สธ. ยํ้า ผู้ใช้ยาคุม ฮอร์โมน วางแผนมีลูก ฉีดวัคซีนโควิด ได้

11 มิ.ย. 64

กรณี ฉีดวัคซีนโควิด นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 ได้หารือและขอความเห็นชอบต่อแนวปฏิบัติด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 เพราะยังพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นและมีผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 20-59 ปี คิดเป็นร้อยละ 82.7

ผลข้างเคียงแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค หมอยง เปรียบเทียบ พร้อมแนะนำวิธีรับมือ 

ทั้งนี้ ประกอบกับขณะนี้ข้อมูลที่เผยแพร่เกี่ยวกับผลจากการฉีดวัคซีน COVID-19 ทำให้ประชาชนหลายกลุ่มขาดความเชื่อมั่น และมีความกังวลใจในการรับวัคซีน โดยเฉพาะ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มหญิงที่ใช้การคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมน 2.กลุ่มคนไข้นรีเวชที่ใช้ฮอร์โมนในการรักษา 3.กลุ่ม Transgender ที่ใช้ฮอร์โมนเพศหญิง และ 4.กลุ่มชาย-หญิงวัยทอง ที่ใช้ฮอร์โมนทดแทน

นายสาธิต กล่าวต่อว่า ก่อนการประชุมครั้งนี้ กรมอนามัยได้หารือและจัดทำแนวปฏิบัติด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยประชุมร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน COVID-19 สมาคมอนามัยการเจริญพันธุ์ (ไทย) กรมควบคุมโรค มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และองค์การเภสัชกรรม ซึ่งได้ข้อสรุปตามที่เสนอคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติพิจารณาและเห็นชอบ ดังนี้

- ผู้ที่คุมกำเนิดทุกชนิดสามารถฉีดวัคซีน COVID-19 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ก่อน เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันจากการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ พบได้น้อยมากในหญิงไทย และพบได้น้อยกว่าในสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งมีระดับเอสโตรเจนสูงมากตามธรรมชาติ

- ผู้ที่ใช้ฮอร์โมนในการรักษาโรคทางนรีเวช ฮอร์โมนทดแทนวัยทอง ฮอร์โมนเพศในกลุ่ม Transgender สามารถฉีดวัคซีน COVID-19 ได้ เพราะการใช้ฮอร์โมนไม่ใช่ข้อบ่งห้ามในการฉีดวัคซีน COVID-19

- ผู้ที่วางแผนจะมีบุตร หรือผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษาภาวะมีบุตรยาก สามารถฉีดวัคซีน COVID-19 ได้ เนื่องจากไม่มีข้อบ่งห้ามในการฉีดวัคซีน สามีภรรยา คู่ชีวิต หรือคู่รักที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันและไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ สามารถที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เพื่อลดความเสี่ยงจากการรับเชื้อ

ด้าน นายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า ขอให้ประชาชน 4 กลุ่มดังกล่าว เชื่อมั่นว่าวัคซีนที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ซึ่งบางรายอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นอาการเล็กน้อย

ส่วนยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีทั้งแบบที่เป็นยาเม็ด ยาฉีด ยาฝังที่ใต้ผิวหนัง และแผ่นแปะที่ผิวหนัง แต่วิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ยาเม็ดแบบกินชนิดที่มีฮอร์โมนรวม เพราะนอกจากจะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยังมีผลข้างเคียงน้อย ซึ่งได้รับการวิจัยและพัฒนาด้านความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 50 ปี

อย่างไรก็ตาม หากยังมีความกังวลใจและต้องการหยุดการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ มาทดแทนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ได้แก่ ยาเม็ดหรือยาฉีดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพียงอย่างเดียว ห่วงอนามัย ยาฝังคุมกำเนิด และถุงยางอนามัย ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนวิธีการคุมกำเนิดด้วย

เลื่อนฉีดวัคซีนโควิด ผู้ประกันตน ม.33 เปิดอีกครั้ง 28 มิ.ย.นี้ 

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดขั้นตอนจอง ซิโนฟาร์ม สำหรับหน่วยงาน-องค์กร เริ่ม 14 มิ.ย.นี้ 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