บุญรอดฯ ฟ้องพ.ร.บ.คอมฯ คนโพสต์กล่าวหา ให้ ตร.ใช้เป็นที่ยิงแก๊สน้ำตา #ม็อบ17พฤศจิกา

20 พ.ค. 64

บุญรอดบริวเวอรี่ ฟ้องพ.ร.บ.คอมฯ คนโพสต์กล่าวหา ให้ ตร.ใช้เป็นที่ยิงแก๊สน้ำตา #ม็อบ17พฤศจิกา

วันที่ 20 พ.ค.64 เว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยว่า จากกรณีบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด กล่าวหาประชาชนผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ภาพการสลายการชุมนุม บริเวณใกล้อาคารรัฐสภา #ม็อบ17พฤศจิกา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 63 พร้อมข้อความวิพากษ์วิจารณ์ กรณีพบว่าอาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากพื้นที่ของบริษัท 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 63 ประชาชน 2 ราย ได้แก่ ธนากร ท้วมเสงี่ยม และงามแสนหลวง สิงห์เฉลิม ได้รับหมายเรียกและถูกพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 ว่า “เรื่องนี้บุญรอดต้องคําตอบให้ประชาชน ผมกําลังจะไปดูให้เห็นกับตา” พร้อมกับอัปโหลดรูปภาพป้ายของบริษัทฯ ผู้กล่าวหา ซึ่งมีข้อความว่า “แก๊สน้ำตายิงออกมาจากที่นี่ บริษัทนี้ให้ตํารวจเข้าไปข้างใน ยิงแก๊สน้ำตาออกมาใส่ประชาชน”

ต่อมาพบว่านายสุรสิทธิ์ ทองจันทร์ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้บริหารบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ เป็นโจทก์ มีนายพรีดล สมสกุล เป็นทนายความ ได้ทยอยยื่นฟ้องต่อประชาชน 4 ราย ได้แก่ ธนากร ท้วมเสงี่ยม, งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม, สรญา ธนพุทธิสิริ และ มนต์ทิพา วิโรจน์พันธ์ุ โดยตรงต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ จากกรณีวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวใหม่ โดยระบุพฤติการณ์และข้อกล่าวหาแตกต่างกันจากข้อกล่าวหาเดิม โดยเฉพาะมีการฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นหลักด้วย และศาลได้ทยอยนัดหมายเพื่อไต่สวนมูลฟ้องแต่ละคดี ว่าศาลจะรับฟ้องเป็นคดีอาญาหรือไม่

ฟ้อง 3 ราย ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 

ในกรณีของธนากร, งามแสนหลวง และสรญา ได้ถูกฟ้องในวันที่ 29 ม.ค. 64 ระบุข้อกล่าวหาว่า “หลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน” และ “จำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลให้โจทก์ (บ.บุญรอดฯ) ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง”

ธนากร ถูกฟ้องเป็นคดีที่ อ.128/2564 โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าธนากรเป็นเจ้าของและผู้ดูแลเพจ “ประชาชนเบียร์” ในเฟซบุ๊ก และระบุว่าพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ามาจากการโพสต์ข้อความบนเพจ “ประชาชนเบียร์” จำนวน 2 ข้อความ ระหว่างวันที่ 17 – 18 พ.ย. 63 ข้อความว่า “เรื่องนี้บุญรอดต้องตอบคำถามให้ประชาชน ผมกำลังจะไปดูให้เห็นกับตา” พร้อมกับได้อัพโหลดรูปภาพป้ายของบริษัทบุญรอดฯ ซึ่งมีข้อความว่า “แก๊สน้ำตายิงออกมาจากที่นี่ บริษัทนี้ให้ตำรวจเข้าไปข้างในยิงแก๊สน้ำตาออกมาใส่ประชาชน” และข้อความว่า “ภาพเหตุการณ์หน้าบุญรอด” ประกอบกับอัพโหลดคลิปวิดีโอเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณถนนหน้าที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทบุญรอดฯ 

งามแสนหลวง ถูกฟ้องเป็นคดีที่ อ.129/2564 โจทก์ระบุว่างามแสนหลวงเป็นเจ้าของบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ ซึ่งเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 63 ได้เผยแพร่ข้อความว่า “แก๊สน้ำตาถูกยิงออกมาจากที่นี่ บริษัทนี้ให้ตำรวจเข้าไปยิงแก๊สน้ำตาออกมาใส่ประชาชน” และอัพโหลดรูปภาพป้ายชื่อบริษัทบุญรอดฯ

ส่วนสรญา ถูกฟ้องเป็นคดีที่ อ.130/2564 โจทก์ระบุว่าเธอเป็นเจ้าของบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ซึ่งได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเพจ “ประชาคมเบียร์” ซึ่งโพสต์เกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา จำนวน 1 ข้อความ และข้อความที่โพสต์เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 จำนวน 1 ข้อความ ใจความในลักษณะว่าตนถูกข่มขู่จะฟ้อง เนื่องจากมีคลิปไลฟ์สดเกี่ยวกับเหตุการณ์หน้าบุญรอด แต่ตนยืนยันว่าจะไม่ลบ

คำขอท้ายฟ้องของทั้งสามคดี ระบุว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  มาตรา 14 โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยลบข้อความดังกล่าว และให้ลงโฆษณาขอโทษบนหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และในเฟซบุ๊กของจำเลยเป็นเวลา 30 วัน โดยให้จำเลยออกจากค่าโฆษณาเองทั้งหมด

อีกรายถูกฟ้อง พ.ร.บ.คอมฯ พ่วง “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ด้วย

ส่วน มนต์ทิพา ถูกฟ้องเป็นคดี อ.602/2564 เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 64 คำฟ้องกล่าวหาว่ามนต์ทิพาได้โพสต์ในบัญชีเฟซบุ๊กหลายโพสต์เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 มีใจความวิพากษ์วิจารณ์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มต่างๆ ของบริษัทบุญรอด และวิพากษ์วิจารณ์การทำธุรกิจแบบผูกขาด

คำฟ้องระบุว่าข้อความ “เป็นการนำเข้าข้อมูลที่บิดเบือนและเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์” และ “มีเจตนาประสงค์ต่อผลให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง”

คำขอท้ายฟ้องในคดีนี้ระบุว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14, มาตรา 16/1, 16/2 และความผิดฐาน “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 และขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยลบข้อความดังกล่าวและลงโฆษณาขอโทษบนหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และในเฟซบุ๊กของจำเลยเป็นเวลา 30 วัน โดยให้จำเลยออกจากค่าโฆษณาเองทั้งหมด

นอกจากนั้นคำฟ้องในทุกคดียังระบุว่า “โจทก์ได้เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีต่อจำเลยจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่เนื่องจากพนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้าประกอบกับโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีด้วยตนเองจึงนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาล”

ทั้ง 4 คดีอยู่ในระหว่างการนัดหมายคู่ความเพื่อไต่สวนมูลฟ้องว่าศาลจะประทับรับฟ้องหรือไม่ เนื่องจากเป็นคดีอาญาและผู้ฟ้องคดีไม่ใช่พนักงานอัยการ โดยคดีของสรญา เดิมมีนัดไต่สวนมูลฟ้องเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา แต่มีการขอเลื่อนคดีออกไปเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด คู่ความมาจึงตกลงเลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้องเป็นวันที่ 20 ก.ย. 64  ส่วนอีก 3 คดี มีนัดไต่สวนมูลฟ้องในช่วงเดือน ก.ค. 64

สำหรับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 กลุ่มคณะราษฎรได้นัดหมายชุมนุมบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อติดตามผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุมของประชาชน โดยใช้รถฉีดน้ำผสมสารเคมีและแก๊สน้ำตา ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บจนถึงกับต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลหลายราย 

การสลายการชุมนุมดำเนินไปตั้งแต่เวลา 14.30 น.จนกระทั่งเวลา 19.30 น. และบริเวณหน้าสำนักงานใหญ่บริษัทบุญรอดฯ เป็นจุดที่มีการใช้แก๊สน้ำตาเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจมีการใช้พื้นที่ยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากบริเวณดังกล่าว

advertisement

ข่าวยอดนิยม