กรณีตำรวจในคดีน้องชมพู่ รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด 16 ชิ้นได้จากที่เกิดเหตุ โดยหนึ่งในหลักฐานสำคัญคือเส้นผมทั้งหมด 36 เส้น ความยาวประมาณ 1 ซม. ซึ่งตรวจพบดีเอ็นเอของน้องชมพู่ และเส้นขนไร้ราก 3 เส้น จากนั้นจึงนำไปตรวจด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนที่มีความละเอียดระดับนาโนเมตร ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีในการคลี่คลายคดีอาชญากรรมหลาย ๆ คดี
ล่าสุดวันที่ 4 มิ.ย.64 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี เดินทางมาที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ตั้งอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา เป็นสถาบันวิจัยแห่งเดียวในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ซึ่งเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่
ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (วิชาการ) หัวหน้าฝ่ายสถานีวิจัย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และนักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบัน ได้พาทีมข่าวลงพื้นที่จุดที่มีการใช้ทดลอง โดยเริ่มแรกได้เดินทางมาที่สถานีการถ่ายภาพแบบสามมิติ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานีที่ใช้ในการตรวจสอบเส้นผม จะคล้ายกับการทำซีทีแสกน แต่ความระเอียดสูงกว่ามาก โดยจะนำวัตถุตัวอย่างวางลงบนหัวเข็ม และให้เครื่องประมวลผล ซึ่งสามารถดูโครงสร้างของเส้นผมได้ลึกถึงข้างในว่าข้างในเส้นผมมีลักษณะอย่างไรบ้าง
จากนั้น เป็นสถานีการทดลองการเรืองแสงของรังสีเอกซ์ โดยเจ้าหน้าที่ได้พาทีมข่าวไปดูทั้งหมด 2 สถานี สถานีแรกจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบธาตุหนัก ส่วนสถานีที่ 2 เป็นเครื่องถ่ายภาพการเรืองรังสี ซึ่งจะใช้ตรวจสอบธาตุชนิดเบา ทั้งนี้ข้อดีของการทดลองด้วยซินโครตรอน คือ เป็นการเรืองรังสีเอกซ์ที่ไม่ต้องทำลายตัวอย่าง และสามารถนำไปทดลองได้หลายครั้ง
ผศ.ดร.ศุภกร เปิดเผยว่า แสงซินโครตรอน คือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีธรรมชาติเดียวกับแสงอาทิตย์ หรือแสงจากหลอดไฟทั่วไป แต่มีความสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ 1 ล้านเท่า มีขนาดลำแสงเล็กได้ถึงขนาดของเส้นผม มีอำนาจทะลุทะลวงสูง มีคุณสมบัติหลายอย่าง ได้แก่ มีความยาวคลื่นตั้งแต่แสงอินฟราเรด แสงที่ตามมองเห็น แสงอัลตราไวโอเลต และรังสีเอกซ์ และนำไปใช้ได้กับเทคนิคต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบ เพราะเครื่องเอกซเรย์จะมีความเข้มสูงกว่าปกติ และเมื่อเอกซเรย์ความเข้มสูงจะสามารถเอาดูความละเอียดของสิ่งต่าง ๆ ได้สูงกว่า
ทั้งนี้ขั้นตอนของการผลิตแสงซินโครตรอนนั้น เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนจะทำหน้าที่เร่งอิเล็กตรอน เร่งพลังงาน ให้เคลื่อนตัวในแนวเส้นตรง เพื่อให้ได้พลังงานสูง เมื่อมีการกักเก็บพลังงานสูงแล้วจะบังคับให้พลังงานเหล่านี้เลี้ยวโค้ง และปลดปล่อยออกมาในรูปแบบของแม่เหล็กไฟฟ้า แล้วจะยิงแสงที่เรียกว่า แสงซินโครตรอน ออกมา
โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ติดต่อเข้ามา ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้ศึกษาข้อมูลมาเยอะแล้ว แต่จะมีวัตถุพยานบางอย่าง เช่น เส้นผม หรือเส้นขน ที่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด
กรณีที่มีการนำแสงซินโครตรอน มาใช้ทดลองในคดีของน้องชมพู่ มีการทดลอง 2 แบบ คือ แบบที่ 1 คือ การนำเส้นผมมาทดลองด้วยการดูโครงสร้าง 3 มิติ ซึ่งจะระบุได้ว่าเป็นเส้นผมมนุษย์ หรือขนสัตว์ อีกทั้งยังระบุได้ว่าเป็นลักษณะขนแบบไหน
แบบที่ 2 คือ เทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ เป็นการหาธาตุจากองค์ประกอบทั้งหมด หากตัวเส้นผมไม่มีดีเอ็นเอที่สมบูรณ์ จะต้องหาข้อมูลทางกายภาพมาประกอบ ซึ่งวิธีนี้จะสามารถตรวจสอบได้ว่าของ 2 สิ่งมาจากคนเดียวกันหรือไม่ เจอธาตุอะไร อัตราส่วนเท่าไร
ขณะที่นำเส้นผมดังกล่าวมาตรวจ ทางเจ้าหน้าที่ไม่ทราบว่าเป็นของใคร เพราะมาเป็นรหัส เช่น 1a 2b จึงนำมาตรวจสอบดูทั้งโครงสร้าง องค์ประกอบธาตุว่าคล้ายคลึงกันหรือไม่ หรือมาจากคนเดียวกัน เพราะเส้นผมของแต่ละคนจะมีองค์ประกอบธาตุ หรือปริมาณธาตุต่างกัน คล้าย ๆ กับการดูลายนิ้วมือ ทั้งนี้แต่ละเทคนิคจะใช้เวลาไม่เท่ากัน และจะขึ้นอยู่กับตัวอย่างที่นำมาทดลองด้วย โดยการดูโครงสร้างแบบ 3 มิติ ใช้เวลาประมาณ 17 นาที ส่วนการทดลองแบบการเรืองรังสี แต่ละตัวอย่าง ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง
นอกจากนี้ ระยะการประมวลผลจะไม่เท่ากัน สำหรับซินโครตรอนจะใช้เวลาไม่นาน เพราะความเข้มแสงสูง ทั้งนี้ถ้ามีดีเอ็นเอจะตรวจง่าย แต่สำหรับเส้นผม ดีเอ็นเอจะมีเฉพาะในรากผม ซึ่งถ้าเทียบได้ก็จะรู้เลยว่า เป็นของคนเดียวกันหรือไม่ และกรณีที่ไม่มีดีเอ็นเอ ตัวเส้นผมจะมีดีเอ็นเออยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ดีเอ็นเอสมบูรณ์ เพราะไมโตคอนเดรียดีเอ็นเอ จะระบุได้แค่เฉพาะความสัมพันธ์ทางสายของแม่ แต่จะช่วยให้จำกัดวงผู้ต้องสงสัยแคบลง
ส่วนของความแม่นยำ เครื่องที่ใช้ในการทดลองเป็นเทคนิคมาตรฐานที่ใช้ในหลาย ๆ วงการ และเชื่อถือได้อยู่แล้ว แต่ต้องใช้ข้อมูลหลายอย่าง ๆ มาประกอบกัน ทั้งนี้ทางสถาบันเคยทำงานกับตำรวจมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรม
โดยคดีก่อนหน้านี้ เช่น การตรวจสอบเครื่องประดับว่าเป็นเครื่องประดับโบราณจริงหรือไม่ ด้วยการใช้วิธีหาธาตุองค์ประกอบ และวิธีนี้อาจจะเจอธาตุโลหะที่สมัยก่อนไม่มี นอกจากนี้ หากยกตัวอย่างการตรวจสอบคดีฆาตกรรม เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่น คดีฆาตกรรมวางยาพิษ แต่ใช้เครื่องอื่น ๆ แล้วตรวจไม่เจอ จึงมีการใช้แสงซินโครตรอนตรวจธาตุข้างใน โดยเอาภาชนะไปวัดด้วยซินโครตรอน แล้วเจอร่องรอยของสารหนูที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งตกค้างอยู่น้อยมาก ๆ ปกติแล้วการทดลองด้วยซินโครตรอน ทางสถาบันจะให้บริการนักวิจัย เช่น ทางการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม เวชกรรม เป็นต้น สำหรับการทำคดีความกับตำรวจจะเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง