จากกรณีที่กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอการแสดง “โขน” ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เพื่อพิจารณาขึ้นบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ ในปี 2561 ทำให้มีชาวกัมพูชาจำนวนมากแสดงความคิดเห็นคัดค้านเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยกล่าวว่าโขนเป็นศิลปะของกัมพูชานั้น
วันที่ 31 ส.ค. 61
ผศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง สาขานาฏศิลป์ พ.ศ.2548 เปิดเผยว่า การจะชี้ชัดว่าวัฒนธรรม “โขน” ทั้งหมดเป็นของใครเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะเป็นวัฒนธรรมที่ไทยและกัมพูชามีร่วมกัน แต่การแสดง “โขน” ในรูปแบบที่คนไทยเห็นในปัจจุบัน ถือเป็นการแสดงของไทย เพราะถูกพัฒนามาจนกระทั่งมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ในปัจจุบันที่จะเล่นในเรื่อง “รามเกียรติ์” บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 โดยโขนไทยมีหลักฐานบันทึกไว้ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ อัครราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสที่เข้ามาในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้วบันทึกสิ่งที่พบเห็นไว้ โดยมีการบันทึกว่าลาลูแบร์พบการแสดงโดยสวมหน้ากากในช่วงที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ขณะนั้นยังไม่ได้เล่นเป็นเรื่องราว แต่เล่นเพียงตอนที่รบกันเท่านั้น
สำหรับกรณีที่มีข้อถกเถียงอยู่ในขณะนี้ว่า “โขน” เป็นของไทยหรือกัมพูชา
ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยก่อนที่เราอยู่รวมกันเป็นสังคมสุวรรณภูมิ เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการรับวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น ความเชื่อ ศาสนา มาจากอินเดีย โดยผ่านเข้ามาทางขอม แต่ก็ไม่ได้รับมาทั้งหมด แม้กระทั่งโขนเองก็มีการพัฒนาจนกระทั่งสมัยปัจจุบันที่มีการแสดงในโรงละครและมีฉากต่าง ๆ ประกอบ
สำหรับทางกัมพูชาก็มีศิลปะรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า “ลโขล” ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้ผู้แสดงเป็นเพศหญิงทั้งหมด ต่างจากโขนของไทยที่จะใช้เพศชายในการแสดง รวมถึงลักษณะท่ารำก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้น การที่จะสรุปว่าวัฒนธรรมโขนทั้งหมดเป็นของใครเป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก เนื่องจากทั้งไทยและกัมพูชาก็มีการ “เลื่อนไหลทางวัฒนธรรม” ซึ่งกันและกันมาโดยตลอด คือการรับวัฒนธรรมเข้ามาขณะเดียวกันก็แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมออกไปด้วย แต่ก็มีการพัฒนารูปแบบของโขนแต่ละประเทศในแบบฉบับของตนเองจนเป็นอัตลักษณ์
ทั้งนี้ กรณีที่ไทยจะขึ้นทะเบียนโขนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมก็สามารถกระทำได้ คือขึ้นทะเบียนในสิ่งที่ได้พัฒนามาแล้วจนเกิดเป็นโขนยุคปัจจุบัน ซึ่งหากกัมพูชาจะขึ้นทะเบียนลโขลบ้าง ก็ถือว่าสามารถทำได้เช่นกัน เพราะมีอัตลักษณ์แตกต่างกัน