จากกรณีวันที่ 29 พ.ค. 64 น.ส.พุฒนันท์ สดมณี อายุ 51 ปี ผู้เป็นแม่ได้เฝ้าศพลูกชาย นายภาณุพงศ์ มณีมงคล อายุ 21 ปี ที่เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวมานาน 4 วั นโดยไม่นำศพลูกไปทำพิธีทางศาสนา จนศพเริ่มเน่าและส่งกลิ่นเหม็น เหตุเกิดขึ้นที่ห้องเช่าในชุมชนซอยวีนัส ถ.เทศบาล 2 ซอย3 ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี
วันที่ 31 พ.ค. 64 ทีมข่าวอมรินทร์ เดินทางไปยังมูลนิธิบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา (ศูนย์โยเร) สาขา จ.ฉะเชิงเทรา หมู่ 2 ต.คลองนา อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา มีประชาชนมากกว่า 50 คนที่มาร่วมกิจกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ทางศูนย์ระบุว่าไม่มีผู้ที่สามารถให้ความรู้อยู่ประจำศูนย์ ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้
นอกจากนั้น ทีมข่าวพยายามสอบถามเกี่ยวกับเรื่องการจำหน่ายเหรียญโยเร ทางศูนย์แจ้งว่าถ้าต้องการรับเหรียญ ก่อนหน้านี้สามารถเดินทางมาติดต่อขอรับได้ที่ศูนย์โยเรทั่วประเทศ ในราคา 3,000 บาท แต่ในวันทางศูนย์อ้างว่าไม่มีการจำหน่ายเหรียญโยเรแล้ว
นายคมสัน (นามสมมติ) อดีตลูกศิษย์ลัทธิโยเร เผยว่า คนที่เชื่อในลัทธิโยเรหนัก ๆ คือแม่ของตนอายุ 63 ปี จุดเริ่มต้นมาจากวัดธรรมกาย ถึงขั้นมีจัดตั้งสมาคม แสวงบุญกันเป็นกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อนแม่ กระทั่งกระแสวัดธรรมกายเริ่มเบาบางลง แม่เลยหันมาเข้าสู่ลัทธิโยเร จากการบอกเล่าปากต่อปากของกลุ่มเพื่อนที่ไปแสวงบุญด้วยกัน โดยศูนย์โยเรจะจัดตั้งเป็นมูลนิธิ บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา มี 24 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งแม่ก็ได้เข้ามาข้องเกี่ยวกับลัทธิดังกล่าวนานกว่า 20 ปี การรับเหรียญโยเรในช่วงแรกเสียค่าใช่จ่ายเพียงหลัก 100 บาท จนมารุ่นของตนหลัก 1,000 บาท กระทั่งล่าสุด 3,000 บาท จะต้องเสียค่าสมาชิกรายปีอีก 150 บาท
ตามความเชื่อที่ว่าหากรับเหรียญแล้ว จะสามารถใช้เป็นตัวสื่อแสงทิพย์จากพระศรีอาริยะเมตไตรย เพื่อใช้ยกมือโยเรให้ผู้อื่นที่อยู่เบื้องหน้า เสมือนเป็นการชำระล้างจิตใจให้ความทุกข์เบาบางลง เพื่อสร้างบุญต่อกับเพื่อนมนุษย์ หากนับถือลัทธิอย่างจริงจังก็จะได้ไปสู่สวรรค์ แต่สำหรับตนมองว่าลัทธิดังกล่าวเสมือนเป็นแชร์ลูกโซ่ ให้คนร่วมกันบริจาคทำบุญให้กับลัทธิ เพื่อหวังจุดประสงค์บางอย่าง เพราะทางลัทธิอ้างว่าบริจาคทำบุญมากก็จะมียศตามลำดับขั้นของบุญความดี ทุกครั้งที่มีกิจกรรมใหญ่ร่วมกัน ผู้ที่เข้าร่วมจะต้องไปลงชื่อ เพื่อใส่ซองทำบุญทุกครั้งตามกำลังศรัทธาเป็นค่าบำรุงมูลนิธิ นำเงินไปทำหนังสือของมูลนิธิแจก และแบ่งรายได้ไปยังศูนย์สำนักงานใหญ่ใน จ.สระบุรี
