง ผู้ประกอบการฉะล็อกดาวน์ไม่ชัดเจน ทำหมดตัวรัฐไม่ช่วย (คลิป)

10 พ.ค. 64

กรณีประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2564 มีมติเห็นชอบคงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และดำเนินมาตรการควบคุมที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม เนื่องจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังมีจำนวนสูง เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด

592303

สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 22) ลงวันที่ 29 เม.ย.64 ต่อไปอีก เพื่อให้สามารถยุติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้โดยเร็ว จึงมีคำสั่งให้ปิดสถานที่และใช้บังคับมาตรการ ที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 25 เม.ย.64 และ (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เม.ย.64 จนถึงวันที่ 17 พ.ค.64

460291

แน่นอนว่าจากการประกาศขยายเวลาปิดสถานที่เสี่ยงดังกล่าว ทำให้เหล่าผู้ประกอบการหลายรายต่างโอดครวญถึงผลกระทบที่ได้รับกันถ้วนหน้า อย่างร้านชาบู ปิ้งย่างบุฟเฟต์ชื่อดังย่านวุฒากาศ ซอย 6 “โกดังชาบู” เมื่อวันที่ 7 พ.ค.64 ก็ได้มีการเคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของร้านว่า

674763

“ไอ้__เตรียมดิวกับซัพพาย เตรียมซื้อของเข้าร้าน เตรียมสถานที่ล่วงหน้า เตรียมความพร้อมจะเปิดอยู่แล้ว ประกาศมาอีกแล้ว ทำไมพวกมึงไม่เอาแน่ ๆ ชัด ๆ จะปิดกี่วัน มึงทำงานแบบเด็กเล่นขายของ จะปิดก็ปิด จะเปิดก็เปิด กูนี่ทำใจกับรอบ 4 รอบ 5 และบอกตามตรงเลย แต่ทำใจไม่ได้กับเรื่องกำหนดเวลาเปิด กำหนดเวลาเปิดแบบนี้อีก การทำงานของคณะ__มันก็จะประมาณนี้ กะเอาให้ตายเลยใช่ไหมพวก__ทำงาน และ__ไม่ปิดห้าง ใครก็ไปเดินเล่นไปแพร่ขยายกันต่อไปอีก__ทำงาน แถมเลือกปฏิบัติ กูก็สุดจะทน ไม่อยากจะด่าแรง ๆ แต่แม่งสุดจริงๆ ไอ้__”

ล่าสุดวันที่ 10 พ.ค.64 ทีมอมรินทร์ ทีวี ลงพื้นที่ไปยังร้านดังกล่าวพบว่าสภาพร้านเงียบมาก ๆ โต๊ะและเก้าอี้ถูกวางไว้ยังที่เดิม แต่ไม่มีการใช้งาน บนพื้นเต็มไปด้วยใบหูกวางแห้ง ๆ ที่ร่วงโรยลงมาจากต้น

312619

“คุณตึ๋ง-พยุหะ ลลิตพงค์พาณิช” เจ้าของร้านวัย 36 ปี บอกว่า ปกติแล้วทางร้าน “โกดังชาบู” จะเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 16.00-05.00 น. และขายในราคาบุฟเฟต์หัวละ 149 บาท ซึ่งวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี รายได้จะอยู่ที่ วันละ 20,000 กว่าบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายภายในร้านแล้ว กำไรจะประมาณ 2,000-3,000 บาท และในวันศุกร์-อาทิตย์ จะอยู่ที่ 30,000-40,000 บาท บาท หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือประมาณ 4,000-5,000 บาท

