กรณีภาคการ ส่งออก ของประเทศไทยเติบโตทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปี มีมูลค่า 23,699.43 ล้านเหรียญสหรัฐ เผยสินค้าเกษตรขยายตัว 59.8% สูงสุดรอบ 10 ปี ระบุผลไม้โต 185.10% เฉพาะทุเรียนเพิ่ม 172% มังคุด 488.26% สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมก็เพิ่ม 13.5% สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 44.7% ส่วนตลาดบวกหมด ทั้งหลักและรอง เล็งอัดอีกกว่า 130 กิจกรรมปั๊มส่งออกครึ่งปีหลัง ทำยอดขายล่วงหน้าแล้วกว่า 20,000 ล้าน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย.2564 มีมูลค่า 23,699.43 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 43.82% ทำนิวไฮใหม่สูงสุดในรอบ 11 ปี และคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 738,135.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.48% โดยสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวสูง เช่น ผลไม้ เพิ่ม 185.10% และในนี้เป็นทุเรียน เพิ่มขึ้นถึง 172% มังคุด 488.26% อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่ม 90.48% รถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เพิ่ม 78.5% เครื่องจักรกล เพิ่ม 73.13% และเคมีภัณฑ์ เพิ่ม 59.82% เป็นต้น
ส่วนสินค้าเกษตร มีอัตราการขยายตัวสูงถึง 59.8% สูงสุดในรอบ 10 ปี สามารถทำรายได้เข้าประเทศถึง 71,473.5 ล้านบาท เป็นการขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางพารา เพิ่มถึง 111.9% ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 110.2% โดยเฉพาะมันสำปะหลัง เพิ่มถึง 81.5% ขณะที่ตลาดสำคัญ ทั้งตลาดหลัก ตลาดรอง มีอัตราการขยายตัวทุกตลาด โดยตลาดหลัก เพิ่ม 41.2% ประกอบด้วยจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป CLMV อาเซียน เป็นต้น ตลาดรอง เพิ่ม 49.5% ทั้งเอเชียใต้ อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา และทวีปออสเตรเลีย เป็นต้น
ทั้งนี้ การนำเข้าในเดือนมิ.ย.2564 มีมูลค่า 22,754.37 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 53.75% ดุลการค้าเกินดุล 945.06 ล้านเหรียญสหรัฐ และภาพรวมการส่งออกครึ่งปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 132,334.65 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.53% การนำเข้ามูลค่า 129,895.50 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.15% ดุลการค้าเกินดุล 2,439.15 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายจุรินทร์กล่าวว่า แผนการทำงานในช่วงครึ่งปีหลัง กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับภาคเอกชนในนาม กรอ.พาณิชย์ และใช้ทีมเซลส์แมนจังหวัด เซลส์แมนประเทศ ร่วมกันทำงานขับเคลื่อนการส่งออก โดยมีกิจกรรมที่จะดำเนินการมากกว่า 130 กิจกรรม และในนี้ มีการทำยอดขายสั่งจองล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท และยังจะเร่งเปิดตลาดใหม่ให้เป็นรูปธรรม เช่น การผลักดันการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเข้าสู่ตลาดซาอุดิอาระเบีย การเจาะตลาดลาตินอเมริกา ที่แม้เส้นทางไกล เสียเปรียบคู่แข่ง แต่มีสินค้าที่มีโอกาสมาก เช่น อาหาร และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ป้อนความต้องการการซ่อมแซม
นอกจากนี้ จะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยภาคการผลิต เพื่อให้คงตัวเลขส่งออก เพราะขณะนี้ บางจังหวัดสั่งปิดโรงงานแบบเหมารวม จะต้องพิจารณากันให้รอบคอบ ส่วนไหนมีปัญหา ก็ปิด ส่วนไหนไม่มีปัญหา และไม่คิดว่าจะได้รับผลกระทบ ก็ควรให้เปิด หรือถ้ามีการปิดทั้งโรงงานแล้ว ส่วนไหนแก้ไขปัญหาจบ ก็ควรจะเปิดให้ดำเนินการผลิตต่อไป เพื่อไม่ให้การผลิตหยุดชะงักจนกระทบส่งออก ซึ่งจะเรียนคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า รวมทั้งต้องเร่งกระจายวัคซีนเข้าสู่ภาคการผลิต โดยเฉพาะโรงงานส่งออก ซึ่งได้เรียน ครม.ไปแล้ว และนายกรัฐมนตรีตอบรับให้จัดการแล้ว และปัญหาเรื่องแรงงาน ก็ได้แจ้ง ครม.แล้ว กระทรวงแรงงานจะเข้ามาดูแลและเร่งรัดการขึ้นทะเบียนแรงงานหมดอายุในจุดต่างๆ เพื่อให้มีความรวดเร็วต่อไป
นายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกรายสินค้า นอกจากสินค้าเกษตรที่ขยายตัวสูงถึง 59.8% สูงสุดในรอบ 10 ปี กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรก็ขยายตัว 13.5% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 27.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 22 เดือน น้ำตาลทราย เพิ่ม 18.8% กลับมาขยายตัวในรอบ 15 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 44.7% เช่น รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 78.5% ส่วนตลาดส่งออก 50 อันดับแรก ซึ่งมีสัดส่วน 97% ของการส่งออกรวม ขยายตัวได้ทุกตลาด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สุพัฒนพงษ์ เผยผลหารือเอกชน ยันไทยเดินหน้าเปิดประเทศใน 120 วัน
- ครม. อัดงบ 13,500 ล้านบาท เยียวยาแรงงาน - ผู้ประกอบการ 10 จังหวัด โอน 6 ส.ค.นี้
- ยิ่งใช้ยิ่งได้ กร่อย! ปรับวงเงินเป็น 10,000 บาทต่อวัน ขยายเวลาถึง 30 พ.ย.