อีกทั้งผู้ที่อยู่ในลัทธิต้องใช้เวลาเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาอยู่ตลอด ทำให้ครอบครัวของตนเหมือนระหองระแหง ทำให้ความกลมเกลี้ยงของคนในครอบครัวลดน้อยลง เพราะต้องไปใช้เวลาอยู่กับลัทธิส่วนมาก หนักสุดถึงขั้นพ่อตนเป็นโรคประจำตัว โรคไต ความดันสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง จนเป็นผู้ป่วยติดเตียง แม่ก็กลับไม่พาพ่อไปหาหมอ แต่กลับพาไปเข้าลัทธิเพื่อให้กลุ่มเพื่อนช่วยกันล้อมวงยกมือโยเรรับแสงทิพย์ให้พ่อ ตนมองว่าในส่วนนี้ก็อาจจะดีขึ้น เพราะเกิดความสุขทางใจของคนที่เชื่อ แต่ถ้ามองถึงความเป็นจริงอาการพ่อก็ไม่ดีขึ้น หากไม่พาไปพบแพทย์ทำการรักษาที่ถูกต้อง กระทั่งล่าสุดพ่อของตนเสียชีวิตแล้วเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมาในวัย 65 ปี
นายคมสัน กล่าวต่อว่า กิจกรรมของลัทธิโยเรส่วนใหญ่ก็จะมีทำการเกษตร จัดดอกไม้ วาดรูปศิลปะ กิจกรรมผู้สูงอายุ อีกทั้งจะมี การอบรมเรื่องการยกมือโยเรเพื่อแพร่แสงทิพย์ไปยังผู้อื่น แต่ในส่วนนี้หากจะฝึกฝนได้จะต้องมีการรับเหรียญโยเรถึงจะทำได้เท่านั้น เสมือนใน 1 เหรียญโยเร จะถูกบรรจุแค่ชื่อของบุคคลที่ครอบครอง ห้ามนำไปขาย หรือแจกจ่ายให้กับผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม ที่ตนตัดสินใจออกมาพูดถึงเรื่องลัทธิโยเร เป็นเพราะว่าอยากจะรู้ว่าลัทธิดังกล่าวมีดีอย่างไร ทำไมถึงอยู่มาได้นานขนาดนี้ ตนจึงอยากเป็นเสียงสะท้อนเล็ก ๆ ของบุคคลหนึ่งที่ไม่เข้าใจ และอยากออกมาตั้งคำถาม
ส่วนกรณีเรื่องการนอนเฝ้าศพหรือยกมือโยเรเพื่อให้ศพฟื้นในส่วนนี้ตนขอไม่แสดงความคิดเห็น เนื่องจากตนไม่เคยได้ยิน สุดท้ายนี้ ตนมองว่าลัทธิดังกล่าวเป็นลัทธิหลอกลวงถึงทำให้แม่ของตนงมงายได้ขนาดนี้ ตนจึงอยากให้ผู้คนที่มีความคิดอยากจะเข้าลัทธิ ควรศึกษาให้ดีว่าจะมีผลดีหรือผลเสียกับชีวิตอย่างไรได้บ้าง
หลังจากนั้น นายคมสันให้ทีมข่าวดูหนังสือ "สวรรค์บนพื้นพิภพ" ฉบับที่ 9 ประจำเดือนเมษายน 2564 ที่ทางมูลนิธิบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ ด้วยกิจกรรมทางศาสนาได้จัดทำขึ้นจากเงินบริจาคของผู้เข้าร่วมลัทธิ จากการตรวจสอบเนื้อหาภายในหนังสือพบว่า
จะมีคำกล่าว และคำสั่งเสียของเมซุซามะ ผู้ก่อตั้งลัทธิโยเร รวมไปถึงบทคำปฎิญาณและคำอธิษฐาน ถูกจัดพิมพ์ไว้ในหนังสือรวมทั้งหมด 15 หน้า หน้าสุดท้ายเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของลัทธิโยเร ประกอบด้วย 8 หัวข้อด้วยกัน
1. เผยแพร่ธรรมะสู่จิตใจประชาชนทั่วไป
2. บำเพ็ญประโยชน์ และส่งเสริมสถาบันศาสนาพระมหากษัตริย์ ให้รุ่งเรืองสถิตสถาพร
3. ดำเนินการและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแบบอย่างของโลกในด้านสังคมสงเคราะห์
4. ดำเนินการและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแบบอย่างของโลกในด้านศาสนสัมพันธ์
5. บำเพ็ญประโยชน์ และส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง
6. ดำเนินการและส่งเสริมเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทย
7. เนินการและส่งเสริมโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง
8. ดำเนินการและส่งเสริมโครงการเกษตรกรรมชาติคิวเซ