558090

แต่เมื่อเจอสถานการณ์โควิด-19 รอบแรกไป รายได้ต่อวันก็ตกลงมาเหลือ 10,000 กว่าบาท พอมาเจอโควิด-19 รอบ 2 ก็หนักเข้าอีก บางวันมีรายได้ไม่ถึง 10,000 ด้วยซ้ำ ซึ่งทั้ง 2 รอบตนก็กัดฟันสู้เปิดร้านต่อไปภายใต้มาตรการป้องกันที่เคร่งครัด แต่พอมาเจอกับรอบที่ 3 ทำให้ไม่สามารถเปิดร้านขายได้ จะขายออนไลน์ก็ไม่ค่อยมีลูกค้า บางวันถึงกับไม่มีออร์เดอร์ ไม่มีรายได้เข้าร้านเลยก็ว่าได้

276805

ทั้งนี้ ตนยอมรับว่ามีภาระต้องรับผิดชอบเยอะมาก อย่างค่าเช่าร้านที่เดือนละ 8,000 บาท ค่าไฟเดือนละ 20,000 บาท ค่าน้ำเดือนละ 1,600-1,700 บาท ส่วนลูกน้องจากเดิมที่มีอยู่เกือบ 20 กว่าคน ตอนนี้ก็ต้องทยอยแยกย้ายกันไป เพราะตนไม่มีรายได้จ้างต่อ ทำให้เหลืออยู่ 4-5 คน ซึ่งตรงนี้ตนก็ไม่ได้ทิ้ง จัดการรับผิดชอบด้วยการให้อยู่ฟรี กินฟรีทุกมื้อไป ค่าเทอมลูก 2 คน รวมเกือบ 20,000 บาท ไหนจะหนี้ที่กู้มาช่วงโควิด-19 รอบแรกอีก 150,000 บาท ยังไม่ทันได้คืนก็ต้องเจอกับรอบ 2 ทำให้ต้องกู้เพิ่มอีก 80,000 บาท รวมแล้วประมาณ 230,000 บาท ซึ่งสำหรับตนแล้วถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมาก ทำให้รู้สึกว่าหากรอบนี้ไปต่อไม่ไหวจริง ๆ ก็คงลำบากเพราะไม่กล้าแบกหน้าไปขอกู้อีกแล้ว

ขณะนี้ช่องทางที่จะเป็นรายได้เข้ามา ก็มีเพียงแค่ทางเดียว คือ การขายผ่านออนไลน์ แอปพลิเคชัน Shopee, Line shopping และไลฟ์สดผ่านเฟสบุ๊กแฟนเพจของร้าน “โกดังชาบู” มันก็ไม่ได้ขายดีขนาดนั้น เพราะตนไม่ได้โปรโมตมาตั้งแต่แรก คนรู้จักในออนไลน์ก็เลยน้อย โดยเมนูที่ขายอยู่ในตอนนี้ก็จะเป็นเซ็ตเดลิเวอรี่ 299, 499 และ 999 บาท และน้ำจิ้มสูตรของทางร้าน ราคา 59 บาท ปริมาณ 400 มิลลิลิตร

563761

“คุณตึ๋ง” กล่าวต่ออีกว่า การขยายเวลาปิดสถานที่ชั่วคราวแบบนี้ เปรียบเสมือน “เกาไม่ถูกที่คัน” ทำให้ตลอด 1 ปีกว่าที่มีโควิด-19 เข้ามายังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทุกอย่างยังวนอยู่ที่เดิม กลับกันมีแต่สถานการณ์หนักขึ้นในทุก ๆ รอบ ทั้งยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ยิ่งไปกว่านั้นสภาพเศรษฐกิจแย่ลงเรื่อย ๆ ถ้าถามถึงการได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐ ตนก็ยอมรับว่าได้มาโครงการหนึ่งและเป็นโครงการเดียวที่ได้คือ เงิน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 งวด รวมแล้ว 15,000 บาท ตนก็พยายามโทรสัพท์ไปถามแล้วว่าสามารถเข้าโครงการอื่นได้หรือไม่ คำตอบที่ได้กลับมาคือ “ไม่ได้ เพราะมีรายได้เกิน 300,000 บาทต่อปี” แต่จริง ๆ แล้วถ้าพูดถึงปีที่โควิด-19 เข้ามานั้นเป็นไปไม่ได้เลย

719791

ทั้งนี้ “คุณตึ๋ง” เกิดความไม่เข้าใจว่าทำไมการสั่งปิด-เปิดสถานที่ถึงไม่มีความแน่ชัด ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงทำงานด้วยความไม่แน่ใจ ซึ่งตรงนี้เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการเตรียมตัวไม่ถูก ไม่สามารถวางแผนอนาคตการทำงานได้ ก่อนหน้านี้ก็มีการประสานติดต่อกับผู้จำหน่ายของสดไว้แล้ว เพื่อเตรียมเปิดร้านในวันที่ 9 พ.ค.64 แต่ก็ต้องมาผิดคำพูด ขอยกเลิกเขาไปเพราะความไม่ชัดเจนของภาครัฐ ดังนั้นตนมองว่าหากจะแก้ไข ครั้งนี้ก็คงต้องแก้ที่คนทำงาน หรือจะเปรียบเทียบง่าย ๆ หากผู้นำรู้ตัวได้ว่าไม่สามารถพาบริษัทไปในทางที่ดีได้ ก็ต้องหลีกทางให้คนที่สามารถทำได้เข้ามาทำแทน ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองก็จะเละแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม ตนก็อยากฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า “ก่อนจะพูดหรือออกประกาศอะไร ก็ควรที่จะคิดและปรึกษากันก่อน ทั้ง ๆ ที่คุณมีทีมเป็นร้อยชีวิต แต่คุณทำงานได้แค่นี้ ถ้าคุณจะกำหนดก็กำหนดมาเลยว่าภายใน 1 เดือน คุณทำอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย แต่นี่ทุกอย่างมันวนเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะถ้ามันเปลี่ยนแปลง เราก็คงจะเห็นอะไรที่มันเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว”

แน่นอนว่ายังคงต้องพูดถึงสำหรับเรื่องราวของผลกระทบในส่วนของภาคธุรกิจและผู้ประกอบการหลากหลายธุรกิจ ที่ได้รับพิษจากโควิด-19 ทำให้บางรายถึงขั้นปิดกิจการ หรือบางรายอาจจะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น

358677

เช่นเดียวกับทาง "พี่ปลา ฟินาเล่" หรือ คุณสุดจิตร์ สุดจิตต์ เวดดิ้งกูรูชื่อดัง เจ้าของแบรนด์ ฟินาเล่ เวดดิ้ง สตูดิโอ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ถึงขั้นรายได้หายไปเกือบ 70% ขณะที่ร้านอาหาร "แล็กซ์" ย่านอาร์ซีเอ ก็ได้รับผลกระทบถึงขั้นต้องปิดให้บริการเป็นการชั่วคราว ทั้งที่ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายหลักแสนต่อเดือน

631409

ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี มีโอกาสเดินทางไปพูดคุยกับทาง "พี่ปลา ฟินาเล่" ที่ออฟฟิศ "ฟินาเล่ เวดดิ้ง สตูดิโอ" ย่านวังทองหลาง ซึ่งเปิดบริการครบรูปแบบเกี่ยวกับชุดวิวาห์งานแต่ง ตามที่หลายคนทราบ

283514

เมื่อถามถึงผลกระทบที่มีต่อธุรกิจจากสถานการณ์โรคระบาด "โควิด-19" ทางเจ้าตัวเล่าให้ฟังว่า สำหรับธุรกิจฟินาเล่ เวดดิ้ง สตูดิโอ ตนยอมรับว่าค่อนข้างได้รับผลกระทบแบบเต็ม ๆ โดยเฉพาะโควิด-19 ระลอที่ 3 ทำเอารายได้หายไปกว่า 70% แต่ยังโชคดีที่ยังมีลูกค้าบางส่วนที่ยังมีศักยภาพ หรือกำลังในการใช้จ่าย เพราะว่าธุรกิจที่ตนทำเป็นเรื่องของงานแต่งหรือวิวาห์ ทำให้ลูกค้าบางรายได้กำหนดวันและเวลาตามฤกษ์งามยามดีที่ตั้งไว้ ทางภาครัฐเองไม่ได้สั่งห้ามจัดงานแต่งที่แขกมีไม่เกิน 20 คน แต่ในส่วนของลูกค้าใหม่หลังจากต้นปี 64 ที่ผ่านมา ค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของทุก ๆ ปี

668720

ทั้งนี้รายได้หายไปค่อนข้างหลายล้านบาท ขณะที่รายจ่ายตนต้องจ่ายทุก ๆ เดือนตกอยู่ที่ 1.5 - 2 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าพนักงานจำนวนกว่า 50 คน โดยเป็นส่วนของเวดดิ้ง จำนวน 30 คน และเป็นส่วนของร้านอาหารย่านอาร์ซีเอ 20 กว่าคน ส่วนวิธีรับมือหลังรายได้หดหายไปนั้น ตนก็มีปรับเปลี่ยนเรื่องเวลาการเข้างานของพนักงานเป็นหลัก แต่ไม่ปรับลดเงินเดือนคือจะกระจายรายได้ให้พนักงานเท่าเดิม เพียงเเค่อาจจะผลัดเวรกันเข้ามาในออฟฟิศแค่นั้น และได้สอบถามความสมัครใจว่าหากใครจะสู้ต่อก็อยู่ได้ แต่หากใครมีช่องทางที่ดีหว่าก็สามารถบอกตนได้ เพราะตนค่อนข้างแฟร์ รวมไปถึงยังเปิดโอกาสให้ลูกน้องสามารถรับเงินเสริมได้ เช่น ใครถนัดเรื่องถ่ายภาพ หรือ แต่งหน้า ก็สามารถไปรับงานนอกเพื่อเพิ่มรายได้ เพราะตนมองว่าเป็นการช่วยเหลือพนักงานอีกรูปแบบหนึ่ง

195172

เมื่อถามถึงแผนการการรับมือหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อออกไป "พี่ปลา" ระบุว่า โชคดีที่ตนค่อนข้างเป็นคนคิดอยู่ภายใต้สติ พร้อมปรับแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนการเดินไปข้างหน้านั้นนอกเหนือจากปรับเปลี่ยนเรื่องค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แล้ว ตนยังปรับกลยุทธ์เรื่องของการตลาด อาทิ เปิดช่องทางออนไลน์ให้ลูกค้าสามารถมาใช้บริการเช่าชุด หรือปรึกษาเรื่องงานแต่งผ่านการวิดีโอคอล ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของลูกค้าในเมืองไทยและต่างประเทศ ทำให้มีรายได้บ้าง เมื่อถามว่าเปอร์เซ็นต์ระหว่างลูกค้าไทยกับต่างชาติอันไหนมากกว่ากัน ตอนนี้ลูกค้าต่างประเทศค่อนข้างเริ่มขยับ

539581

ขณะที่ผลกระทบในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร ย่านอาร์ซีเอ ตนยอมรับค่อนข้างท้อ และเริ่มถอดใจ แต่ไม่ถอยเพราะตอนนี้เพียงแค่ปิดให้บริการชั่วคราว เพื่อเป็นไปตามมาตรการของภาครัฐ ส่งผลให้รายได้เป็นศูนย์ ส่วนรายจ่ายค่าเช่าสถานที่หรือค่าจ้างพนักงานที่ยังต้องจ่ายเดือนละ 1-2 แสนบาท ยังคงต้องจ่ายต่อเนื่อง แต่ตนก็ยังสู้ต่อไป เพราะเชื่อว่าอนาคตสถานการณ์คงจะดีขึ้น

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ทุบโต๊ะข่าว เป็นกระแส