รพ.รามาฯ - ธรรมศาสตร์ - ราชพิพัฒน์ วิกฤตเตียงเต็มคนป่วยล้น รักษากันข้างตึก หมอพ้อไม่มีทางชนะสงครามนี้ (คลิป)

26 ก.ค. 64

สืบเนื่องจากแฟนเพจของ รพ.ราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ กทม. ได้ออกมาโพสต์ภาพหดหู่ใจ เผยให้เห็นภาพผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษามีจำนวนมากจนล้นห้องฉุกเฉิน ลามไปถึงลานจอดรถของรพ.ราชพิพัฒน์ ขณะเดียวกันยังโพสต์ภาพผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน ที่นอนรายล้อมไปด้วยแพทย์ที่ใส่ชุด PPE เพื่อดูอาการอย่างใกล้ชิดอีกด้วย 

195289416171

ทั้งนี้ยังมีการบรรยายใต้ภาพว่า "หมอคะ...ทำไมไม่มีเตียง? หมอคะ...รับตรวจ แต่ทำไมไม่รับรักษา? ตัดภาพมาที่หมอ เราไม่อยากเป็นหมอแล้ว เราเลือกเป็นซูเปอร์ฮีโรเลยได้ไหม จะได้ช่วยคนไข้ได้ครั้งมาก ๆ ทำไงได้เคสล้นห้องฉุกเฉิน ลามไปลานจอดรถแล้ว ภาพจริง บรรยากาศจริง เราจะพยายามทำให้ดีที่สุด #นักรบจวนจะหมดแรง"

239632

ล่าสุดวันที่ 26 ก.ค.64 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี เดินทางไปยัง รพ.ราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ กทม. ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนพุทธมลฑลสาย 3 แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพฯ พบว่าบรรยากาศเป็นไปตามภาพที่ทางโรงพยาบาลได้ลงไว้ในแฟนเพจ โดยที่ทางตึกได้จัดโซนที่จอดรถ จัดตั้งเป็นที่พักคอยให้กับผู้ป่วยที่อาการยังสามารถพอช่วยตัวเองได้ หรืออยู่ในโซนสีเหลือง แต่ยังคงต้องใช้ออกซิเจน เพื่อรอการส่งต่อไปยังการรักษาภายในตึก ขณะที่ทางทีมข่าวได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ พบว่าโซนดังกล่าวมีอยู่ประมาณ 10 กว่าเตียง โดยมีอุปกรณ์ช่วยเหลือทุกอย่างเพียงพอ

ขณะที่ทางชาวบ้านในพื้นที่ ได้ให้ข้อมูลว่า สำหรับ รพ.ราชพิพัฒน์ ปกติจะเปิดรับเคสรักษาผู้ป่วยตามบัตรทอง หรือสวัสดิการบัตร 30 บาท ประชาชนค่อนข้างมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ยิ่งมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาเช่นนี้ ก็ทำให้มีคนแก่มาใช้บริการค่อนข้างมาก จึงไม่แปลกที่จะเห็นภาพดังกล่าว

319153

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผอ.สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กล่าวยอมรับว่า โพสต์ดังกล่าวไม่ได้มีอะไร ก็เป็นไปตามที่ทางโรงพยาบาลได้โพสต์ เป็นสภาพความเป็นจริง ว่าตอนนี้ทุกโรงพยาบาลล้วนมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการค่อนข้างเเน่น ไม่เว้นแต่ที่อื่น ๆ ด้วยความปราศนาดีของโรงพยาบาล ที่อยากจะรองรับเคสผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยการเพิ่มบริเวณลาดจอดรถ จัดเป็นจุดให้บริการกับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ประมาณ 10 กว่าเตียง

ทั้งนี้ ตนยอมรับว่าแม้บุคลากรทางการแพทย์จะค่อนข้างเหนื่อยล้า แต่โรงพยาบาลก็อยากเอาใจช่วยประชาชนทุกคนให้ดีที่สุด ขณะที่ตอนนี้ได้รับรายงานเบื้องต้นว่าโรงพยาบาลก็มีเตียงรองรับ 200 กว่าเตียง แบ่งเป็นเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 100 กว่าเตียง และเป็นเตียงผู้ป่วยธรรมดา อีกประมาณ 100 กว่าเตียง 