นพ.มโน เลาหวณิช อดีตผู้ใกล้ชิดธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย บอกว่า ลัทธิโยเรนั้นมีความเหมือนกับธรรมกาย แต่เจตนาของโยเรนั้นดี เพียงคนบางกลุ่มสุดโต่ง อุตริคิดชุบชีวิตคน จนทำให้สังคมมองไม่ดี ลัทธิโยอิงความเชื่อมาจากศาสนาพุทธมหายาน สำหรับลัทธิโยเรในประเทศไทย เริ่มเข้ามาตั้งแต่ช่วงปี 2511-2512 โดยในปี 2530 ขณะที่ตนอยู่ภายในวัดพระธรรมกาย มีสาวกลัทธิโยเรจำนวนมากได้ขอเข้าร่วมกับธรรมกาย ทำให้ตนได้รับรู้ประวัติความเป็นมาของลัทธิโยเร ข้อดีของลัทธิโยเรเหมือนกับธรรมกาย คือมีการบริหารองค์แบบสมัยใหม่ มีลำดับชั้นการบริหารงานที่ชัดเจน มีเงินเดือนบางตำแหน่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นจิตอาสา
แต่ข้อแตกต่างระหว่างลัทธิโยเรกับธรรมกาย คือ ธรรมกายมีคำสอน ข้อกำหนด กฎเกณฑ์ ข้อบังคับชัดเจน แต่ลัทธิโยเรนั้นคำสอนไม่ชัดเจน ระบุเพียงเชื่อในบารมี เชื่อในเป้าหมาย เชื่อว่าต้องทำให้โลกมีสันติภาพ ทำให้โลกดีขึ้น แต่ไม่ระบุลงลึกทำให้คนตีความกันไปตามแบบฉบับของแต่ละคน จนความเชื่อแตกแขนง ทั้งนี้ เอกลักษณ์การปล่องพลังของลัทธิโยเรได้รับมาจากประเทศจีน ทางลัทธิเชื่อว่าจะมีแสงที่มองไม่เห็นถูกปล่อยออกมาจากฝ่ายมือ แสงบารมีของพระศรีอริยเมตไตรย เปรียบเสมือนการแผ่เมตตา
ต้องยอมรับว่าเจตนาและการกระทำของลัทธิโยเรในประเทศไทยนั้นค่อนข้างที่จะดี เนื่องจากได้มีการจัดตั้งองค์กรเป็นมูลนิธิฯ มีการสร้างฟาร์ม มีการตั้งโรงเรียน วิทยาลัยทางการเกษตร มีการลงมือช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ ทำให้ชาวบ้านมีกินมีใช้ โดยตนเชื่อว่าปัจจุบันมีคนที่ศรัทธาในลัทธิโยเรในประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคน สำหรับความเชื่อใหม่ที่ถือกำเนินขึ้นมานั้น เรียกว่า Cult (เคาท์) ซึ่งย่อมต้องถูกทัดทานหรือท้าทายจะความเชื่อเดิมที่คนส่วนใหญ่นับถือ และถูกย่อยสลายจากสังคม หากความเชื่อใดผ่านกระบวนการนี้ไปได้ ก็จะถูกยกเป็นศาสนา
ส่วนประเด็นการบริจาคจะมากน้อย จะให้เงินจนหมดตัวก็ขึ้นอยู่กับความน่าเลื่อมใสและความดึงดูดของผู้นำของความเชื่อนั้นขึ้นอยู่กับความสุดโต่งส่วนบุคคล ทุกความเชื่อ ทุกลัทธิ ทุกศาสนา มีบุคคลสุดโต่งทั้งสิ้น โดยในต่างประเทศ ลัทธิโยเรจะมีการเก็บค่าสมาชิก แต่ในประเทศไทยนั้นจะเปลี่ยนเป็นการเช่าบูชาของขลัง ได้แก่ เหรียญโยเร เนื่องจากคนไทยชอบเครื่องรางของขลัง แม้ทางลัทธิโยเรจะยืนยันว่าไม่มีการขายเหรียญทอง แต่ลึก ๆ แล้วตนเชื่อว่าต้องมีการขาย เพราะต้องนำเงินไปหมุนเวียนในองค์กร
ในประเด็นการเชิญชวนให้คนเข้าลัทธิโยเร ตนยืนยันว่ามีการเดินประกาศเผยแพร่ความเชื่อ แต่ใครจะพบเห็นหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการบอกปากต่อปาก สุดท้ายตนเชื่อว่าลัทธิโยเรไม่น่ากลัวเท่าลัทธิธรรมกาย เพราะลัทธิโยเรไม่เคยเรียกเงิน มีแต่ช่วยคน เพียงแต่แฝงความเชื่อและอุดมการณ์เข้าไปในการช่วยเหลือคน สำหรับข่าวโจมตีลัทธิโยเร ตนเชื่อว่าลัทธิโยเรจะผ่านไปได้ ซึ่งตนเชื่อว่าจะมีบุคคลตำแหน่งใหญ่ในลัทธิทั้งจากญี่ปุ่นและไทยมานั่งประชุมกันเพื่อหาทางออก