จากกรณีกระแสในโลกออนไลน์ เมื่อชาวโซเชียลต่างร่วมกันแฉพฤติกรรมของ บอย สกล ที่อ้างว่าตัวเองเคยศึกษาในโรงเรียนชั้นนำของประเทศ ก่อนศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเผยแพร่ภาพที่ถือป้ายในงานกีฬาประเพณี จนเกิดแฮชแท็ก #บอยสกล ติดอันดับบนทวิตเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่ออกมาพูดถึงพฤติกรรมการกล่าวอ้างว่าชายรายดังกล่าว ไม่ได้เรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจริง ล่าสุดประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าทางมหาวิทยาลัยเตรียมดำเนินการรวมหลักฐาน หากพบว่านายสกลทำผิด จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป (อ่าน :
ประธานนิสิตจุฬาฯ แฉ “บอย สกล” ตีเนียนใช้บัตรปลอม แฝงตัวเข้าคลาส-ร่วมกิจกรรม)
วันที่ 11 ก.ย. 61
ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการพัฒนานิสิต และนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า กรณีของนายสกล ตนทราบเรื่องช่วงสายของเมื่อวานนี้ (10 ก.ย.) โดยตนได้รับมอบอำนาจ จากท่านอธิการบดี ให้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลในกรณีดังกล่าว เบื้องต้นได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วใน 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นเรื่องของการลงทะเบียนของมหาวิทยาลัย พบว่านายสกลไม่ได้ลงทะเบียนเรียนในระบบมหาวิทยาลัย และไม่ได้เป็นนิสิตจุฬาฯ ไม่มีเลขประจำตัวนิสิต
สำหรับส่วนที่ 2 นั้น เมื่อวานนี้ตนได้สอบถามเพื่อนของนายสกลที่เคยทำกิจกรรมร่วมกัน พบว่ามีการเข้าร่วมกิจกรรมตามรูปที่พบเห็นในโซเชียลมีเดียจริง และเข้าไปใช้สวัสดิการนิสิตบางอย่าง ที่คนนอกสามารถเข้าได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีบัตรประจำตัวนิสิต เช่น หอสมุดกลาง อาคารกีฬา ซึ่งเพื่อนไม่ทราบว่านายสกลเข้าไปใช้บริการได้อย่างไร อาจจะมีการชำระเงินแล้วแลกบัตรแบบบุคคลภายนอก หรืออาจจะยืมบัตรประจำตัวนิสิตของเพื่อนในการเข้าใช้บริการ ซึ่งจากการตรวจสอบทราบว่า นายสกลได้ยืมบัตรนิสิตของเพื่อนในการเข้าร่วมกิจกรรมอยู่ในบางครั้ง โดยนายสกลก็จะลงชื่อในระบบบันทึกกิจกรรมนิสิตด้วย ซึ่งกิจกรรมที่บันทึกก็จะปรากฏในชื่อของเพื่อนที่เป็นเจ้าของบัตรประจำตัวนิสิต
ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวว่า ระบบการเข้าร่วมกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยจะค่อนข้างเปิด เพราะมีการสนับสนุนให้นิสิตเข้ามาร่วมกิจกรรม บางกิจกรรมจึงไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น โดยปกติเพียงแต่บอกนิสิตให้คอยดูบุคคลแปลกปลอมว่ามีคนภายนอกเข้ามาร่วมกิจกรรมหรือไม่ ซึ่งในกรณีของนายสกลที่ใส่ชุดนิสิตเข้ามาทำกิจกรรม จึงค่อนข้างตรวจสอบยาก
ด้าน
นายศิริ เต็งไตรรัตน์ อายุ 21 ปี นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) เปิดเผยว่า จากภาพที่นายสกลถือป้ายเข้าร่วมขบวนในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นงานฟุตบอลประเพณี ปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งโดยปกติแล้วกิจกรรมที่จัดโดย อบจ. จะมีการให้กรอกข้อมูลรายชื่อก่อนเข้ามาร่วมกิจกรรม โดยในการกรอกข้อมูลลงระบบนี้ จะมีการให้ระบุรหัสประจำตัวนิสิตด้วย กรณีที่นายสกลได้ถือป้ายจึงสันนิษฐานว่าน่าจะมีการใช้รหัสนิสิตของเพื่อนในการเข้ามาทำกิจกรรม
