17 ส.ค. 64 สรุปสถานการณ์ "ตาลีบัน" ยึดกรุงคาบูล เมื่อวันที่ 15 ส.ค. มูฮัมหมัด นาอีม โฆษกสำนักงานทางการเมืองของกลุ่มตาลีบันในกรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ กล่าวย้ำว่าไม่มีอันตรายใดต่อสถานเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนทางการทูต และชาวต่างชาติในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน พร้อมให้คำมั่นว่ากลุ่มตาลีบันจะรักษาความสงบปลอดภัยทั่วประเทศ
เมื่อเย็นวันอาทิตย์ (15 ส.ค.) นาอีมโพสต์ทวิตเตอร์ว่า “เราขอรับรองต่อสถานเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนทางการทูต สถาบันต่างๆ และชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในกรุงคาบูลว่าจะไม่มีอันตรายใดเกิดขึ้นกับพวกเขา” พร้อมกล่าวย้ำว่าภารกิจของกลุ่มตาลีบันคือการรักษาความปลอดภัยในกรุงคาบูลและเมืองอื่นๆ ของประเทศ
สื่อท้องถิ่นรายงานว่าเมื่อวันอาทิตย์ (15 ส.ค.) กลุ่มตาลีบันประกาศการเข้าควบคุมทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงคาบูล และจะประกาศการจัดตั้ง “อิสลามิคเอมิเรตส์ แห่งอัฟกานิสถาน” (Islamic Emirate of Afghanistan) โดยเร็ว
ด้านอับดุลลาห์ อับดุลลาห์ ประธานสภาสูงเพื่อการปรองดองแห่งชาติอัฟกานิสถาน ระบุในคลิปวิดีโอซึ่งโพสต์บนเฟซบุ๊กว่าโมฮัมหมัด อัชราฟ กานี ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน ได้เดินทางออกจากประเทศแล้วเมื่อคืนวันอาทิตย์ (15 ส.ค.) ด้วยเครื่องบิน ซึ่งมีรายงานว่าเขาขนเงินและทองไปด้วยจำนวนมาก จนต้องทิ้งบางส่วนไว้ที่สนามบิน เพราะไม่สามารถนำไปได้หมด
หลายประเทศในยุโรปตัดสินใจอพยพนักการทูตและพลเมืองออกจากอัฟกานิสถาน รวมถึงปิดทำการสถานเอกอัครราชทูตหลังจากสมาชิกกลุ่มตาลีบันเข้าควบคุมพื้นที่ในกรุงคาบูล กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศของฝรั่งเศส ประกาศย้ายการปฏิบัติงานในสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงคาบูลไปยังสนามบินกรุงคาบูลเพื่อช่วยเรื่องการอพยพชาวฝรั่งเศสออกจากอัฟกานิสถาน โดยกระทรวงกองทัพของฝรั่งเศสจะส่งกำลังเสริมทางทหารและอากาศยานไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี (UAE) ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าเพื่อเริ่มดำเนินการอพยพชาวฝรั่งเศสครั้งแรก สู่กรุงอาบูดาบีของยูเออี
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเที่ยงวันอาทิตย์ เดวิด มาร์ตินง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำอัฟกานิสถาน โพสต์คลิปวิดีโอตนเองขณะโดยสารเฮลิคอปเตอร์เพื่ออพยพออกจากอดีตกรีนโซนในอัฟกานิสถาน ลงบนทวิตเตอร์ “เรื่องสำคัญสูงสุดอันดับแรกและเร่งด่วนในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าคือความปลอดภัยของชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการแจ้งเตือนให้เดินทางออกจากอัฟกานิสถาน รวมไปถึงบุคลากรทั้งชาวฝรั่งเศสและชาวอัฟกานิสถาน” แถลงการณ์จากทำเนียบประธานาธิบดีระบุ
