ไฟเซอร์ จ่อยื่นขออนุมัติฉีดวัคซีนกระตุ้มเข็ม 3 เดือนสิงหาคมนี้ พร้อมเร่งพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ รับมือโควิดเดลตา
วันที่ 8 ก.ค.64 สื่อท้องถิ่นสหรัฐฯ รายงานว่า ไฟเซอร์ (Pfizer) บริษัทเวชภัณฑ์ของสหรัฐฯ และไบออนเทค (BioNTech) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของเยอรมนี กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดสกระตุ้น (booster shot) เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา (Delta) ท่ามกลางกระแสความกังวลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์เดลตา ที่กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในสหรัฐฯ ทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
สหภาพยุโรป เผย ไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตร้าเซนเนก้า จอห์นสัน อาจต้าน โควิดกลายพันธุ์ ได้
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ระบุว่าทั้งสองบริษัทเชื่อว่า วัคซีนโดสที่ 3 ของวัคซีนแบบฉีดสองโดสในปัจจุบันของพวกเขา มีศักยภาพป้องกันเชื้อไวรัสฯ ทุกสายพันธุ์ในปัจจุบันรวมถึงสายพันธุ์เดลตา โดยป้องกันได้ในระดับสูงสุด ทว่าพวกเขายังคง “เฝ้าระวัง” และพัฒนาวัคซีนรูปแบบใหม่
ไฟเซอร์และไบออนเทคเผยว่า ประสิทธิภาพข้างต้นสอดคล้องกับการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องจากการศึกษาระยะที่ 3 ซึ่งเป็นเหตุผลให้เชื่อว่าอาจต้องฉีดวัคซีนโดสที่ 3 ภายใน 6-12 เดือน หลังรับวัคซีนครบสองโดสแล้ว โดยจะเริ่มการทดลองทางคลินิกอย่างเร็วที่สุด และเตรียมส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) และหน่วยงานกำกับดูแลยาอื่นๆ ภายในเดือนสิงหาคมนี้
ไฟเซอร์ระบุว่า ผลการศึกษาจากการใช้งานจริงในอิสราเอล บ่งชี้ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อและการเจ็บป่วยแบบแสดงอาการจากโควิดสายพันธุ์เดลตาลดลงใน 6 เดือนหลังฉีดวัคซีน แม้ประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักยังสูงมาก บริษัทจึงคาดการณ์ว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ภายในช่วงเวลา 6-12 เดือน หลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว จะเป็นประโยชน์ในการรับมือกับเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ ได้ในระดับสูง
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนเวอร์ชั่นอัปเดต เพื่อรับมือกับโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาโดยเฉพาะ และเตรียมดำเนินการทดสอบทางคลินิกในเดือน ส.ค.นี้
อิสราเอล พบประสิทธิภาพวัคซีน ไฟเซอร์ ลดเหลือ 64% หลังเผชิญ โควิดเดลตา