โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงวันนี้ ต้องยอมรับแบบตรงๆ คงไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิดรายใหม่ที่มีอัตราการเพิ่มสูงระดับวันละกว่าหมื่นคนเช่นนี้ได้ ย้ำไทยอาจจะแพ้ศึกและล้มลงได้ แต่บุคลากรทางการแพทย์จะยืนหยัดสู้รบเพื่อให้ประเทศไม่แพ้สงครามนี้
วานนี้ (20 ก.ค.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า "วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม วันที่หนึ่งร้อยหนึ่งของ รพ.สนามธรรมศาสตร์ และวันที่สี่สิบสามของศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์รังสิต เช้านี้ที่หน่วยตรวจโรคปลอดเชื้อ แถวรอการ Swab ยาวกว่าทุกวัน เข้าไปดูใกล้ๆ ถึงพบว่าเกือบทั้งหมดเป็นแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเอง และครึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น มาจากหอผู้ป่วยทางด้านอายุรกรรมซึ่งเป็นกลุ่มบุคลากรหลักที่เป็นกำลังสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดอยู่ในขณะนี้ของเรา
เมื่อวานนี้เราตรวจ Swab ไป 216 คน พบว่าเป็นผลบวก 33 ราย ที่ผลบวกน้อยกว่า 20% นี้ก็คงเป็นเพราะเป็นบุคลากรของ รพธ.เองเป็นหลักนี่แหละ แต่ในจำนวนนั้นก็มีบุคลากรของเราที่มีผลบวกเพิ่มอีก 3 ราย ทำให้จำนวนบุคลากรในโรงพยาบาลที่ติดเชื้อโควิดสะสม เพิ่มไปเป็น 75 คนแล้วนะ นี่ยังไม่นับจำนวนกักตัวที่เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ที่มีสะสมรวมกันไม่น้อยกว่าห้าร้อยรายด้วย และยังเหลือสักร้อยคนในขณะนี้ที่ต้องถูกกักตัวต่อไปจนครบอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ ที่ยังไม่มีโอกาสกลับมาทำงานเลยนะ
เมื่อวานมีผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตในโรงพยาบาลอีกหนึ่งคน ถ้าจะดูความรุนแรงของการระบาดและผลต่อผู้ป่วย ตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจจะบอกได้ส่วนหนึ่งเพราะก่อนหน้านี้เพียงเดือนเดียว เราแทบไม่มีผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลเลย หรือมีเพียงเดือนละ 3-4 คนเท่านั้น แต่ขณะนี้เรามีผู้เสียชีวิตแทบทุกวันจากเคสโควิด บางวันอาจมีหลายคนด้วยซ้ำ อันนี้ก็คงเป็นผลมาจากการที่เตียงผู้ป่วยวิกฤตของพวกเราเต็มทั้งหมดในจำนวนราว 50 เตียงที่มีอยู่ มาสามสี่วันแล้วนั่นเอง