ไฮโก มาส รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเยอรมนี ระบุว่าได้เริ่มกระบวนการอพยพชาวเยอรมนีออกจากรุงคาบูลแล้วเมื่อวันอาทิตย์ โดยชาวเยอรมนีบางส่วนได้เดินทางออกจากอัฟกานิสถานแล้ว และมีการส่งเครื่องบินทหารลงจอดในกรุงคาบูลในช่วงดึกวันอาทิตย์เพื่อช่วยอพยพ
ส่วนสหราชอาณาจักรส่งกำลังทหาร 600 นายไปยังอัฟกานิสถานเพื่อช่วยอพยพพลเมืองของตนและล่ามท้องถิ่น โดยบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กล่าวว่าการตัดสินใจถอนกองกำลังของสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น และไม่มีฝ่ายใดต้องการให้อัฟกานิสถานกลายเป็นพื้นที่บ่มเพาะการก่อการร้าย
สถานการณ์ในอัฟกานิสถานเลวร้ายลงนับตั้งแต่มีการเร่งรัดถอนกองกำลังซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 พ.ค. โดยโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งกองทัพสหรัฐฯ ยุติภารกิจทางทหารในอัฟกานิสถานภายในสิ้นเดือนสิงหาคม รัฐสภาสหราชอาณาจักรจะเปิดสมัยการประชุมอีกครั้งในวันพุธ (18 ส.ค.) เพื่ออภิปรายการดำเนินงานของรัฐบาลต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอัฟกานิสถาน
ขณะที่แอนน์ ลินด์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสวีเดน ประกาศว่าสวีเดนจะปิดสถานเอกอัครราชทูตในกรุงคาบูลภายในวันจันทร์ (16 ส.ค.) และเริ่มอพยพบุคลากรสถานทูตและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่โดยทันที พร้อมกล่าวว่าสถานการณ์ขณะนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนหลายฝ่ายไม่อาจคาดเดาได้ โดยเมื่อวันศุกร์ (13 ส.ค.)
เปกกา ฮาวิสโต รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของฟินแลนด์ กล่าวว่าฟินแลนด์ปิดสถานเอกอัครราชทูตในกรุงคาบูลชั่วคราวและไม่เปิดให้บริการตั้งแต่วันจันทร์ (16 ส.ค.) เป็นต้นไป โดยนักการทูตของฟินแลนด์กำลังรอเที่ยวบินเพื่อเดินทางออกนอกอัฟกานิสถานและปลอดภัยดี
อนึ่ง กองกำลังตาลีบันยืนยันว่าจะไม่มีอันตรายใดต่อคณะนักการทูตและชาวต่างชาติในกรุงคาบูล โดยซาบิลลาห์ มูจาฮิด โฆษกของกองกำลังตาลีบัน กล่าวว่าตาลีบันมุ่งมั่นรักษาความปลอดภัยในกรุงคาบูล
เริ่มมีภาพและคลิปประชาชนชาวอัฟกานิสถานที่ไม่อยากอยู่ภายใต้การปกครองของ ตาลีบัน พากันอพยพขอลี้ภัยไปต่างประเทศ ทางบกมีการเดินทางไปที่ชายแดน โดยเฉพาะชายแดนที่ติดกับปากีสถาน ส่วนทางอากาศ กรุงคาบูล การจราจรติดขัดอย่างหนัก เนื่องจากชาวคาบูลส่วนใหญ่ต้องการที่จะหนีออกจากประเทศ จึงมุ่งหน้าไปที่สนามบิน หลายคนยอมลงจากรถ และเดินเท้าเข้าไปที่สนามบินฮามิดการ์ไซในกรุงคาบูล ทำให้สถานบินแอดอัดยัดเยียดไปด้วยฝูงชน รวมถึงเต็มไปด้วยความวุ่นวาย หลายคนวิ่งไปขวางรันเวย์ ยอมเสี่ยงตาย เพื่อให้ตัวเองและครอบครัวได้ติดเครื่องบินไปด้วย
ในตัวเมืองคาบูล คืนวันอาทิตย์ (15 ส.ค.) ยังคงมีเสียงปืนดังขึ้นประปรายทั่วเมือง และกลุ่มติดอาวุธจำนวนมากปรากฏตัวบนท้องถนน สร้างความหวาดวิตกแก่ประชาชน ทั้งยังมีโจรกลายกลุ่มที่ออกมาขโมยทรัพย์สินและยานพาหนะในพื้นที่ทางตะวันตกของกรุงคาบูล อย่างไรก็ตาม กลุ่มตาลีบันประกาศว่าสามารถควบคุมตัวโจรบางกลุ่มได้แล้ว