996828

ขณะที่รพ.รามาธิบดี ก็กำลังประสบสภาวะนี้เช่นกัน โดยบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.รามาธิบดี ซึ่งเป็นคนโพสต์ภาพดังกล่าว ให้ข้อมูลว่า ในภาพเหตุเกิดวันที่ 25 ก.ค.64 ตั้งแต่เวลา 15.00-23.00 น. ตอนนั้นมีเคสโควิด-19 เข้ามาเพิ่มตลอด จนมีผู้ป่วยโควิด-19 สะสมค้างที่ห้องฉุกเฉิน (ER) ไม่ได้รับการแอดมิด ประมาณ 30 คน 

665179

ขณะที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก รพ.สนามธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความว่า “วันอาทิตย์ที่ 25 ก.ค.64 วันที่ 106 ของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ วันที่มีผู้ป่วยโควิดรายใหม่สูงสุด ทำลายสถิติของประเทศที่ 15,335 คน

วันนี้มีบุคลากรในโรงพยาบาลมีผลตรวจเชื้อเป็นบวกอีก 3 ราย ในนี้เป็นพยาบาลอีก 1 คน จำนวนคนที่มา Swab ทั้งหมดเมื่อวานมีรวมทั้งสิ้น 191 คน มีผลเป็นบวกที่เราต้องรับเข้ามาดูแลรักษาอีก 48 คน และมีผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตในโรงพยาบาลเพิ่มอีก 1 คน

ที่ รพ.สนามวันนี้ เรารับผู้ป่วยเข้ามาเพิ่มอีก 26 คน และส่งผู้ป่วยที่หายแล้วกลับบ้านได้รวม 27 คน ผลรวมของวันนี้อยู่ที่ 390 คน ในจำนวนเกือบ 400 คนนี้ มีผู้ป่วยเด็กอายุน้อยอยู่มากถึง 51 คน เกือบทั้งหมดติดเชื้อจากผู้ปกครองและมารักษาอยู่ร่วมห้องพักกับพ่อแม่ วันนี้เป็นคิวเอกซเรย์ปอดของผู้ป่วยเด็ก ห้องเอกซเรย์ที่ รพ.สนามจึงกลายเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นไปโดยปริยาย น่าจะไปช่วยหยอกล้อเล่นสนุกกับเด็กเหล่านี้ได้ ถ้าไม่นึกถึงว่าทุกคนที่เข้าไป จะต้องใส่ชุดPPE หลายชั้น ใส่หน้ากาก N95 ครอบด้วยเฟซชิลด์และหมวกคลุมศีรษะ และ Leg cover เหมือนกับเจ้าหน้าที่เอกซเรย์ของเราด้วย

440829

Home Isolation ของเรายังทำงานได้ดีแม้ในวันหยุดยาว เพราะเชื้อไวรัสไม่ยอมหยุดทำงานด้วย มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบ คนในวันนี้ ตัวเลขเพิ่มอาจจะอยู่เพียงวันละ 30-40 คนในช่วงนี้ แต่สัปดาห์หน้าเมื่อตัวเลขผู้ป่วยใหม่ไปอยู่ที่หมื่นห้าอย่างที่เป็นอยู่วันนี้แล้ว เราคงหนีไม่พ้นที่จะต้องรับผู้ป่วยเข้าระบบอีกไม่น้อยกว่าร้อยคนต่อวันแน่ วันหยุดยาว 2-3 วันนี้ยังคงเป็นการซ้อมใหญ่ของระบบเตียงทิพย์อยู่เลย

พวกเราคงจะเผชิญกับวิกฤตของจำนวนผู้ป่วยจริง ๆ ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปแน่นอนละ เอาเถอะ เรารู้อยู่แต่ต้นแล้วว่าเรากำลังจะเจอกับอะไร ขอให้พวกเราสามารถประคองสถานการณ์ไปให้ได้สักหนึ่งหรือสองอาทิตย์โดยระบบไม่ล่มสลายไปทันที ท่ามกลางคลื่นผู้ป่วยที่กำลังจะถาโถมเข้ามา เท่านี้ เราก็จะถือว่าความพยายามช่วยชาติของพวกเราในเรื่องนี้ไม่สูญเปล่าแล้ว”