ถึงวันนี้ คงต้องยอมรับกันตรงไปตรงมาในระดับประเทศได้แล้วว่า โรงพยาบาลทั้งหมดที่มีอยู่ของเรา ไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิดรายใหม่ที่มีอัตราการเพิ่มสูงระดับวันละกว่าหมื่นคนเช่นนี้ได้ และถ้ายังมีผู้ป่วยอาการไม่ดี สีเหลือง สีแดง เพิ่มเข้ามาที่โรงพยาบาลอีก (แต่เป็นเรื่องที่จะเกิดมากขึ้น เพราะผู้ป่วยสีเขียวต้องรอหลายวันจึงจะเข้ารับการดูแลใน รพ.ได้และจะมีอาการเลวร้ายลง ) แต่เมื่อ รพ.ไม่มีเตียง ไม่มีวอร์ดที่จะส่งผู้ป่วยเหล่านี้ขึ้นไปต่อได้ การนอนรอรับการรักษาอยู่ที่ห้องฉุกเฉินจึงเป็นทางเดียวที่ระบบโรงพยาบาลจะทำให้ได้ และถ้าจะเป็นเหตุให้มีโอกาสกระจายเชื้อไปยังผู้ป่วยอื่น หรือถ้าพื้นที่ในห้องฉุกเฉินเต็มแล้ว การวางเตียงผู้ป่วยไว้หน้าห้องฉุกเฉิน ข้างห้องฉุกเฉินหรือพื้นที่ใกล้เคียงเท่าที่มีอยู่และเท่าที่จะทำได้ ก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่พวกเราจะได้เห็นจากหลายโรงพยาบาล และจะชินตาไปเองในที่สุด โดยที่เราไม่ตระหนักว่า นั่นอาจจะเป็นผู้ป่วยโควิด เป็นผู้ป่วยทางเดินหายใจร้ายแรงที่สามารถแพร่เชื้อแก่ผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมาได้ เราเข้าใจความจำเป็นและเห็นใจสถานการณ์ของเพื่อนร่วมรบของเรา ที่จะต้องทำเช่นนั้น เพื่อช่วยดูแลชีวิตของผู้ป่วยให้ดีที่สุดที่จะทำได้ และเราก็ตระหนักดีว่า อีกไม่นาน สถานการณ์และความจำเป็นเช่นนั้นก็คงเกิดกับพวกเราด้วยเช่นกัน
ประเทศและระบบสาธารณสุขของเราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรนะ?⁉️
วันนี้เราฉีดวัคซีน Astra ที่ยิม 4 ให้กับผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนจองไว้ได้อีก 2082 คน อีกสองวันที่เหลือก่อนปิดศูนย์รับวัคซีน เราเชื่อว่าเราจะไปที่เป้าหมายสะสม 80,000 คนได้นะ
สำหรับที่โรงพยาบาลสนาม วันนี้แม้เราจะขอหยุดรับ refer ผู้ป่วยจากโรงพยาบาลภายนอกแล้ว แต่จำนวนผู้ป่วยใหม่ที่ส่งต่อมาจาก รพ.ธรรมศาสตร์ เองก็ยังสูง อยู่ที่ 29 ราย ขณะที่เราส่งผู้ป่วยที่หายแล้วกลับบ้านได้ 21 ราย จำนวนผู้ป่วยสุทธิที่อยู่กับเราคืนนี้จึงมี 407 คนไม่นับผู้ที่ต้องกักตัวเป็น PUI อีกเกือบสามสิบห้องของ รพ.สนาม
เรากลับมารับผิดชอบภารกิจหลัก คือรับผู้ป่วยอาการน้อยออกจาก รพ.ธรรมศาสตร์แล้ว เนื่องจากถ้าไม่มีเตียงที่นี่ ผู้ป่วยใหม่ที่ตรวจพบในรพธรรมศาสตร์วันละ 30-40 คนก็จะไปไหนไม่ได้เลยเนื่องจากทุกโรงพยาบาลเตียงเต็มหมดแล้ว การที่รพ.สนามเลือกผู้ป่วยโควิดที่อาการไม่หนักมากออกมาดูแล ก็เพื่อให้ รพ.หลักสามารถรับคนไข้หนักหรือคนที่มีอาการป่วยรุนแรงไว้ดูแลได้เต็มตามศักยภาพนั่นเอง เพราะที่ รพ.สนาม เราไม่สามารถทำเรื่องที่ต้องใช้แพทย์เฉพาะทางหรือต้องใช้อุปกรณ์ซับซ้อน เช่น การล้างไตให้ผู้ป่วยโควิด หรือการดูแลผู้ป่วยโควิดที่มีโรคหัวใจร่วมด้วยได้ แต่ว่าภายใต้สถานการณ์คับขันที่แทบจะส่งผู้ป่วยที่อาการหนักขึ้นกลับไปที่ รพ. หลักไม่ได้เลย เพราะไม่มีเตียงว่าง เช่นนี้ แพทย์และพยาบาลใน รพ.สนามก็จำต้องรับดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนักขึ้น ที่เพิ่มมาเป็นจำนวนหลายสิบคนแล้วในขณะนี้ด้วยเช่นกัน
