ผมขอแสดงความกังวลต่อการตั้งสมมุติฐานที่เอาแต่โทษประชาชนเช่นนี้ เนื่องจากจะทำให้รัฐบาลยิ่งหลงไปกับภาพมายา มองไม่เห็นผิดพลาดของตนเอง และเป็นการโยนบาปให้กับประชาชนที่ยากลำบากกันมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี หากรัฐบาลใช้ข้อมูลประกอบในการบริหารจัดการ ไม่ยากเลยที่จะเห็นได้ว่าความล้มเหลวของการล็อกดาวน์เกิดขึ้นจากรัฐบาล ไม่ใช่ประชาชน
ในรายงานการศึกษา "โควิด-19 การล็อกดาวน์ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน" โดย Think Forward Center - ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ได้มีการวิเคราะห์ระดับการเคลื่อนที่ของประชากรจาก Google Mobility Trend และ Facebook Movement Range Map ซึ่งในรายงานพบว่าการเคลื่อนไหวของประชากรลดลงมากทุกครั้งที่มีการระบาด ถึงแม้จะยังไม่มีการประกาศมาตรการจากรัฐออกมาก็ตาม
ไม่ว่าจะเป็นในช่วงการระบาดระลอกที่ 2 ในช่วงเดือน ม.ค. 64 ถึงแม้ว่าการระบาดจะจำกัดอยู่ในพื้นที่สมุทรสาครเป็นหลัก และไม่ได้มีมาตรการจำกัดการเดินทางอย่างเข้มงวด การเคลื่อนที่ของประชากรไทยก็ลดลงประมาณ 20%
ส่วนในการระบาดระลอก 3 และ 4 นั้น ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีมาตรการใดๆ ออกมา และในช่วงสงกรานต์ ที่รัฐบาลก็ยังไม่ได้มีการประกาศห้ามเดินทาง แต่ระดับการเคลื่อนที่ของประชากรเริ่มลดลงตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนแล้ว นี่แสดงให้เห็นว่า ประชาชนได้ลดการเคลื่อนที่อยู่แล้วเมื่อมีการระบาดไม่ว่าจะมีมาตรการของรัฐหรือไม่ก็ตาม ซึ่งผมเชื่อว่าประชาชนทุกคนพยายาม “ตั้งการ์ด” เพื่อป้องกันตนเองและบุคคลอันเป็นที่รักกันเท่าที่พอจะทำได้แล้ว
การที่ Mobility index ในการระบาดระลอก 3 และ 4 ลดลงต่ำพอๆ กับช่วงการระบาดของโควิดระลอกแรก ซึ่งมีการระบาดไม่แพร่หลาย เราจึงไม่สามารถสรุปได้ว่ามาตรการล็อกดาวน์ไม่ได้ผล เพราะประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ
ผมขอย้ำว่ามาตรการล็อกดาวน์ของรัฐที่ประสบความสำเร็จ จะต้องควบคู่ไปกับการเยียวยาที่เหมาะสม ถ้าผู้ออกแบบมาตรการรัฐไม่มีโอกาสได้อ่านผลการศึกษาของ Think Forward Center ผมขอให้ท่านตระหนักถึงคำๆ หนึ่งคำก่อนคิดออกมาตรการอะไร ก็คือคำว่า “supply chain” หรือ “ห่วงโซ่อุปทาน”
การที่ท่านออกมาตรการใดๆ ออกมา ผลกระทบไม่ใช่ตกอยู่แค่กับผู้ที่ถูกสั่งปิด แต่ส่งผลถึงภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องด้วย ยกตัวอย่างเช่น มาตรการปิดร้านอาหารในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ผ่านมา ทาง Think Forward Center ได้ประเมินไว้ว่าความเสียหายคือ 11,300 ล้านบาท แต่จะกระทบกับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องประมาณ 20,100 ล้านบาท
ในช่วงเดือน ก.ค. เริ่มมีคำสั่งปิดพื้นที่ค้าส่ง เช่น ตลาดไท สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันโดยอาจเกี่ยวเนื่องกันคืออุตสาหกรรมขนส่งและโกดังสินค้าให้ต้องปิดตัวลงไปด้วย แล้วผลก็ส่งต่อไปยังภาคเกษตรที่ไม่มีช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งในประเทศและส่งออก มีส่วนเกี่ยวเนื่องให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลงอย่างมากจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เช่น ข้าวเจ้าและข้าวหอมมะลิ -7% มะพร้าวแห้งผลใหญ่ -19% ทุเรียนหมอนทอง -37% และมังคุด -84%
ในตอนนี้ภาคส่วนที่พยุงเศรษฐกิจไทยคือ ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก แต่จากการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์โรงงานจำนวนมากที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ผมเรียกร้องให้รัฐบาลติดตามเร่งตรวจเชิงรุกและควบคุมการระบาดในภาคอุตสาหกรรมเพื่อไม่ให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตสะดุดลงไปอีก ซึ่งจะเป็นการดับเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวสุดท้ายของประเทศไทย
ถ้าท่านบริหารงานบนพื้นฐานข้อมูล เราคงไม่เห็นการโทษประชาชนว่าทำให้การล็อกดาวน์ไม่ได้ผล ตอนนี้ประชาชนเสียสละมามากพอแล้วครับ ประชาชนทนเสียสละมาเป็นปีที่สอง แต่มาตรการเยียวยากลับออกมาล่าช้า วัวหายล้อมคอก ไม่ได้มีการคิดไปข้างหน้าอย่างเพียงพอ เพราะความไร้วิสัยทัศน์และประสิทธิภาพของผู้นำและความล่าช้าของระบบราชการเอง
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเยียวยาที่รัฐบาลสัญญาไว้จะต้องถึงมือประชาชนโดยไว ควบคู่กับการตรวจเชิงรุกให้มากที่สุด จัดหาวัคซีน mRNA มาให้มากพอและเร็วพอ เพื่อจบวิกฤตครั้งนี้เสียที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ลุงตู่ลั่นกลางสภา ไม่มีปัญหานักศึกษา “พิธา” จวกเลิกวาทกรรมมีคนหนุนม็อบ (คลิป)
- แรมโบ้ ออกโรงป้องสนธิญา ซัด พิธา หนุนคนใช้คำหยาบคาย ยุสังคมแตกแยกหวังล้มรัฐบาล
- "พิธา" แฉ "ประยุทธ์" ใช้งบครบ 20 ล้านล้านแต่ศก.ไม่กระเตื้อง ซัดรบ.จัดงบฯ 64 เหมือนไม่มีวิกฤต
Advertisement