จากเหตุการณ์ระทึกขวัญ แรงงานไทยในอิสราเอลถูกระเบิด ในสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งมีการโจมตีโดยกลุ่มฮามัสที่โมชาฟ โอฮัด (Ohad) ในเมืองเอชโคล (Eshkol) อยู่ห่างจากฉนวนกาซ่า 14 กิโลเมตรนั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เมียช็อกเห็นผัวถูกระเบิดตายผ่านมือถือ เพิ่งทำงานอิสราเอล 3 วัน
โดยนายสิขรินทร์ สงำรัมย์ หรือ ลิฟ อายุ 23 ปี 1 ใน 2 แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์กองทัพอิสราเอล การโจมตีทางอากาศ เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สร้างความหวั่นวิตกให้กับญาติแรงงานไทยในอิสราเอล เป็นอย่างมากถึงความปลอดภัย
วันที่ 20 พ.ค. 64 นายขจรศักดิ์ ชัยบุญ อายุ 35 ปี ชาวบ้านละหานค่าย ต.โคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ แรงงานที่ประสบเหตุ เป็นผู้เข้าไปช่วยแรงงานชาวบุรีรัมย์ เล่าว่า ช่วงเกิดเหตุ เป็นเวลาประมาณ 18.00 น. ของวันที่ 18 พ.ค. 64 ช่วงนั้นเป็นช่วงเลิกงาน ได้ยินเสียงเตือนให้หลบเข้าไปในบังเกอร์ คนไทยซึ่งอยู่ในแคมป์ประมาณ 60 คน ต่างวิ่งหนีอลหม่านเพื่อหาที่หลบซ่อนให้ปลอดภัย
จากนั้นได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้น 1 ครั้ง ไม่กี่นาทีระเบิดได้มาอีกระลอก แต่ไม่ได้ยินเสียงเตือน ทำให้แรงงานหลบไม่ทัน หลังจากเสียงระเบิดสงบ ได้ออกจากที่พักมาดู พบว่าน้องลิฟได้รับบาดเจ็บนอนอยู่ แต่ยังหายใจ จึงรีบไปดูแรงงานอีกคน พบว่าตัวขาดครึ่งแล้ว จึงวิ่งกลับมาดูน้องลิฟ แล้วรีบเอาร่างเข้าในบังเกอร์ ในสภาพมือขวายังกำโทรศัพท์ที่คุยกับแฟนสาวอยู่
ตอนนั้นทุกคนพยายามช่วยกันปั๊มหัวใจ แต่น้องเริ่มหายใจช้าแล้วนิ่งลง ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา ยอมรับน้องโชคร้ายเพราะอีกประมาณ 5 ก้าวก็จะเข้าไปบังเกอร์ได้แล้ว
นายขจรศักดิ์ กล่าวต่อว่า สภาพในตอนนี้แคมป์คนงานได้รับความเสียหายอย่างหนัก จะต้องรีบซ่อมแซมเพื่อให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ส่วนตัวยังมีกำลังใจจะยังไม่กลับบ้าน แต่มีแรงงานอีกหลายคนที่อยากกลับเมืองไทยแล้ว เพราะเริ่มไม่มั่นใจในความปลอดภัยแล้ว
ทีมข่าวเดินทางไปบ้านของ นายสิขรินทร์ ผู้เสียชีวิต บ้านเลขที่ 197 หมู่ 1 ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ น.ส.อรทัย กองมะเริง อายุ 21 ปี ภรรยาของนายสิขรินทร์ เปิดใจว่า ก่อนที่นายสิขรินทร์จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ได้ไปกู้หนี้ยืมสินมา 150,000 บาท เพื่อไปเดินเรื่องเอกสาร ค่าตั๋วเครื่องบิน และเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน โดยกู้เงินจากญาติพี่น้อง ทำสัญญาเงินกู้กันไว้