เราได้แต่หวัง แต่ก็คงเป็นจริงได้ยาก ว่าเรายังคงจะพอมีเตียงหมุนผู้ป่วยออกจาก รพ. หลักได้อย่างนี้ไปอีกระยะหนึ่ง โดยไม่ถึงกับต้องไปตั้งวอร์ดฉุกเฉินแบบเปิดโล่งที่หน้า ER เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย อย่างที่เพื่อนเราในหลาย รพ.จำเป็นต้องตัดสินใจทำหรอกนะ แต่ตัวเลขผู้ป่วยใหม่เกินหมื่นคนมาห้าวันติดกันแล้วนี้ คงหลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้ได้ยากลำบากจริงๆ คงเหลือเพียงแต่ว่า เหตุการณ์อย่างนั้นจะเกิดที่ รพ. ของเราวันไหน ในไม่ช้านี้ เท่านั้นแหละ
จริงๆนะ ทำไมประเทศของเราถึงมาถึงจุดนี้ได้นะ
ดูสถานการณ์แล้ว อีกไม่นานวันนัก เราก็จะแพ้ศึกคราวนี้ แต่ว่าสงครามโควิดก็คงจะยังไม่จบ และโรคร้ายนี้ก็คงจะคุกคามพวกเราทั้งประเทศอย่างรุนแรงต่อไปอีกหลายเดือน ดังนั้น พวกเราที่นี่จึงกำลังไปจัดเตรียมแนวตั้งรับใหม่แล้ว ด้วยการเสริมสร้างป้อมปราการที่มีอยู่เดิมให้แข็งแรงขึ้น และเตรียมระบบการจัดการดูแลผู้ป่วยแบบที่ไม่ต้องใช้จำนวนเตียงที่มีจำกัดในโรงพยาบาลเป็นหลัก เราคิดว่าระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน หรือ Home Isolation อาจจะทำให้เรารบแบบยันสถานการณ์ไปได้อีกสักสองสามเดือน แม้จำนวนผู้ป่วยใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นห้า หรือสองหมื่นคนก็ตาม ถ้าระบบนี้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและน่าไว้วางใจ
เราเริ่มบริหารจัดการระบบ Home isolationนี้มามากกว่าสองสัปดาห์แล้วโดยมีผู้ป่วยที่เข้าโครงการในจำนวนเพียงน้อยกว่า 30 คนในสัปดาห์แรก โดยใช้ผู้ป่วยโควิดที่เป็นบุคลากรของเราเองเป็นกลุ่มเริ่มต้น เพื่อจะได้สื่อสารได้ตรง และเห็นปัญหาข้อจำกัดในการดำเนินโครงการ เราจัดระบบแพทย์พยาบาลผู้รับผิดชอบโครงการ พัฒนาและสร้างแพลตฟอร์มการดูแลผู้ป่วย จัดระบบการสื่อสารกับผู้ป่วยโดยตรงป่านแอปในมือถือ จัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตลอดทั้งยาที่ผู้ป่วยจะต้องใช้ที่บ้าน วางระบบและจัดตารางแพทย์พยาบาลที่จะต้องส่งต่อการดูแลผู้ป่วยให้ได้ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง
เกือบสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เราก้าวข้ามปัญหาหลักของการจัดการโครงการนี้ไปแล้วอย่างน้อยสามเรื่องใหญ่
- เรื่องแรกคือการจัดการกับกฎกติกาที่มีอยู่เดิม จนทำให้สามารถส่งยาต้านไวรัสฟาวิพิลาเวียร์ให้ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ว่าจะต้องใช้ยานี้ให้สามารถนำยาไปใช้นอกโรงพยาบาลได้
- เรื่องที่สอง การวางระบบโลจิสติกส์ที่ทำให้เราสามารถจัดหาและส่งอาหารถึงบ้านผู้ป่วยได้ทั้งสามมื้อ หรือส่งยาให้ด้วยหากมีความจำเป็นเช่นนั้น
