องค์การเภสัชกรรม เดินหน้าซื้อ ชุดตรวจโควิด ATK 8.5 ล้านชุด หลัง อย. การันตีคุณภาพ

17 ส.ค. 64

องค์การเภสัชกรรม เดินหน้าลงนามสัญญาซื้อ ATK 8.5 ล้านชุดต่อไป หลังได้รับการยืนยันคุณภาพตามมาตรฐาน อย. และตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อแล้ว

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (วันที่ 16 สิงหาคม 2564) คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมได้ให้องค์การฯดำเนินการในขั้นตอนการลงนามสัญญาและส่งมอบ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ต่อไป โดยจากการตรวจสอบในรายละเอียดแล้วเห็นว่าผลิตภัณฑ์ของ บริษัทออสแลนด์ แคปปิตอล จำกัด โดยผู้แทนจำหน่ายคือบริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) ที่ชนะการเสนอราคา มีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดและได้มีหนังสือยืนยันคุณภาพอีกครั้งมาแล้ว ประกอบกับเห็นว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างขององค์การฯเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส สอดคล้องตามกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ และเป็นไปตามข้อกำหนดของ สปสช.และโรงพยาบาลราชวิถี

องค์การเภสัชกรรม เดินหน้าซื้อ ชุดตรวจโควิด ATK 8.5 ล้านชุด หลัง อย. การันตีคุณภาพ
 
ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อไปว่า ในประเด็นคุณภาพนั้น นอกจาก ATK จะได้การรับรองคุณภาพมาตรฐานจาก อย.แล้ว ในส่วนขององค์การฯยังมีกระบวนการประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผู้ผลิตอื่น โดยเมื่อมีการส่งมอบผลิตภัณฑ์ ATK ให้องค์การฯในแต่ละครั้งก่อนการจัดส่งให้หน่วยบริการนั้น องค์การฯ จะมีคณะกรรมการตรวจรับสินค้าตามTOR ตรวจประเมินใบตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ (COA) หรือเอกสารรับรองผลิตภัณฑ์ว่ามีคุณภาพเป็นไปตาม TOR ของผู้สั่งซื้อ จากนั้นจะทำการสุ่มตัวอย่างไปตรวจทดสอบคุณภาพที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐาน โดยจะตรวจวิเคราะห์ในหัวข้อ ความไวเชิงวินิจฉัย (Diagnostic sensitivity) ความจำเพาะเชิงวินิจฉัย (Diagnostic specificity) ความไม่จำเพาะต่อเชื้อ (Non-Specificity) ตามเกณฑ์การทดสอบที่อย.กำหนด และเมื่อได้รับผลทดสอบมาแล้ว องค์การฯ จะประเมินผลเทียบกับ TOR อีกครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกันองค์การฯจะทำการสุ่มตัวอย่าง เพื่อเก็บเป็นตัวอย่างอ้างอิงในการตรวจวิเคราะห์หากพบปัญหาในการใช้งาน ( Retained Sample) ควบคู่กันไปด้วย
องค์การเภสัชกรรม เดินหน้าซื้อ ชุดตรวจโควิด ATK 8.5 ล้านชุด หลัง อย. การันตีคุณภาพ

ในกรณีมีข้อร้องเรียนจากผู้บริโภค ทางบริษัทผู้จำหน่ายจะต้องสืบหาสาเหตุ และแนวทางการป้องกัน แจ้งมายังองค์การฯ เพื่อประเมินและติดตามผลการแก้ไขป้องกันปัญหาดังกล่าวต่อไป ในกรณีที่มีปัญหาคุณภาพจนต้องมีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ (Recall) บริษัทผู้จำหน่ายต้องเรียกเก็บผลิตภัณฑ์คืน พร้อมชดใช้และแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภค และทำรายงานผลการเรียกเก็บผลิตภัณฑ์คืน ส่งให้องค์การฯ ทำการประเมินประสิทธิผลของการเรียกคืนทุกครั้ง
 


 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