นอกจากนี้ พบว่านายสกลยังเข้าร่วมกิจกรรมค่ายจังหวัด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ อบจ. โดยตรง แต่เป็นการรวมกลุ่มของนิสิตในการทำกิจกรรมในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งภายหลังการเข้าร่วมกิจกรรมจะมีการให้กรอกรหัสประจำตัวนิสิตเพื่อรับคะแนนเข้าร่วมกิจกรรม แต่นิสิตที่เข้าร่วมก็มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธไม่รับคะแนนนี้ได้ ทั้งนี้ ภายหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทาง อบจ. ก็ได้มีการติดต่อนายสกลตามช่องทางการติดต่อที่มีข้อมูลอยู่ แต่ไม่สามารถติดต่อได้
ขณะที่
นายนพรัตน์ เมนะคงคา นิสิตสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร เปิดเผยว่า เพิ่งมารู้จักนายสกลเมื่อช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยตนเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของสำนักวิชา เตรียมจะสมัครเข้าคัดเลือกลีดจุฬาฯ ซึ่งนายสกลก็ได้ทักเฟซบุ๊กมาชวนไปสมัครลีดจุฬาฯ ด้วยกัน พร้อมทั้งแนะนำตัวว่าเป็นนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จากนั้นก็มีการนัดเจอเพื่อเตรียมตัวคัดลีดจุฬาฯ มีการแลกไลน์และคุยกันเกือบทุกวันเกี่ยวกับการเตรียมตัวคัดเลือก
นายนพรัตน์ เล่าว่า ตลอดเวลาที่ได้พูดคุยกัน นายสกลมักจะแสดงตัวว่าตนเองเป็นไฮโซ บอกตนว่าไปทำหน้าบ้าง ไปต่างประเทศมาบ้าง รวมถึงอ้างว่ารู้จักกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่คณะเศรษฐศาสตร์ โดยรู้จักจากการไปเที่ยวที่ประเทศสิงคโปร์แล้วบังเอิญเจอ พบว่าเป็นไฮโซเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อตนไปสอบถามรุ่นพี่คนดังกล่าว เขากลับบอกตนว่าไม่รู้จักนายสกล ตอนนั้นตนก็สงสัย แต่โฟกัสที่การคัดลีดมากกว่าเลยไม่ได้ถามนายสกล
นายนพรัตน์ กล่าวต่อว่า ตนเพิ่งทราบเรื่องเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่มีการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกลีดจุฬาฯ โดยนายสกลสัมภาษณ์รอบ 10.00 น. และตนสัมภาษณ์รอบ 15.00 น. แต่นายสกลได้ทักไลน์มาบอกก่อนที่จะเข้าสัมภาษณ์ว่าถึงสถานที่สัมภาษณ์แล้ว แต่จากรูปที่นายสกลส่งให้ ตนดูแล้วคาดว่าไม่น่าจะใช่สถานที่ที่กำลังมีการคัดเลือกอยู่ หลังจากนั้นตนก็ติดต่อนายสกลไม่ได้อีกเลย จนกระทั่งมาทราบในช่วงเย็นวันเดียวกัน (8 ก.ย.) จากโซเชียลมีเดียที่มีการเปิดโปงว่านายสกลไม่ใช่นิสิตจุฬาฯ ก็รู้สึกไม่ดี จึงพยายามติดต่อไปถามว่าทำแบบนี้ทำไม แต่นายสกลปิดการติดต่อทางโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง แม้ตนโทรศัพท์ไปก็ไม่รับสาย
นอกจากนี้
นายปาล์ม (นามสมมติ) นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ตนเคยเข้าค่ายกับนายสกล 2 ค่าย ครั้งล่าสุดคือค่ายทานตะวัน จัดขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่ จ. เชียงใหม่ เป็นค่ายจิตอาสาที่ส่วนกลางที่จัดขึ้น โดยนายบอยจะทำหน้าที่คอยสอนหนังสือ ซึ่งสอนได้อย่างดีเยี่ยม อีกทั้งยังทำหน้าที่ฝ่ายสวัสดิการเข้าครัวทำอาหารเลี้ยงในค่าย ทำหน้าที่เหรัญญิก ดูแลเรื่องเงินและงบประมาณของค่าย แต่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องโกงเงิน และตลอดเวลาที่ทำออกค่ายด้วยกัน ไม่เคยเอะใจหรือมีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น
นอกจากนี้ นายสกลมีพฤติกรรมตีเนียน ทั้งการกระทำ คำพูดคำจา น่าเชื่อถือ ทำให้คล้อยตาม จนแอบแฝงเป็นนิสิตจุฬาฯ มาหลายปี จนกระทั่งครั้งแรกที่ทราบว่านายสกลแอบแฝงเข้ามา รู้สึกช็อก และเสียใจ และถ้าถามว่าสร้างความเดือดร้อนหรือไม่ ยอมรับว่าเดือนร้อน จากการโกหกจริง แต่เป็นการหลอกลวงที่มีประโยชน์ มีข้อดี ถึงจะเริ่มต้นไม่ดีก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ตนอยากบอกนายสกลว่า ไม่อยากให้คิดมาก อยากให้ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนจะให้อภัยนายสกลได้หรือไม่นั้น ต้องใช้เวลา แต่ถ้านายบอยสำนึกได้ ก็ให้อภัยได้เช่นกัน