ที่ประชุมอนุกรรมการบริหารการฉีดวัคซีนฯ มีมติเห็นชอบตามผู้เชี่ยวชาญเสนอ “ยกเลิกวัดความดันโลหิตก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19” กรมการแพทย์เตรียมส่งแนวทางให้ศูนย์ฉีด หน่วยบริการ โรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ ขณะเดียวกันพร้อมย้ำต้องฉีดให้กลุ่มเสี่ยง “ผู้สูงอายุ-ป่วยโรคเรื้อรัง” หลังยังไม่ถึงเป้า พบฉีดกว่า 30% เท่านั้น
นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมอนุกรรมการอำนวยการบริหารการฉีดวัคซีนฯ ว่า คณะทำงานด้านวิชาการ ทั้งสมาคมโรคติดเชื้อ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ มีความเห็นควรว่า ให้ยกเลิกการวัดความดันโลหิตก่อนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในจุดให้บริการฉีดวัคซีน เพราะจะเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงวัคซีน เนื่องจากหลายคนที่วัดความดันแล้วสูง จนไม่ได้ฉีดมาจากความกลัว วิตก เครียดจากการฉีดวัคซีน ทำให้เสียโอกาสการเข้าถึงบริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด
จากเดิมได้กำหนดให้มีการวัดความดันก่อนฉีดวัคซีน โดยกำหนดว่าต้องไม่เกิน 160 มิลลิเมตรปรอท หากเกินต้องควบคุมให้ดีก่อนจึงกลับมาฉีด ซึ่งพบว่า ตัวเลขดังกล่าวทำให้คนเข้าไม่ถึงเยอะ จึงมีการปรับเป็นไม่เกิน 180 มิลลิเมตรปรอท แต่ก็ยังพบว่ามีบางคนไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งทางคณะทำงานด้านวิชาการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ให้ข้อมูลว่า ระดับความดันโลหิตไม่ได้มีผลต่อการฉีดวัคซีน และด้วยสถานการณ์ที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิดโดยเร็ว และมากที่สุด หากยังมีประเด็นดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงวัคซีนได้ จึงขอให้ยกเลิกการวัดความดันโลหิต หลังจากนี้ทางกรมการแพทย์จะมีการแจ้งไปยังศูนย์ฉีด หน่วยบริการ โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป
ส่วนผู้ป่วยโรคความดันโลหิต ขอย้ำว่า ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก็จะสามารถควบคุมความดันได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ประชุมได้มีการหารือถึงผลการฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ยังพบว่าฉีดได้น้อย ประมาณกว่า 30% ตั้งแต่มีการฉีดวัคซีน ทั้งที่มีนโยบายออกไปแล้ว ดังนั้น จำเป็นต้องกำชับ และให้ทางพื้นที่ดำเนินการตามกรอบเป้าหมายดังกล่าว เพราะ 2 กลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนก่อน เนื่องจากหากรับเชื้อจะมีอาการรุนแรง และเสียชีวิต ซึ่งจริงๆ ควรฉีดให้ได้มากกว่า 50%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สธ.หารือนำเข้า วัคซีน 120 ล้านโดสรองรับการกลายพันธุ์ปี 65
- สธ.สรุปจัดหา วัคซีน 100 ล้านโดสปี 64 แอสตร้าฯ 61 ซิโนแวค 19 ไฟเซอร์ 20 ล้าน
- ไทยคู่ฟ้า เผยผลทดสอบซิโนแวค 2 เข็มกับคนไทย ป้องกันสายพันธุ์อัลฟา 90% และเดลตา 75%