อภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยเน้นอภิปรายความผิดพลาดในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจและการทุจริตคอรัปชั่น ในข้อหาพฤติการณ์ประกอบด้วย โอหังคลั่งอำนาจ-ไร้ภูมิปัญญา-ความสามารถ-เสเพล-บิดเบือน ดังนี้
1.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โอหังคลั่งอำนาจ ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นบุคคลที่ไร้ภูมิปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ไร้คุณธรรมจริยธรรมและไร้ความสามารถที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ผู้นำประเทศ ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดความล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องเสียหายอย่างร้ายแรงทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในภาวะปกติและในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองต้องประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันกว่า 19 เดือนเศษ
2.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไร้ภูมิปัญญา-ความสามารถ โศกนาฏกรรมของสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขาดซึ่งองค์ความรู้ ไร้ซึ่งภูมิปัญญาและความสามารถในการกำกับดูแลงานด้านสาธารณสุขของประเทศ มีพฤติกรรมคุยโม้โอ้อวด ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ฉ้อฉล หลอกลวงประชาชน ส่งผลให้การบริหารงานของกระทรวงสาธารณสุขล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ดังเช่นโรคโควิดที่เป็นวิกฤตของชาติอยู่ในปัจจุบัน
3.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประพฤติตัวเสเพลไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง มุ่งแต่แสวงหาและกอบโกยผลประโยชน์จากโครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานที่อยู่ในกำกับดูแล รู้เห็นและปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในการประมูลโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต เข้าบุกรุกครอบครองที่ดินของรัฐเพื่อนำมาเป็นของตนและเครือญาติโดยการ ฉ้อฉล ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง ประพฤติตัวเสเพลไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมโรค เข้าไปในแหล่งอบายมุขจนเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของโรคโควิดไปทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน ขาดจิตสำนึกรับผิดชอบ มุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ของตน
4.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าไปมีส่วนได้เสียในการเรียกรับผลประโยชน์จากโครงการของหน่วยงานที่ตนกำกับดูแล ไร้ภูมิปัญญา-ความสามารถ ในการบริหารงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้การบริหารงานด้านการเกษตรล้มเหลวทั้งระบบ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต
5.นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อัตราการว่างงานที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ไร้ภูมิปัญญา-ความสามารถที่จะบริหารราชการของกระทรวงแรงงาน ทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบทั้งระบบ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ส่อว่าจงใจและมีผลประโยชน์ทับซ้อน ปล่อยปละละเลยให้แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายปะปนอยู่ในระบบแรงงาน และเกิดการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานผิดกฎหมายดังกล่าว จนเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของโรคโควิดกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ
6.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บิดเบือนข้อเท็จจริงและสร้างความแตกแยกในสังคม มีพฤติการณ์จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ใช้ตำแหน่งหน้าที่และสื่อของรัฐเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงและสร้างความแตกแยกในสังคม ทำลายบรรทัดฐานอันดีของสังคม มุ่งประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
ทั้งนี้ การอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 นำโดย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมอีก 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคเพื่อชาติ, พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคไทยศรีวิไลย์ ในนาม มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์
อย่างไรก็ตาม นาย ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กระบวนการหลังจากนี้ คือ จะรับญัตติไปตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งเนื้อหาต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภา โดยจะต้องตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน โดยจะแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และหารือช่วงเวลาการอภิปรายต่อไป
อนึ่ง วันนี้มีการประชุมสภา สำหรับอภิปรายงบฯ ปี 65 ในส่วนของกรอบเวลาในการพิจารณาเบื้องต้นจะเริ่มประชุมในวันพุธที่ 18 ส.ค. โดยนัดประชุมตั้งแต่เวลา 9.30 น. ไปจนถึงเวลา 19.30 น. ขณะที่ในวันพฤหัสบดีที่ 19 ส.ค. จะเริ่มประชุมเวลา 9.00 น. จนถึงเวลา 19.30 น. ส่วนในวันสุดท้าย คือวันศุกร์ที่ 20 ส.ค. จะเริ่มเวลา 9.00 น. และเสร็จสิ้นในเวลาใกล้เคียงกับ 2 วันแรก ซึ่งทางวิป 2 ฝ่ายจะมีการหารือกันอีกครั้ง เนื่องจากต้องรอดูสถานการณ์ก่อน
ด้าน นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการเชิญตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้านและตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล เข้าหารือเพื่อจัดสรรกรอบเวลาในการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วาระ 2 และวาระ 3 โดยจะมีการพิจารณาในวันที่ 18 - 20 ส.ค.นี้
ขณะที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ตลอดทั้ง 3 วันที่ประชุมวิปของทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องในการวางกรอบเวลา โดยจัดสรรเวลาให้ฝ่ายรัฐบาล 3 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 20 ชั่วโมง ประธานสภาผู้แทนราษฎร 3 ชั่วโมง และให้เวลากรรมาธิการวิสามัญฯ ในการชี้แจงและตอบข้อซักถามอีก 3 ชั่วโมง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทักษิณ งง? ไฟเซอร์ ต่างชาติใช้ฉีด แต่ไทยมีไว้อม
- ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ เชื่อพุ่งเป้าปมจัดการโควิด เล็งใช้โอกาสนี้ชี้แจง ปชช.
- ม็อบทะลุฟ้าบุกปา "สีชมพู" เต็มรั้วสตช. คฝ.ล็อก 7 โจ๋ บุกยึดคืนราชประสงค์ (คลิป)