- เรื่องที่สาม เราสามารถจัดให้มีทีมแพทย์และพยาบาลที่จะสามารถติดตามการรายงานอาการของผู้ป่วยได้ทุกวัน และสื่อสารกับผู้ป่วยได้ตลอดเวลาที่ผู้ป่วยมีปัญหา หรือต้องการปรึกษาแพทย์
อีกสองเรื่องที่เรากำลังจัดการอยู่ในขณะนี้ก็คือการวางระบบรับเข้าและการกำหนดหน้าที่ของโรงพยาบาลที่จะต้องรับผิดชอบนำผู้ป่วยกลับเข้าดูแลในรพ.เมื่ออาการเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองหรือสีแดง กับในเรื่องระบบการประมวลข้อมูล การจำแนกกลุ่มผู้ป่วย และการสื่อสารกับผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพสูงพอที่จะรองรับผู้ป่วยในระดับหนึ่งพันถึงสองพันคนและสามารถประมวลผลข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น สถิติ การเงินเวชระเบียนและการรวบรวมประวัติของผู้ป่วยเข้าสู่ฐานข้อมูลผู้ป่วยของโรงพยาบาลให้ได้ในคราวเดียวกันด้วย
ทั้งสองเรื่องที่เหลืออยู่นี้ เราทำอยู่ในสัปดาห์นี้และคิดว่าจะเสร็จสิ้นในวันสองวันนี้ แล้วหลังจากนี้เราคงขยายโครงการนี้ออกไปเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มทั้งประเทศมากกว่าวันละหมื่นคน และเพิ่มจำนวนผู้ป่วยในโครงการ “เตียงทิพย์” ของเราที่มีสะสมอยู่ราว 300 คนในขณะนี้ ให้กลายเป็น 500 และ 1,000 คนในสัปดาห์ต่อไปให้ได้
พร้อมกันนี้ในตัว รพ.ธรรมศาสตร์เอง เราคงต้องเร่งรีบปรับปรุงระบบการดูแลผู้ป่วยโควิดให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถช่วยดูแลผู้ป่วยเคสเหลืองหรือแดงที่อาจจะมีกลับเข้ามาจาก Home Isolationให้ได้มากขึ้น ภายใต้กรอบ 109 เตียงโควิดที่เรามีอยู่ และเราก็ได้เริ่มดำเนินการแล้วในขณะนี้ ตั้งแต่การสร้างห้อง Negative pressure ขนาดใหญ่เพื่อกลั่นกรองผู้ป่วยที่ ER การเพิ่มห้องคลอด negative รองรับผู้คลอดที่เป็นผู้ติดเชื้อหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อ และการทำห้อง Negative สำหรับ Palliative care อีกสามห้อง เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ซึ่งทั้งหมดจะดำเนินการเสร็จสิ้นในสัปดาห์หน้าโดยใช้งบประมาณของ รพ.เองเกือบสิบห้าล้านบาท ที่มาจากความสนับสนุนจากผู้คนที่ห่วงใยและคอยหนุนช่วยพวกเราอยู่
คงมีเรื่องอะไรให้ต้องเพิ่ม ต้องเติมลงไปอีกมากในยุทธศาสตร์ใหม่ในการสู้รบของเราในสงครามใหญ่คราวนี้
สัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้า พวกเราอาจจะแพ้ศึกและล้มลงได้ โดยที่ระบบโรงพยาบาลอาจจะไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิดรายใหม่เข้าดูแลรักษาได้อีกเลย แต่พวกเราตั้งใจ และตั้งปฏิญาณว่า พวกเราจะยืนหยัด จะรวบรวมพลกำลังมาตั้งรับในแนวรับใหม่อีกครั้ง เพื่อจะช่วยไม่ให้ประเทศและประชาชนของเราต้องแพ้สงครามนี้ อนาคตจะต้องมีประเทศไทย เราสัญญา"