สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา ร่วมกับมูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา หรือ ฮุก 31 โคราช ดัดแปลงรถตู้กู้ภัย ขนาด 9 ที่นั่งโดยสาร ให้เป็นรถตู้ความดันลบ สำหรับใช้รับส่งผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่มีอาการเพียงเล็กน้อย กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีนโยบายรับผู้ป่วยโควิดจากจังหวัดพื้นที่เสี่ยง กลับไปรักษาตัวในจังหวัดภูมิลำเนา เพื่อแบ่งเบาภาระการดูแลรักษาผู้ป่วยของบุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดพื้นที่เสี่ยง ทางสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จึงได้นำผลงานวิจัยสร้างห้องความดันลบ มาดัดแปลงรถตู้กู้ภัย ให้กลายเป็นรถตู้แรงดันลบ สำหรับรับส่งผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นรถตู้ต้นแบบที่สามารถป้องกันผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรับส่งผู้ป่วยได้ 100% ทำให้เจ้าหน้าที่มีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้น
นายเด่นชาย บำรุงเกาะ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบเชิงกล และสาธารณูปโภค สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า รถตู้โดยสารความดันลบนี้ ได้ประยุกต์มาจากการพัฒนาห้องแยกโรคความดันลบสำหรับโรงพยาบาลสนาม โดยดัดแปลงรถตู้โดยสารของมูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา ออกแบบให้มีการปิดกั้น แยกห้องระหว่างคนขับและห้องผู้โดยสาร เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส และภายในห้องผู้โดยสารได้ติดตั้งระบบดูดอากาศ ผ่านแผ่นกรอง HEPA filter (เฮป้า ฟิลเตอร์) ที่ใต้เบาะผู้โดยสารด้านหลัง เพื่อให้มีความดันต่ำกว่าความดันบรรยากาศและป้องกันเชื้อไวรัสกระจายสู่ภายนอก ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 1 สัปดาห์ งบประมาณตั้งแต่ 30,000-50,000 บาท แล้วแต่จะเพิ่มออพชั่นภายในรถมากขึ้นแต่ไหน
นายพิสิษฐ์ พงษ์ศิริศุภกุล เลขาธิการมูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา กล่าวว่า รถตู้โดยสารความดันลบคันนี้ เป็นรถต้นแบบคันแรก ซึ่งระหว่างปฏิบัติงาน ผู้โดยสารภายในรถ สามารถเปิดระบบเครื่องปรับอากาศเพิ่มความเย็นสบายได้ตลอดระยะเวลาการเดินทาง และจากเดิมสามารถลำเลียงผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ได้เพียงเที่ยวละ 4 คน แต่รถตู้โดยสารความดันลบ สามารถลำเลียงผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้ เป็นเที่ยวละ 9 คน ทำให้รับส่งผู้ป่วยได้จำนวนเพิ่มมากขึ้น และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภายในรถ มีความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ทางหากมูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา กำลังดำเนินการดัดแปลงรถตู้โดยสารของทางมูลนิธิฯ ที่มีอยู่ทั้งหมด 10 คัน ให้เป็นรถตู้โดยสารความดันลบทั้งหมด ภายในปี 2564