ขณะเดียวกัน หลังจากสามีเสียชีวิต หนี้สินทั้งหมดตนเองต้องรับผิดชอบหนี้จำนวน 150,000 บาท ทางด้านบริษัทนายจ้างที่ประเทศอิสราเอล จะรับผิดชอบส่งค่าใช้จ่ายให้ลูก แต่ละเดือนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์จากเงินเดือนสามี ให้ไปจนถึงลูกอายุ 18 ปี ส่วนตนเองไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต้องรอทางบริษัทพิจารณาอีกทีว่าจะมอบเงินช่วยเหลือหรือไม่
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือของภาครัฐเบื้องต้น แรงงานจังหวัดจะช่วยเหลือค่าจัดการงานศพ 40,000 บาท จากกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ค่าทำศพจากประกันสังคม 50,000 บาท อยากขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยเหลือเต็มที่ ตนเองไม่อยากเรียกร้องอะไรอีก ส่วนเรื่องศพของสามี จะถูกส่งขึ้นเครื่องบินวันที่ 25 พ.ค. และจะมาถึงประเทศไทยวันที่ 26 พ.ค. ช่วงบ่ายและศพจะถึงบ้านในช่วงเย็น
รายงานข่าวจากหน้าเว็บไซต์ เยรูซาเล็ม โพสต์ ของอิสราเอล เกี่ยวกับชะตากรรมที่เลวร้ายและยากลำบากของแรงงานชาวไทยในอิสราเอล ที่ถือเป็นปัญหาที่ถูกละเลยเพิกเฉยมายาวนาน ระบุว่า แรงงานชาวไทยโดยเฉพาะแรงงานที่เข้ามาทำงานในภาคการเกษตรของอิสราเอล ถือเป็นกลุ่มแรงงานที่เปราะบางและสุ่มเสี่ยงที่สุดต่อการโจมตีด้วยจรวดของกลุ่มฮามาส ชีวิตแรงงานชาวไทยในอิสราเอลแทบไม่ได้รับการปกป้องใด ๆ และชีวิตของแรงงานไทยเหล่านี้มีสภาพเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย
สาเหตุหลักที่ทางการอิสราเอล ไม่ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองแรงงานชาวไทย เป็นเพราะทางการมองว่า พวกเขาเป็นแรงงานไร้ฝีมือ อีกทั้งส่วนใหญ่ก็พูดภาษาอังกฤษหรือภาษาฮิบบรูว์ ภาษาประจำชาติของอิสราเอลไม่ได้ ขณะที่องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานหลายแห่งในอิสราเอล ได้พยายามต่อสู้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินมาตรการเพิ่มปกป้อง คุ้มครองแรงงานไทยมากขึ้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา มีแรงงานชาวไทยเสียชีวิตจากการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธจากปาเลสไตน์แล้วอย่างน้อย 4 ราย ซึ่งรวมถึง 2 คนงานไทยรายล่าสุดที่เสียชีวิต ยังไม่รวมถึงแรงงานไทยอีกนับสิบที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส จากการโจมตีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"แรงงานในภาคเกษตรชาวไทย เป็นหนึ่งในกลุ่มแรงงานที่เปราะบางและเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากจรวดของกลุ่มฮามาส มากที่สุดในอิสราเอล ความสูญเสียระทมทุกข์ในหมู่แรงงานต่างชาติเป็นผลสืบเนื่องจากการเพิกเฉย ไม่ดำเนินการใด ๆ ของรัฐบาล ในการปกป้องแรงงานต่างชาติเหล่านี้ อีกปัญหาหนึ่งที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขคือ การขาดแคลนหลุมหลบระเบิด หรือห้องนิรภัยสำหรับเหล่าแรงงานชาวไทย"
