โค กระบือในโคราช เป็นโรคลัมปีสกิน ตายแล้วกว่า 800 ตัว ป่วยกว่า 12,000 ตัว ปศุสัตว์ไม่รอวัคซีนแล้ว เร่งรักษาเพื่อลดการตายของสัตว์เป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากเมื่อวันที่ 6 ก.ค.64 ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.ได้มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อ กรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น เพื่อควบคุมโรคลัมปีสกินในโค กระบือ ตามข้อมูลที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอในวงเงินงบประมาณจํานวน 684,218,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมโรคลัมปีสกินในโค กระบือ ประกอบไปด้วย
1.ค่าตอบแทนอาสาปศุสัตว์ จํานวน 14,510,000 บาท
2.ค่าจัดซื้อวัคซีนโรคลัมปี สกิน จํานวน 5,000,000 โดส เป็นเงิน 230,138,000 บาท
3.ค่าจัดซื้อเวชภัณฑ์เพื่อการฆ่าเชื้อในฟาร์มและพาหนะในการเคลื่อนย้ายสัตว์ จํานวน 24,000,000 บาท
4.ค่าจัดซื้อเวชภัณฑ์เพื่อการรักษาโค กระบือ จํานวน 200,000 ตัว เป็นเงิน 361,000,000 บาท และเพื่อการฟื้นฟู บํารุงสุขภาพสัตว์เลี้ยงของเกษตรกร จํานวน 200,000 ตัวเป็นเงิน 39,800,000 บาท
5.ค่าวัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อการแพทย์ สําหรับการเก็บตัวอย่าง ฉีดวัคซีนและรักษาเป็นเงิน 14,770,000 บาท นั้น
ล่าสุด วันนี้ (8 กรกฎาคม 2564) นายพศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมานั้น ได้มีการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่สัตว์แพทย์ และประสาน อปท.ในพื้นที่ทุกแห่งแล้ว เพื่อจัดกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกร ในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคลัมปีสกิน ตามที่ ครม.อนุมัติงบให้ ซึ่งก่อนหน้านั้นทางจังหวัดนครราชสีมา ก็ได้รับวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกิน มาในล็อตแรก จำนวน 18,000 โดส โดยได้ทยอยฉีดให้กับโค กระบือในพื้นที่ยังไม่ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากว่าขณะนี้การระบาดของเชื้อโรคลัมปีสกิน ได้ระบาดกระจายไปครอบคลุมทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดแล้ว โดยล่าสุดมีโค กระบือ ในพื้นที่เป็นโรคลัมปีสกิน ตายแล้วกว่า 800 ตัว และป่วยอยู่ประมาณ 12,000 ตัว จึงทำให้พื้นที่ฉีดวัคซีนลดน้อยลง เพราะเจ้าหน้าที่จะไม่ฉีดให้ในพื้นที่ติดเชื้อ เนื่องจากเป็นวัคซีนป้องกันไม่ใช่วัคซีนรักษา
ดังนั้นขณะนี้ที่ต้องทำเร่งด่วนคือการรณรงค์ให้ชาวบ้าน ใช้การรักษาเป็นหลักก่อน โดยการให้น้ำเกลือ และใช้ยาสมุนไพร ส่วนการช่วยเหลืองบประมาณนั้น ก็ได้รับความร่วมมือจาก อบจ. และ อปท.ในพื้นที่ จัดสรรงบประมาณซื้อเวชภัณฑ์ ตามระเบียบราชการ ช่วยเหลือประชาชนในการรักษาโค กระบือ ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อลดการตายของสัตว์ให้น้อยลงที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งจัดกำลังเจ้าหน้าที่ฉีดพ่น ฆ่าแมลงพาหะนำโรคตามคอก และพื้นที่เลี้ยง ให้ครอบคลุมที่สุด พร้อมกันนี้ทางจังหวัด ก็ได้ประกาศห้ามเคลื่อนย้ายโค กระบือ ออกนอกพื้นที่ ยกเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งปัจจุบัน ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีโค กระบือ อยู่ทั้งหมดกว่า 680,000 ตัว โดยแบ่งเป็น โคเนื้อ ประมาณ 450,000 ตัว โคนม ประมาณ 160,000 ตัว และกระบือ 70,000 ตัว ป่วยประมาณ 12,000 ตัว