16 สิงหาคม พ.ศ. 2564
สงครามยุติ แต่กรุงคาบูลและประเทศอัฟกานิสถาน เต็มไปด้วยความโกลาหล
ต่อมา เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2564 โฆษกกลุ่มตาลีบันได้ประกาศว่า สงครามยุติแล้ว หลังยึดทำเนียบประธานาธิบดี ทำให้ตอนนี้กลุ่มตาลีบันสามารถยึดอำนาจในอัฟกานิสถานได้อีกครั้ง หลัง 20 ปีที่แล้วถูกโค่นล้มโดยกองกำลังนานาชาติที่นำโดยสหรัฐอเมริกา
"เราขอรับประกันความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในกรุงคาบูล ขอยืนยันว่าชีวิตและทรัพย์สินของพวกท่านจะปลอดภัยอย่างแน่นอน" โฆษกของตาลีบันกล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลตาลีบัน ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศ อัฟกานิสถาน เป็น อิสลามิคเอมิเรตส์ โดยมีจีนเป็นประเทศแรกที่ให้การรับรอง และ วางตัวนาย Maulana Abdul Ghani เป็นประธานาธิบดีของรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน
องค์การการบินพลเรือนของอัฟกานิสถานกล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า เที่ยวบินพาณิชย์ทั้งหมดจากท่าอากาศยานในกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศ ได้ถูกยกเลิกแล้ว “เที่ยวบินทั้งหมดที่ออกเดินทางจากท่าอากาศคาบูลได้ถูกยกเลิกชั่วคราวและผู้โดยสารไม่ควรเดินทางมาที่ท่าอากาศยานจนกว่าจะได้รับการแจ้งข้อมูล” แถลงการณ์ระบุ
การยกเลิกเที่ยวบินนี้มีขึ้นหลังกลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองคาบูลเมื่อวันอาทิตย์ (15 ส.ค.) และการอพยพขนานใหญ่ท่ามกลางความหวาดกลัวของชาวอัฟกัน แถลงการณ์รายงานว่า องค์การฯ แสดงความหวังสำว่าจะสามารถฟื้นคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมชี้ว่าการที่ผู้โดยสารเร่งรีบเดินทางไปยังท่าอากาศยานท่ามกลางสถานการณ์ที่วุ่นวายอาจนำไปสู่การปล้นสะดมและสถานการณ์ที่สับสนอื่นๆ ได้ โดยองค์การฯ กำลังพยายามกลับมาดำเนินการเที่ยวบินอีกครั้งให้เร็วที่สุด
ขณะเดียวกัน แถลงการณ์จากกลุ่มตาลีบันระบุว่า ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในคาบูลอยู่ในความปลอดภัย และพวกเขาสามารถทำงานต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในหลายเมืองที่ตาลีบันเข้ายึดครองเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เริ่มมีการห้ามผู้หญิงออกจากบ้านโดยไม่มีญาติผู้ชายไปด้วย และเริ่มมีการให้ผู้หญิงออกจากตำแหน่งงานต่าง ๆ แล้ว ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า รัฐบาลตาลีบันจะนำกฏหมายชะลีอะห์ ที่เป็นกฏหมายอิสลามสุดโต่งมาใช้ ส่วนนานาชาติต่างพากันห่วงใยสิทธิสตรีในอัฟกานิสถานที่อาจถูกจำกัดและละเมิดมากมาย ทั้งกฏห้ามเรียน ทำงาน หรือ แม้แต่ออกนอกบ้าน
