จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัว โพสต์เรื่องราวถูกเจ้าหน้าที่อ้างตัวมาจากกรมสรรพสามิต ล่อซื้อน้ำส้มคั้นและถูกปรับถึง 12,000 บาท โดยโพสต์ระบุข้อความว่า เมื่อวานมีออร์เดอร์น้ำส้ม 500 ขวด เราดีใจแทบตาย มารับที่ร้าน จ่ายเงินสด เป็นใครก่อดีใจเศรษฐกิจแบบนี้ เร่งกันแทบตาย จ้างคนทั้งทำเช้า ทำเย็น พอใกล้ถึงเวลานัด มีลูกค้าเข้ามาทานสเต็กที่ร้าน สักพักก่อขอเข้าไปข้างใน ดูว่าเรามีขายอะไรบ้างน้ำอะไร เข้าไปห้องทำน้ำตามหาน้ำส้ม 500 ขวด สักพักถามหาใบอนุญาต ขายน้ำ เราก็งง เราไม่ได้เป็นโรงงาน...
จากนั้นจะต้องมีค่าปรับ ค่าใช้จ่าย สุดท้าย มา 5 คน จบที่ 12,000 บาท สุดท้ายและท้ายสุด บล็อกเพจไปเรียบร้อย เขาคือพวกเดียวกัน ไปดูเฟซบุ๊กมีรูปหมู่ครบทั้งคนสั่ง..."
ล่าสุด วันที่ 16 มิ.ย. 64 เมื่อเวลา 11.00 น. แม่ค้าน้ำส้มโพสต์ข้อความระบุว่า "สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวานนี้นะคะ โทรไปถามที่กรมสรรพสามิตมาแล้วนะคะ ไม่ต้องมีใบอนุญาตได้ค่ะ เนื่องจากเราไม่ได้ตั้งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ขายของเล็กๆปกติค่ะ
ขอบคุณทุกออเดอร์ที่ให้ความช่วยเหลือขอบคุณสื่อทุกสื่อ ที่ติดต่อนะคะ แต่เราไม่สะดวก จริงๆ ที่โพสต์ลงไปเพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนตัวเองและแม่ค้าด้วยกันไม่ได้มีเจตนาอื่นใดใดทั้งสิ้น ใครทำอะไรไว้ขอให้ได้รับผลกรรมนั้นนะคะ"
จากนั้นทีมข่าวได้ติดต่อไปยังเบอร์ส่วนตัวของผู้โพสต์ ทราบชื่อคือนางสาวพรนิภา กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า "ยุ่งมาก" และวางสายโทรศัพท์ทันที ทีมข่าวจะเดินทางไปที่ร้าน เปิดขายสเต็ก มีเมนูอาหารมากมาย โดยเฉพาะน้ำสม ขนาด 300 ml. ราคา 35 บาท เป็นน้ำส้ม 100% บรรจุในกระป๋องพลาสติกแบบฝาดึง
ขณะเดียวกันทีมข่าวได้พยายามติดต่อขอพูดคุยถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่เจ้าของร้านก็ปฏิเสธ พร้อมให้พนักงานในร้านออกมาพูดคุยแทนว่า "เรื่องน้ำส้มน้ำจะจบแล้ว แต่รายละเอียดต้องให้เจ้าของร้านเป็นผู้ชี้แจง" แต่เมื่อทีมข่าวถามว่าได้เงิน 12,000 บาท ได้คืนหรือไม่ พนักงานบอกสั้น ๆ ว่า "ไม่รู้"
จากนั้น ทีมข่าวพบสาวหล่อซึ่งเป็นแฟนเจ้าของร้าน มีการยิ้มทักทาย และเดินกลับเข้าบ้านไปนานกว่า 2 ชม. แล้วกลับมาที่ร้านสเต็กอีกเลย จากนั้นภายหลังกรมสรรพสามิตชี้แจงผ่านเพจเฟซบุ๊กแล้ว
นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตขอชี้แจงว่า ได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่เสียภาษีอย่างถูกต้องว่ามีบางโรงอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่ไม่ได้มาตรฐานและยังไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต ซึ่งกรมสรรพสามิตได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตเข้าทำการตรวจสอบและได้ดำเนินการให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมเข้าระบบและเสียภาษีอย่างถูกต้องแล้ว จำนวน 4 ราย ซึ่งรายนี้เป็นรายที่ 5
โดยโรงอุตสาหกรรมของผู้ใช้เฟซบุ๊ครายดังกล่าว ผลิตเครื่องดื่มที่ไม่ได้มาตรฐาน และยังไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตจึงได้ทำการให้คำแนะนำเพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบและเสียภาษีสรรพสามิตอย่างถูกต้อง โดยไม่ได้เรียกค่าปรับเงิน จำนวน 12,000 บาท ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการขายน้ำส้ม ไว้เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 59 ว่า การผลิตน้ำส้มคั้นขายจะมี 2 ส่วน คือ ผลิตบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ปิดสนิทแล้วส่งไปขายตามร้านค้าต่าง ๆ นั้นเข้าข่ายเป็นโรงงาน ต้องขออนุญาตจาก อย.ก่อน โดยผลิตภัณฑ์ต้องถูกสุขลักษณะ ระบุว่าเป็นน้ำส้มคั้นสด 100% ห้ามใส่อะไรลงไปเด็ดขาด และต้องมีฉลากแสดงชื่อสินค้า สถานที่ผลิต ส่วนประกอบ รวมถึงมีเลข 13 หลัก ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ร้านค้า รถเข็น ที่คั้นสด ๆ และจำหน่ายทันที ต้องขออนุญาตในการเปิดร้านจำหน่ายจากท้องที่ก่อน และการดำเนินการต้องถูกสุขลักษณะ
ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.สรรพสามิตปี 2560 ได้มีการเรียกเก็บภาษีความหวาน รวมถึง น้ำผลไม้ หากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 6 กรัมแต่ไม่เกิน 8 กรัม ต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร จะต้องเสียภาษี 0.30 บาท/ลิตร, หากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม จะต้องเสียภาษี 0.50 บาท/ลิตร, หากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม ต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร จะต้องเสียภาษี 1 บาท/ลิตร
ซึ่งความหวานที่ได้จากธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่มีค่าความหวานเกินกว่า 6 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร มีผลทำให้น้ำผลไม้ 100% ทุกรายล้วนต้องเสียภาษีดังกล่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้