รมว.คลัง แจงสภาฯ เงินทุนสำรองจ่ายที่เหลืออยู่มีไม่พอ และรอแหล่งเงินจากงบปี 65 ไม่ได้ จำเป็นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แก้ปัญหาเศรษฐกิจและโควิด
วันที่ 9 มิ.ย.2564 เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในการประชุมเพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า ปี 2563 ได้มีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน โควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งในวันที่ 1 มิ.ย. 64 ครม. ได้อนุมัติโครงการใช้จ่ายวงเงินกู้ไปแล้ว 298 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 980,828 ล้านบาท
ทั้งนี้ วงเงินกู้ยังคงเหลืออีก 19,172 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการอยู่ระหว่างการนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินเงินกู้ วงเงินประมาณ 17,408 ล้านบาท และจะมีการนำเสนอ ครม. ต่อไป ดังนั้นจึงมีวงเงินกู้คงเหลือเพียง 1,764 ล้านบาท ทำให้แหล่งเงินภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาการระบาดโควิดในระลอกใหม่ได้ ขณะที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2564 นั้น รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ปี 2564 มีข้อจำกัด หากจะรอแหล่งเงินจากงบประมาณปี 2565 จะไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินในการแก้ไขสถานการณ์เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งถือเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน และเป็นทางเลือกสุดท้ายในการตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้
สาระสำคัญของ พ.ร.ก.กู้เงินฉบับนี้ คือ การให้อำนาจกระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ ภายในวันที่ 30 ก.ย.2565 เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายใน 3 แผนงานคือ
1.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการระบาดเชื้อโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท
2.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ วงเงิน 3 แสนล้านบาท
3.แผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ตัวเลขหนี้ของไทย สิ้นเดือน เม.ย.2564 อยู่ที่ร้อยละ 50.69 ต่อจีดีพี ยังต่ำกว่ากรอบเพดานหนี้สากล ดังนั้นการกู้เงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลมีเจตนาเพื่อให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้ การตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ รัฐบาลตระหนักถึงวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่า ความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินกู้ มีการกำหนดกรอบการใช้เงินที่สอดคล้องกับกฎหมายวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบรัดกุม