กรณีศาลจังหวัดมุกดาหารอนุมัติออกหมายจับ นายไชย์พล วิภา หรือลุงพล อายุ 44 ปี ผู้ต้องหาคดีการเสียชีวิตของ ด.ญ.อรวรรณ วงศ์ศรีชา หรือ น้องชมพู่ อายุ 3 ขวบ ตามหมายจับที่ 53/2564 ลงวันที่ 1 มิ.ย.64 ข้อหาพรากผู้เยาว์ ทอดทิ้งเด็กให้ถึงแก่ความตาย และกระทำการใด ๆ แก่ศพที่ทำให้ผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหลักฐานที่เปิดเผยออกมา คือ เส้นผม จำนวน 36 เส้นของน้องชมพู่ ที่ตกอยู่ในรถของลุงพล
ล่าสุดวันที่ 11 มิ.ย.64 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี เดินทางมาพูดคุยกับ ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ นักวิชาการอาชญาวิทยา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ถึงน้ำหนักและความสำคัญของหลักฐานในการเอาผิดผู้ต้องหา
ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช บอกว่า การพบเส้นผมบนรถของนายไชย์พล สามารถบอกถึงความเป็นไปได้ว่า นายไชย์พล อาจมีความเกี่ยวข้องกับสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเส้นผมที่ตกในรถนั้น เข้ากันได้กันเส้นผมของน้องชมพู่ที่ถูกหั่น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังต้องระบุให้ได้ด้วยว่า การหั่นเส้นผมเกิดขึ้นหลังจากน้องชมพู่เสียชีวิต หรือหลังจากถูกทิ้งไว้บนเขา เพราะไม่เช่นนั้น นายไชย์พลจะอ้างได้ว่า อาจมีการตัดผมให้น้องชมพู่บนรถ เนื่องจากน้องชมพู่เป็นญาติ
โดยล่าสุดมีการใช้แสงซินโครตรอน ซึ่งปกติอาจจะไม่ถูกพูดถึงบ่อย เพราะปกติคดีทั่วไปพยานหลักฐานทั่วไปก็อาจจะเพียงพอ ซึ่งกรณีนี้คล้ายกับการตรวจรอยเข็มแทงชนวน ที่จะสามารถบอกได้ว่า ปลอกกระสุนถูกยิงออกมาจากปืนกระบอกใด
สำหรับคดีน้องชมพู่ ถือว่าสร้างปรากฎการณ์ใหม่ในการทำคดีหลายอย่าง ซึ่งก็สมเหตุสมผลกับการจับตาดูของประชน โดยความยากของคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่การปิดกั้นที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ รวมถึงการเก็บหลักฐานเบื้องต้น จนเป็นเหตุที่ทำให้ระยะเวลาการสรุปคดีลากยาวมานาน
แต่ขณะนี้ตนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหลักฐานมากพอ จึงอนุญาติให้ครอบครัวนำร่างของผู้ตายไปเผา และเชื่อว่าศาลมีดุลยพินิจมากพอที่จะอนุมัติออกหมายจับ ทั้งนี้การที่ศาลจะพิพากษาให้ใครจำคุก ศาลจะตัดสินโดยปราศจากข้อสงสัย ไม่เช่นนั้นศาลจะยกประโยชน์ให้จำเลย ดังนั้นตนจึงเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหลักฐานและพยานอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งยังไม่เปิดเผยออกสู่สาธารณะ ที่จะใช่มัดตัวผู้ต้องหาซึ่งในคดีนี้
สำหรับประเด็นที่ทนายษิทราพานายไชย์พล ไปมอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตนในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจเก่า ตนไม่เคยพบเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน ที่ผู้ต้องหามามอบตัวกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพราะการมอบตัวต้องไปมอบตัวที่สถานีตำรวจพื้นที่ที่เกิดเหตุ หรือสถานีตำรวจที่ออกหมายจับหมายเรียก ทนายความก็น่าจะรู้อยู่แล้ว เพียงแต่น่าจะมีเหตุผลบางประกาศ คล้ายการเล่นเกมในคดี “ทางทนายและตัวผู้ต้องหาก็ต้องทำใจว่า การมามอบตัวผิดที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องลงสำนวนว่าจับกุม ไม่ใช่มอบตัว”
อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าคดีน้องชมพู่ถูกทำให้กลายเป็นเกม ซึ่งมีหลายฝ่ายคอยปั่นกระแส จนผู้ต้องหากลายเป็นคนดัง โดยตนคิดว่าในเมื่อคดีดำเนินมาถึงขั้นออกหมายจับ ดังนั้นคาดว่าอีกไม่นาน คดีก็คงจะจบลง ซึ่งตอนแรกตนก็ไม่คาดคิดว่าจะดำเนินมาถึงขั้นนี้ได้