สำนักงานจัดหางานจังหวัดหนองบัวลำภู เดินทางมาให้กำลังใจครอบครัว นายจักรี รัตพลที อายุ 31 ปี ซึ่งเป็นคนงานเดินทางไปอิสราเอล และได้รับบาดเจ็บ นางสาวณัฐวรา รัตพลที ภรรยาพร้อมด้วยลูกชายหญิง 2 คน และนางบุญยัง ดอนบรรเทา แม่ยายของนายจักรี ได้ลงทะเบียนให้สามีกลับมาประเทศไทยแล้ว ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 15 พ.ค. 64 ลำดับที่ 1,309 หลังเห็นว่าสถานการณ์เริ่มรุนแรงอันตรายมากขึ้น แต่ก็ไม่คิดว่าพอถึงวันที่ 18 พ.ค. 64 จะได้รับบาดเจ็บถูกสะเก็ดระเบิดที่บริเวณแขน แต่ตอนนี้ก็ถือว่าพ้นขีดอันตรายแล้ว
นางสาวณัฐวรา กล่าวว่า ตนอยากให้สามีกลับมาโดยเร็ว ตอนนี้รู้สึกเป็นกังวล เป็นห่วง ขอให้กลับมาตั้งหลักรักษาตัวอาการบาดเจ็บที่บ้านก่อน เพราะว่าจริง ๆ แล้วอยู่บ้านเราทำงานด้วยกัน 2 คนก็พอใช้จ่ายอยู่ เพราะแฟนก็เป็นช่าง แต่ด้วยความรู้สึกว่าอยากจะมีความเป็นอยู่ที่ดี จึงได้สมัครไปทำงานต่างประเทศ ส่วนว่าจะไปอีกหรือไม่นั้น ก็ค่อยดูอีกครั้งหนึ่ง แต่คงไม่กลับไปที่อิสราเอลอีกแล้ว แต่ละวันจะมีการโทรวีดีคอลพูดคุยกันตลอดทุกวัน และคุยกับลูกสาวลูกชายด้วย พร้อมกับฝากไปยังเพื่อนที่จะไปทำงานต่างประเทศ ขอให้ไปแบบที่ถูกกฎหมาย จะได้รับการดูแลช่วยเหลือจากทางราชการเป็นอย่างดี
ส่วนที่ จ.อุดรธานี บ้านของนายธนดล หรือ เบบี้ ขันธชัย อายุ 26 ปี แรงงานชาวอุดรธานี ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุโจมตีด้วยจรวดของกลุ่มฮามัส มีนางถวิล ขันธชัย อายุ 51 ปี แม่ค้าขายดอกไม้ แม่ของนายธนดล พร้อมญาติและเพื่อนบ้านที่ยังคงเดินทางมาให้กำลังใจ พร้อมวิดีโอคอลพูดคุยกันนั้น
นางถวิล พร้อมญาติ พูดคุยกับนายธนดลว่า ตอนนี้ออกจากโรงพยาบาลกลับมาอยู่ที่แคมป์ของนายจ้างแล้ว ซึ่งอาการบาดเจ็บดีขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้กินข้าวกินปลามา 2 วัน เพราะกินไม่ได้ เจ็บแผลที่ปากและแก้ม กินได้แต่นม และสถานการณ์ยังเหมือนเดิมที่มีการสู้รบกันอยู่ และก็ไม่ได้ทำงาน พักผ่อนรักษาตัวอย่างเดียว ส่วนการจะเดินทางกลับประเทศไทยไม่รู้ว่าวันไหน แต่จะได้กลับเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ นายธนดลเล่าว่าตอนเกิดเหตุได้ยินแต่เสียงของตกลงมา ตนจึงรีบวิ่งจะเข้าไปหลบในบังเกอร์ แต่หลบไม่ทัน มีเสียงระเบิดดังขึ้น ทำให้ตัวเองถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่แก้ม และที่ท้อง ซึ่งตนเพิ่งจะทำงานได้แค่ 3 วันเท่านั้น
ตอนนี้ตนได้ทำการลงทะเบียนเพื่อขอกลับประเทศไทย เพราะกลัวและไม่กล้าอยู่ทำงานต่อ ส่วนการลงทะเบียนกลับไม่ทราบว่าจะได้กลับวันไหน แต่น่าจะเร็ว ๆ นี้ นายจ้างว่าจะให้เงินค่าจ้าง รวมทั้งรัฐบาลของเขาด้วยความหวังที่ไปทำงานที่อิสราเอล เพื่อหาเงินกลับบ้าน เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้น ก็คงกลับไปหาเงินที่ประเทศไทยแบบมีชีวิตรอดดีกว่า ส่วนคนที่ตายก็เป็นเพื่อนร่วมห้องที่นอนด้วยกัน ซึ่งทางแม่และญาติก็อยากให้ตนกลับประเทศไทย กลับมาตั้งหลักที่ประเทศไทยใหมต่อไป