552514

ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผอ.รพ.สนามธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันใน รพ.สนามธรรมศาสตร์ มีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด 400 เตียง ส่วนใน รพ.ธรรมศาสตร์ จะมีเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 100 เตียง ส่วนจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ใน รพ.สนามธรรมศาสตร์ ปัจจุบันมีทั้งหมด 50-60 คน เป็นพยาบาล 25-30 คน ทีมแพทย์ 25-30 คน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าพยาบาล 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ถึง 15-20 รายต่อวัน และใน รพ.ธรรมศาสตร์ มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด-19 อยู่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งตลอด 1 ปีกว่าที่เปิด รพ.สนามธรรมศาสตร์ บุคลากรทางการแพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั้ง 2 แห่งให้หายได้ประมาณ 5,000 กว่าราย และทุกรายจะได้รับการรักษาฟรี

790358

ในขณะเดียวกัน รพ.สนามธรรมศาสตร์ ยังเป็นอีกจุดหนึ่งที่เอาไว้สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฟรี ซึ่งจริง ๆ แล้วด้วยศักยภาพของสถานที่และบุคลากร สามารถรองรับการฉีดได้ถึงวันละ 4,000 คน แต่ด้วยจำนวนวัคซีนที่ทางภาครัฐและ สธ. มีให้ไม่เพียงพอ จึงทำให้ฉีดได้แค่วันละไม่ถึง 2,000 คน ฉีดวันสุดท้ายเมื่อ 24 ก.ค.64 ที่ผ่านมา ในขณะที่ในระบบลงทะเบียน มีผู้รอคิวอยู่สูงถึง 90,000 คน ซึ่งในวันที่ 10 ส.ค.64 ก็จะมีวัคซีนเข้ามาแต่ไม่รู้ว่าเท่าไร และตนไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะมีมาอีกเมื่อไร ดังนั้นภายใต้สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทำให้ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว อาจจะเกินศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ได้

นอกจากนี้ รพ.ธรรมศาสตร์ พบว่าปัจจุบันมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วยสะสมสูงถึง 80-100 คน และต้องกักตัวเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงอีกประมาณ 500 กว่าคน ทั้งแพทย์และพยาบาล เพราะคนไข้ที่เข้ามารักษาหลายรายไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ระหว่างการตรวจ ไม่ว่าจะเป็นการซักประวัติ ห้องฉุกเฉินที่ตอนนี้เต็มไปด้วยคนไข้ หรือห้องคลอดที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 มาคลอดลูกวันละ 2-3 ราย ดังนั้นกระบวนการดูแลรักษาเหล่านี้ ถือเป็นภาวะเสี่ยงในการรับเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งสิ้น

682746

ผศ.นพ.ฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า กรณีแอดมินเพจรพ.สนามธรรมศาสตร์ ออกมาโพสต์ข้อความแล้วบอกว่าหมดหวังที่จะชนะโควิด-19 เพราะบุคลากรทางการแพทย์รู้ดีว่าหน้าที่ของตัวเองคือการรักษาผู้ป่วยให้หาย ให้ความช่วยเหลือคนไข้ให้ดีที่สุด เพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ แต่ในทางกลับกันปัจจุบันจำนวนของผู้ป่วยมากกว่าศักยภาพของโรงพยาบาลที่จะรับมือได้ พูดกันง่าย ๆ คือตลอด 2-3 วันที่ผ่านมา ต้องปฏิเสธการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยโควิด-19 สีเหลืองทุกราย เพราะต่อให้ถามไปก็ไม่มีเตียงรองรับจริง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางทีมแพทย์ก็รู้ดีว่ามันคือการกระทำที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ แน่นอนว่าทำให้เกิดความไม่สบายใจต่อบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นแล้ว หัวใจที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาโควิด-19 ได้ ตนยืนยันว่าคือ “วัคซีน” เท่านั้น ไม่ใช่การล็อกดาวน์ เพราะปัจจุบันเชื้อไม่ได้อยู่แค่ในพื้นที่สาธารณะ หรือภายนอก แต่มันอยู่ในบ้านของคนแล้ว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ทุบโต๊ะข่าว เป็นกระแส