ที่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงคาบูล มีการเชิญธงชาติสหรัฐฯ ลงจากเสา และมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ในสถานทูตทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายไปรอการอพยพที่สนามบินแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าสหรัฐฯ ได้ปิดสถานทูตของตนในอัฟกานิสถานลงเป็นที่เรียบร้อย โดยทางการสหรัฐฯ สั่งเพิ่มกำลังทหารที่ช่วยเหลือในภารกิจอพยพครั้งนี้เป็นเกือบ 6,000 นาย
ท่าอากาศยานฮามิดการ์ไซในกรุงคาบูลปิดทำการเมื่อวันจันทร์ (16 ส.ค.) เนื่องจากฝูงชนหลายพันคนไปรวมตัวเนืองแน่นบริเวณทางวิ่งขึ้นลงเครื่องบิน นำไปสู่ความโกลาหลและการเสียชีวิต จนปรากฏภาพชาวอัฟกันหลายคนปีนขึ้นไปบนเครื่องบินระหว่างรอที่สนามบินในกรุงคาบูล นอกจากนั้นมีรายงานว่าทหารสหรัฐฯ สังหารชายชาวอัฟกันติดอาวุธ 2 รายในสนามบินด้วย
รายงานอ้างพล.ต.แฮงค์ เทย์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญโลจิสติกส์ของคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ สังกัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่าสนามบินกลับมาเปิดทำการอีกครั้งเมื่อเวลา 19:35 น. ของวันจันทร์ (16 ส.ค.) ตามเวลามาตรฐานสากล โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้กำกับดูแลการจราจรทางอากาศสำหรับเที่ยวบินทางทหารและเที่ยวบินพาณิชย์
เทย์เลอร์กล่าวว่าขณะนี้ทหารสหรัฐฯ ราว 2,500 นายประจำอยู่ในกรุงคาบูลเพื่อช่วยเหลือการอพยพบุคลากรสหรัฐฯ และชาวอัฟกันที่ทำงานให้พวกเขา พร้อมคาดการณ์ว่าจะมีทหารเดินทางไปสนับสนุนภารกิจดังกล่าวเพิ่มเติม เมื่อวันจันทร์ (16 ส.ค.) แถลงการณ์จากองค์การการบินพลเรือนของอัฟกานิสถานประกาศปิดทำการสนามบิน โดยระบุว่าทางองค์การฯ กำลังพยายามกลับมาให้บริการเที่ยวบินโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกันแถลงการณ์จากกลุ่มตาลีบันเมื่อวันจันทร์ (16 ส.ค.) ระบุว่าชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในคาบูลอยู่ในความปลอดภัย และพวกเขาสามารถทำงานต่อไปได้เช่นเดิม
สถานการณ์ที่ท่าอากาศยานของกรุงคาบูลยังไม่ปลอดภัย แม้ปัจจุบันจะอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังสหรัฐฯ โดยเมื่อคืนวันอาทิตย์ถึงเช้าวันจันทร์ (15-16 ส.ค.) ประชาชนหลายพันคนได้แห่ขึ้นเครื่องบินเพื่อออกจากประเทศแห่งนี้ โดยไม่มีเอกสารรับรองการเดินทาง
แม้ช่วงเช้าวันจันทร์ (16 ส.ค.) สถานทูตสหรัฐฯ ได้ประกาศเตือนชาวอเมริกันและชาวอัฟกันไม่ให้เข้ามายังสนามบิน เนื่องด้วยสถานการณ์ความปลอดภัยที่ย่ำแย่ลงในพื้นที่ดังกล่าว ทว่ามีการเผยแพร่คลิปที่แสดงให้เห็นว่าฝูงชนจำนวนมากพยายามปีนขึ้นเครื่องบินเพื่อออกจากประเทศอย่างอลหม่าน
และมีรายงานว่า กลุ่มตาลีบันได้ปล่อยตัวนักโทษจำนวนมากออกจากคุกหลายเมืองทั่วประเทศ เพื่อหวังที่จะให้เป็นแนวร่วมในการก่อตั้งรัฐอิสลามอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน กองกำลังของรัฐบาลอัฟกานิสถานได้เดินทางกลับบ้าน โดยทิ้งอาวุธและยานพาหนะของพวกเขาไว้บนท้องถนนและศูนย์บัญชาการต่างๆ และยังมีการปล้นยานพาหนะทหารโดยคนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 15-16 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายงานว่าทหารอัฟกันบางส่วนถึงกับยอมวางอาวุธและเข้าสวามิภักดิ์กับตาลีบันด้วย
17 สิงหาคม พ.ศ. 2564
กลุ่มตาลีบัน ควบคุมเมืองหลวงอัฟกานิสถาน
กลุ่มนักรบตาลีบันปรากฏตัวอยู่ตามถนนสายต่างๆ ของกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน โดยบางส่วนยืนประจำการพร้อมอาวุธปืน และบางส่วนลาดตระเวนด้วยยานพาหนะทางการทหาร ซึ่งอาวุธและอุปกรณ์หลายอย่างยึดมาจากทหารสหรัฐฯและยุโรปที่ทิ้งเอาไว้
ทหารฝรั่งเศส ต้องยืนถืออาวุธเฝ้าในขณะที่ชาวฝรั่งเศสและเพื่อนร่วมงานชาวอัฟกันรอขึ้นเครื่องบินขนส่งที่สนามบินในกรุงคาบูล เพื่ออพยพออกจากอัฟกานิสถานหลังจากการยึดครองของกลุ่มตาลีบัน ซึ่งน่าจะเป็นเที่ยวบินอพยพเที่ยวท้ายๆของชาติตะวันตก
สุดสลด! ชาวอัฟกันเกาะล้อเครื่องบิน ร่วงกลางอากาศดับ 2 ราย เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าสลดใจ สำหรับกรณีประชาชนตกจากเครื่องบินที่กำลังทะยานบินเหนือท่าอากาศยานคาบูลของอัฟกานิสถาน จำนวน 2 ราย (บางสื่อรายงานว่า 3 ราย)
ผู้เห็นเหตุการณ์ในย่านไคร์ คาเนห์ ใกล้ท่าอากาศยานฯ เล่าว่าพบร่างไร้ลมหายใจทั้งสองบนหลังคาบ้านเรือนท้องถิ่น โดยพวกเขาแอบซ่อนตัวในล้อของเครื่องบินและพลัดตกลงมา นอกจากนี้ ยังไม่รายงานว่ามีการขนศพผู้เสียชีวิตออกจากสนามบิน 5 ศพ แต่ไม่มีการแจ้งถึงสาเหตุของการเสียชีวิต
ประชาชนหลายคนเริ่มเปลี่ยนจากการเดินทางไปสนามบิน เปลี่ยนเป็นไปรวมตัวอยู่หน้าสถานทูตของชาติตะวันตกประเทศต่างๆ เพื่อหวังว่าพวกเขาจะได้รับโอกาสให้ติดสอยห้อยตามออกจากอัฟกานิสถานไป ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ยอม
ในส่วนของ ฮามิด คาร์ไซ อดีตประธานาธิบดีของอัฟกานิสถานได้ประกาศก่อตั้งสภาประสานงาน เพื่อดำเนินการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ และเพื่อรับรองความปลอดภัย กฎหมาย และความเป็นระเบียบ ตลอดจนยุติความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. โดย อับดุลลาห์ อับดุลลาห์ ประธานสภาสูงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ, ฮามิด คาร์ไซ และ กุลบุดดิน เฮกมาตยาร์ (Gulbuddin Hekmatyar) หัวหน้าพรรคเฮซบี อิสลามมี (Hezb-i islami) ล้วนเป็นสมาชิกของสมาชิกของสภาประสานงานดังกล่าว
อนึ่งสถานการณ์ในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานยังคงเปราะบาง หลังจากที่ อัชราฟ กานี ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน เดินทางออกจากประเทศ และกลุ่มตาลีบันเข้ายึดกรุงคาบูล โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มตาลีบันยังมีกำลังไม่เพียงพอที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยในคาบูล
ภาพจาก AFP และ Xinhuanews
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ตาลีบัน ประกาศ สงครามอัฟกานิสถานยุติ หลังยึดกรุงคาบูล ปธน.-จนท. สหรัฐฯหนีออกนอกประเทศ
- ช็อก! หนี ตาลีบัน คลิปชาวอัฟกานิสถานเกาะล้อเครื่องบินร่วงกลางอากาศดับ
- โจ ไบเดน ประกาศถอนทหารจากอัฟกานิสถาน หยุดสงคราม 20 ปี